อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เมื่อถึงเดือนเมษายน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ชื่อที่ไม่คล้ายเพลงไทยลูกทุ่งของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ไม่เพียงจะร้อนจ้าด้วยแดด

ทว่าสังคมไทยยังร้อนระอุด้วยโรคระบาด “โควิด”

เพราะย่างเข้าเดือนที่ 5 แล้วยังไม่มีทีท่าว่าโรคระบาดจะเจือจางลงไปจากบ้านของเราเลย

 

เมื่อเริ่มต้น

ผมไม่อาจย้อนสรุปง่ายๆ ถึงโรคระบาดโควิดได้ เพราะโควิดได้เปลี่ยนเราและโลกทั้งโลกทุกวินาทีตั้งแต่เริ่มต้นและจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ผมจึงทำได้แค่ย้อนไปอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับที่อ้างถึงโควิด เท่าที่พวกเขารู้ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่โรคอุบัติใหม่นี้อุบัติขึ้น หนังสือพิมพ์ที่น่าอ่านคือ The Economist

เล่มนั้นจั่วหัวว่า Going global1 แล้วกล่าวย่อๆ ว่า

“…ระบบสาธารณสุข ความสัตย์จริงมีค่ามากกว่าความคาดหวัง กลายเป็นความชัดเจนแล้วในสัปดาห์ก่อนว่า เชื้อโรคไวรัสใหม่ COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นที่จีนตอนเดือนธันวาคม จะแพร่กระจายออกไปทั่วโลก หลายๆ รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณว่าพวกเขาจะหยุดยั้งเชื้อโรค แทนที่พวกเขาจะต้องเริ่มต้นตระเตรียมประชาชนต่อต้านด้านมืดของมนุษย์…”

ในช่วงเวลานั้น มี 2 เรื่องสำคัญที่ทั่วโลกได้ทำกัน

เรื่องที่ 1 มีการตระเตรียมระบบสาธารณสุขเพื่ออะไรก็ตามที่มาถึง ในการตระเตรียมที่เป็นระบบแห่งเหตุผลนั้น โรงพยาบาลต่างๆ ต้องการการจ่ายแจกหน้ากากอนามัย ถุงมือ เครื่องให้ออกซิเจนและยา พวกเขาควรเก็บรักษาเครื่องเวชภัณฑ์เหล่านี้แล้ว

พวกเขาจะประสบการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจ

พวกเขาต้องการระบบที่ตระเตรียม หอนอนและพื้นที่เพื่อผู้ป่วยโควิด 19

และทำอย่างไรหากว่าเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เจ็บป่วย และจะทำอย่างไรเพื่อเลือกระหว่างคนไข้ต่างๆ หากว่ามีคนไข้ล้นโรงพยาบาล

จนเดี๋ยวนี้ การทำงานลักษณะนี้ควรได้ทำแล้ว

คำถามคือ จนเดี๋ยวนี้ การทำงานดังว่า ได้ทำแล้วหรือยัง ทั่วทุกหนแห่ง ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง

เรื่องที่ 2 ในช่วงเวลานั้นหรือเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายกาจนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ไวรัสร้ายกาจนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของระบอบอำนาจนิยมจีน (เขาใช้คำว่า China”s authoritarianism)

เจ้าไวรัสร้ายกาจนี้จะทดสอบระบบการเมืองทุกระบบทุกประเภท อีกทั้งเจ้าไวรัสร้ายจะไปยุ่งเกี่ยวกับทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา

ส่วนจีนได้ทำการตระเตรียมช่วงเวลาการปกครองเพื่อเตรียมต่อสู้กับโรคระบาดแล้ว ประเทศทั้งหลายควรใช้สิ่งนี้

 

5 เดือนต่อมา

ผมขออนุญาตไม่พูดถึงประเด็นนโยบายสาธารณสุขและการตระเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อต่อสู้กับไวรัสร้ายกาจนี้

เหตุเพราะว่า เมื่อเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโดยที่ข้อกังวลต่างๆ นานาที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเล่มที่ว่าถ่ายทอดมานั้น ไม่เพียงแม่นยำอย่างเหลือเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ทางด้านนโยบายสาธารณสุขและเครื่องมือทางด้านการแพทย์นั้น เละไม่เป็นท่า เละทั่วโลก

