สุจิตต์ วงษ์เทศ / หน้ากากนาฏกรรม ปิดหน้าโขนเล่นรามเกียรติ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ

หน้ากากนาฏกรรม

ปิดหน้าโขนเล่นรามเกียรติ์

โขนเป็นนาฏกรรมสวมหน้ากาก หรือ mask play เมื่อคนเล่นโขนต้องสวมหน้ากาก ที่ต่อมาเรียกหน้าโขน แล้วพัฒนาเป็นหัวโขน ปัจจุบันเรียกศีรษะโขน

หน้ากาก เป็นเครื่องสวมเพื่อพรางหน้าจริงในพิธีเข้าทรง เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติตามหน้ากากนั้น มีในกลุ่มชนดั้งเดิมทุกเผ่าพันธุ์ในโลก รวมทั้งในภูมิภาคอุษาคเนย์

หน้ากากเก่าสุดพบในไทย มีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นภาพเขียนสีบนเพิงผาในถ้ำเขาสามร้อยยอด (อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) และที่ผาแต้ม (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) ฯลฯ

คนสวมหน้ากากต้องเป็นเพศหญิงคนสำคัญของเผ่าพันธุ์ เช่น หมอมดหมอขวัญ, หัวหน้าเผ่าพันธุ์ เพื่อติดต่อเชื่อมโยงผีขวัญบรรพชนที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติให้กำจัดเหตุร้ายต่างๆ และบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

มีการละเล่นสวมหน้ากากผีบรรพชน สืบเนื่องจากยุคดึกดำบรรพ์ เช่น ปู่เยอย่าเยอ (ในลาว), ผีตาโขน (ในไทย) ฯลฯ

หน้าพราน หรือหน้ากากพรานบุญ ในโนราชาตรี เป็นหน้ากากสืบเนื่องจากประเพณีดึกดําบรรพ์ 2,500 ปีมาแล้ว

หัวโขน (ใส่แทนหน้ากากที่มีมาแต่ดั้งเดิม) น่าจะมีขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวแผ่นดิน ร.1-3 โดยเฉพาะช่วง ร.2 มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการช่างและการละเล่นหลายอย่าง

ต้นแบบหัวโขน มาจากไหน? ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่น่าเชื่อว่าจะมาจากหัวหุ่น (บางทีเรียกหน้าหุ่น) ที่ ร.2 ทรงแกะไม้รักหน้าสวมชฎาด้วยฝีพระหัตถ์ เป็น พระยารักใหญ่ กับ พระยารักน้อย ซึ่ง “งามไม่มีหน้าพระอื่นเสมอสอง” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศ ทูลถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดํารง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2458 ใน สาส์นสมเด็จ เล่ม 1)

หัวหุ่นหลวงรูปพระรามและพระลักษมณ์ เชื่อกันว่า ร.2 ทรงแกะจากไม้รัก เรียกว่า “พระยารักใหญ่” และ “พระยารักน้อย” ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพโดย นายยุทธนา วรากร แสงอร่าม)

 

พระราม-พระลักษมณ์ สวมหัวโขนตามแบบโบราณ (ภาพจากหนังสือ โขน อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2552)

 

หน้ากากและผีขวัญบรรพชนมีหน้ากากคลุมหัว ราว 2,500 ปีมาแล้ว ภาพเขียนสีบนเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ภาพคัดลอกจากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาสามร้อยยอด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 95-120)
คนใส่หน้ากากรูปสามเหลี่ยมคลุมหัว ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี)
การละเล่นศักดิ์สิทธิ์ต้องใส่หน้ากากและใส่มือปลอมทําด้วยไม้ มีนิ้วและเล็บยาวกว่าปกติขยับได้ ในพิธีศพชาวบาตัก แถบที่ราบสูงบนเกาะสุมาตราเหนือของอินโดนีเซีย ราว พ.ศ.2473 (ภาพจาก Achim Sibeth. The Batak : peoples of the Island of Sumatra. London : Thames and Hudson, 1991.)
เล็บปลอมยาวทําด้วยโลหะสวมนิ้วเต็มสองมือของผู้เล่นใส่หน้ากากในระบําโตแปง (Topeng) บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย (ภาพจาก Gordon D. Jensen, Luh Ketut Suryani. The Balinese people : a reinvestigation of character. Kuala Lumpur : Oxford University Press, 1992.)
รายละเอียดมีในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? สั่งซื้อที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516