เสียงสะท้อนจาก “ด่านโควิด” ตำรวจวางปืนมาจับเชื้อโรค รัฐไม่พร้อม “มดงาน” เสี่ยงไวรัส

หลังรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ 26 มีนาคม-30 เมษายน พร้อมแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.)

โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ กำกับดูแล สำหรับภารกิจของ ตร.ทั่วประเทศ ในการตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา

การตั้งด่านสกัดโควิด-19 เป็นการบูรณาการร่วมกันของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย อาทิ เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข เทศกิจ หน่วยงานราชการส่วนจังหวัดและท้องถิ่นทุกระดับ

ข้อมูลจากศูนย์ ศปม.ตร.พบว่า ด่านสกัดโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมีทั้งสิ้น 409 ด่าน ใช้กำลังตำรวจทำหน้าที่ประจำด่านกว่า 7,400 นาย มีการปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสม

ภารกิจหลักๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ การคัดกรองรถที่มีทะเบียนต่างถิ่น โดยแต่ละวันคัดกรองรถได้กว่า 1-2 แสนคัน และคัดกรองคนเฉลี่ยวันละ 2-3 แสนคน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนหน้าที่การวัดไข้เป็นของหน่วยงานสาธารณสุข ที่ต้องส่งบุคลากรมาเข้าเวรเช่นกัน

เมื่อเป็นการทำงานกับคนหมู่มากและต่างหน่วยงานกัน ปัญหาการตั้งด่านอย่างหนึ่งที่พบคือความไม่พร้อมเพรียงด้านบุคลากร

ที่ผ่านมาการจะเริ่มตั้งด่านแต่ละครั้งต้องรอให้ทุกหน่วยมาครบ จึงจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้

ปัญหาที่พบคือ ทำให้ไม่สามารถคัดกรองรถได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนของตำรวจหลายนายที่ตั้งด่านคัดกรองโควิด-19 ว่า มีความกังวลเรื่องความเสี่ยงการติดเชื้อโรค เพราะไม่มีความรู้แบบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ไม่เพียงพอ แม้ว่าหน้าที่ในด่านคือคัดกรองรถทะเบียนต่างจังหวัด ส่วนหน้าที่อื่นเป็นของหน่วยร่วมปฏิบัติอื่น ปัญหาบางครั้งหน่วยอื่นมาไม่ครบ อย่างเช่น สาธารณสุข ทำให้บางครั้งเจอคนที่วัดไข้เกิน 37.5 องศา แต่ตำรวจไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าใครมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ

หลายด่านไม่มีสาธารณสุขผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆ มาร่วม การตั้งด่านช่วงแรกเครื่องมือป้องกันอย่างหน้ากากอนามัยต้องหามาเอง ช่วงหลังมีผู้บังคับบัญชานำมาแจก ก็ดีขึ้นบ้าง

รวมถึงกังวลว่าหากติดเชื้อโรคจากด่าน พอกลับไปที่บ้านอาจจะนำไปติดครอบครัวได้ บางคนที่บ้านมีลูกเล็ก มีคนสูงอายุ ซึ่งตอนนี้ก็ทำงานกันแบบกังวลพอสมควร

นอกจากเรื่องเชื้อโรคแล้ว ด่านบางจุดมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีรถไซเรนมาเปิดสัญญาณเตือน ทำให้มีเหตุการณ์รถบรรทุกชนกรวยล้มระเนระนาด เกิดความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเกิดอุบัติเหตุได้

และการตั้งด่านต้องเข้าเวร 24 ชั่วโมง สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกวัน ซึ่งไม่รู้ว่าใช้กำลังพลสิ้นเปลืองเกินไปหรือไม่

ทั้งนี้มองว่า หากมีประกาศให้คนอยู่บ้าน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการออกตรวจตราตามปกติ หากมีคนเดินทางก็สอบถามตามปกติ ไม่ต้องวัดไข้ก็ได้ เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ หากวัดเจอแต่ไม่มีสาธารณสุขมาร่วม ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

หน้าที่โดยตรงของตำรวจคือ การไปกวาดล้างจับกุมผู้ที่กระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จับผับบาร์ที่ไม่ปิดตามประกาศจังหวัด จับกุมผู้กักตุนสินค้าทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ป้องกันและปราบปรามผู้ที่ฉวยโอกาสกระทำความผิดซ้ำเติมประชาชนช่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากกว่าการมาตั้งด่าน

ซึ่งตำรวจมีหน้าที่จับโจร ไม่ใช่จับเชื้อโรค

ปัญหาอีกประการคือ ความไม่เด็ดขาดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อกำหนดที่ 13 ระบุว่า คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ในช่วงเวลานี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้โดยไม่จำเป็นและควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวมารับการตรวจอาการหรือกักกันตัว

ทว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการ “ล็อกดาวน์” การเดินทางของประชาชนอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ในช่วงหลังมีอัตราการติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังต้องตั้งด่านบนความเสี่ยงอย่างนี้ต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า การทำงานทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่เราก็ต้องยึดหลักความปลอดภัย หากไม่ปลอดภัยก็อย่าทำ ซึ่งความอันตรายอยู่ที่การไปสัมผัสกัน การไม่รักษาระยะห่าง 1.5 เมตร การไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งได้สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาไปอธิบายให้ความรู้แนวทางปฏิบัติตัวในการตั้งด่านที่ทำแล้วจะปลอดภัย ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันก็ยังพอมีอยู่บ้าง ซึ่งแต่ละจังหวัดทางนายกรัฐมนตรีได้ส่งให้ทาง กอ.รมน.แต่ละจังหวัดจัดสรรให้ ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า หากสุ่มเสี่ยงหรืออันตรายและไม่มีวิธีป้องกันก็อย่าทำ การตั้งด่านไม่ได้ระวังแค่ตำรวจปลอดภัย ชาวบ้านก็ต้องปลอดภัยด้วย

เสียงสะท้อนจากผู้ใต้บังคับบัญชาในฐานะคนทำงานสะท้อนขึ้นไปข้างบนว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ เสียงบประมาณ สิ้นเปลืองกำลังพลหรือไม่ สามารถช่วยลดจำนวนผู้แพร่เชื้อได้แค่ไหน หรือตำรวจกลายเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อเสียเอง

ลองทบทวนดู