แม้แต่สหรัฐอเมริกาชาติที่ร่ำรวยที่สุดในโลกก็ยังขาดเครื่องช่วยหายใจ ยังขาดหน้ากากอนามัย ยังขาดเครื่องมือแพทย์ แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านอนามัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาทำงานต่อเนื่องมานานกว่า 5 เดือนจนกระทั่งอ่อนล้าเต็มที

ทว่าชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยังไม่มีทีท่าประการใดเลยที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

ไม่เพียงแต่คนอเมริกันจำนวนมากยังคง “อิน” กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น คนอเมริกันจำนวนมาก “อิน” ไป เชื่อไป อย่างลมๆ แล้งๆ ว่า การเลือกตั้งแบบอเมริกันอันจะได้ประธานาธิบดีคนเดิมเข้ามาใหม่หรือคนใหม่ก็ตามย่อมช่วยแก้ปัญหาและจัดการกับไวรัสตัวร้ายนี้ได้

คนอเมริกันเชื่อโดยมิได้ย้อนกลับไปดูว่า ไวรัสตัวร้ายได้สร้างวีรกรรมทางการเมืองเปิดโปงความล้มเหลวและด้อยประสิทธิภาพของทั้งระบบรัฐสภาอเมริกันที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 ศตวรรษว่า ระบบการเมืองที่น่าภูมิใจของชาวแยงกี้พ่ายแพ้อย่างราบคาบกับไวรัสที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้แล้ว

เพียงดูมหานครนิวยอร์ก เมืองร้างว่างเปล่าอย่างที่ไม่มีวันจะเกิดขึ้นแม้เกิดการโจมตีด้วยอาวุธมหาประลัยอย่างในภาพยนตร์แนวฮอลลีวู้ด

ลัทธิเอาอย่าง เช่น เห็นรัฐบาลเยอรมนีปรับแต่งเครื่องบินแอร์บัสให้เป็นห้องไอซียูเพื่อบินไปช่วยเหลือคนอิตาเลียนมารักษาตัวยังเยอรมนีซึ่งเป็นภาพอันน่าสรรเสริญสมดังชาติมหาอำนาจ แต่ท่านประธานาธิบดีคนเก่งของชาวแยงกี้ก็เพียงแสร้งว่าจะปรับเปลี่ยนเรือยักษ์มาช่วยรับคนนิวยอร์กแล้ว แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ไปไหนสักที

ผมขอพัก เมื่อเข้าเดือนเมษายนไว้แค่นี้ก่อน ขออนุญาตกล่าวถึงภาพที่ใหญ่กว่านี้ กล่าวคือ

 

สงครามเย็นแมนทาลิตี้

แม้จะชื่นชอบบทความในหนังสือพิมพ์ที่ผมอ้างถึงขนาดไหน ผมก็อดตั้งข้อสงสัยมิได้เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบบการปกครองอำนาจนิยมจีน ที่อ้างถึงแม้ว่าเป็นการอ้างอิงในเชิงความนิยมชมชอบการจัดการที่รวมศูนย์ แต่ได้ผลในการต่อกรกับโรคระบาดในจีนก็ตาม

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แนววิเคราะห์ดังกล่าวยังยึดโยงกับ กรอบคิดสงครามเย็น อยู่มากทีเดียว ในความคิดของผม การชี้ให้เห็นทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอของการปกครองในระบอบอำนาจนิยม

จีนยังยึดโยงฐานรากแห่งความคิดและอุดมการณ์การเมืองระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยและโลกคอมมิวนิสต์อยู่

การแบ่งขั้วสองค่ายการเมืองการปกครองเป็นโลกสองขั้วอำนาจ เดี๋ยวจีนทะยานขึ้น เดี๋ยวอเมริกันครองอำนาจนำด้วยยุทธศาสตร์อเมริกันเฟิร์สต์

น่าจะนำเราๆ ท่านๆ หลงอยู่ใน “กับดัก” ความคิดที่ไร้เหตุผลและไม่สะท้อนถ่ายโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

 

โลกเปลี่ยนไปแล้ว

เท่าที่ผมจับประเด็นได้ตอนนี้มี 3 ประเด็นสำคัญคือ

จีนทะยานขึ้น

ระบบเศรษฐกิจใหม่

ชีวิตคนเปลี่ยนไปแล้ว

ทั้งสามประเด็นยังคงใช้กรอบคิดสงครามเย็นเป็นหลัก กล่าวโดยย่อ หากยังวิเคราะห์ จีนทะยานขึ้นหรือถอยลงด้วยเหตุของโควิด-19 น่าจะเข้าท่ากว่าการยึดโยงการแข่งขันเชิงอำนาจการเมืองโลก เศรษฐกิจ การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งคือกรอบคิดสงครามเย็น ผมมองกลับคิดว่า โลกยุคโคโรไนเซชั่น (Coronization) ทำลายการแข่งขันเชิงอำนาจไม่ว่าใครก็ตามแล้ว โลกยุคต่อไป พลังการผลิต (production power) สินค้าและบริการจะไปสู่การผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงพลเมืองของตนให้พอเพียงเป็นปีๆ ไปเท่านั้น

ผมไม่ใช่นักพยากรณ์ทุกชนิดและไม่มีตัวเลขอะไรมากมาย ยิ่งพลเมืองมากเท่าใด ปัญหาการขาดแคลนอาหารพื้นฐานก็จะมีมากเท่านั้น “ความอดอยาก” รอทุกคนอยู่ข้างหน้า

เราไม่ควรลืมหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (Non-performing loan-NPL) ที่แสนประหลาดแต่ฉุดรั้งภาคการผลิตของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ

เช่น คนตกงานที่ขอความช่วยเหลือในสหรัฐอเมริกา 3 ล้านคน คนตกงานและเอสเอ็มอีในจีนที่รัฐบาลจีนต้องอุ้มเอาไว้ รัฐบาลจีนจะเอางบประมาณมากขนาดไหนมาอุ้มคนเหล่านี้ อุ้มคนเหล่านี้ได้นานแค่ไหน เราไม่ควรลืมจำนวนคนไทยที่ขอเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลจำนวนที่แจ้งไว้ 20 ล้านคน

แปลกนะครับ เรามี “คนตกงานฉับพลัน” เพราะโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลกหรือเปล่า ไม่ว่าตัวเลขคนตกงานฉับพลันจะเป็นเท่าไร รัฐบาลไทยบ่มิไก๊ชุดไหนๆ ของไทยสามารถ อุ้ม พวกเขาได้หรือครับ

แค่นี้ก็ไม่ต้องพูดว่า นี่คือศตวรรษจีนหรือสหรัฐแบบสงครามเย็นแล้วครับ

 

จบ

ระบบเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นของโลกวันนี้เป็นอย่างไรครับ ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ถามว่า การสร้างความต้องการภายในประเทศหรือ Domestic demand ทำได้ง่ายๆ หรือครับ ถามระบบเศรษฐกิจไทยก็พอ เศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามีโครงสร้างอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กว่า 3 ทศวรรษ

ใครสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ได้หรือครับ

เรามีปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แรงงาน และอื่นๆ เพื่อภาคเกษตรกรรมที่เลี้ยงตัวเราเองได้นานแค่ไหนครับ

ไม่ต้องพูดถึงความเป็นเมืองหรือ urbanization นะครับ

สังคมชนบทสูญหายไปเกือบหมดแล้วครับ

สูญหายด้วยตัวของเราๆ ท่านๆ เองครับ

จบ

ชีวิตผู้คนภายใต้ “ดิจิตอลไลเซชั่น” (Digitalization) เปลี่ยนครับ

คนจนถาวร ได้มาเยือนคนเกือบทั้งประเทศไทยแล้วครับ ความสัมพันธ์ทางการผลิต (production relation) เปลี่ยนไปแล้ว โดยที่เทคโนโลยีอันทันสมัยไม่ฟังก์ชั่น หรือฟังก์ชั่นแบบกะปริดกะปรอยครับ

จบ จบแล้วครับ

————————————————————————————————–
1 “Going global : The virus is coming.” The Economist February 29th 2020. : 7.