ว่าด้วยความคิดการเมือง คนรุ่นใหม่, รุ่นเก่า, รุ่นเด็ก | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

หมู่นี้มีคนมาชวนผมคุยเรื่อง “คนรุ่นใหม่กับการเมือง” ถี่กว่าปกติ เพราะเกิดปรากฏการณ์ของนักเรียนและนักศึกษาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่คึกคักกว่าที่ผ่านมา

ผมบอกคนที่มาตั้งวงสนทนาว่านี่เป็นแนวโน้มที่ผมรอคอยมานานแล้ว เพราะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วกระมังที่มีคนตั้งคำถามว่า

“พลังนักศึกษาหายไปไหน? คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการบ้านการเมืองแล้วหรืออย่างไร? ถ้าคนรุ่นหลังไม่สนใจการเมือง เราจะหวังอนาคตได้อย่างไร?”

วันนี้ จะด้วยเหตุผลเพราะพรรคที่เขาชื่นชอบว่าเป็นตัวแทนความคิดของเขาถูกยุบ หรือเพราะเวทีการแลกเปลี่ยนแสดงออกกว้างขวางขึ้นเพราะโซเชียลมีเดีย

หรือเป็นอย่างที่เราเห็นป้ายบางป้ายที่บอกว่า “เราไม่ได้สู้เพื่ออนาคตใหม่ เราสู้เพื่ออนาคตของเราเอง”

ทำให้เราเห็นคนหนุ่ม-สาวกำลังบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขาและเธอกำลังแสดงความห่วงใยต่อความเป็นไปของสังคม

และขอมีบทบาทในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เพื่อนร่วมวงเสวนาถามว่าตอนที่รุ่นพวกผมเป็นหนุ่มเป็นสาวมีความกระตือรือร้นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองเช่นที่เห็นอยู่หรือไม่

คำตอบก็คือคนทุกรุ่นจะต้องผ่านช่วงเวลาที่มีความฝันอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าที่ผ่านมา และมีวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป

ประสบการณ์ในช่วงวัยหนึ่งกับอีกวัยหนึ่งก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแห่งการเมือง, เศรษฐกิจและสังคม

บังเอิญผมเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งหยิบเอาประโยคของอดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ของอังกฤษมาอ้างเพื่อสะท้อนว่าความคิดความอ่านทางการเมืองของคนแต่ละช่วงวัยก็ย่อมแตกต่างกันได้

ประโยคนั้นคือ

If you are not a Liberal
When you are Young,
You have no Heart.
And if you are not a Conservative when Old, you have no Brain.

อาจารย์ท่านนั้นเอามาปรับแต่งให้เข้ากับบริบทไทยว่า

คนหนุ่ม-สาว ถ้าไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมเลย คือคนไร้หัวใจ

แต่พอแก่มา วัยกลางคน ถ้ายังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่คือคนไร้สติปัญญา

ความจริง ต้นฉบับของอดีตนายกฯ อังกฤษนั้น ท่านหมายถึงการเมืองในอังกฤษ

ตอนหนุ่มแน่นย่อมจะเชื่อว่าทุกอย่างที่เป็น “เสรีนิยม” คือมาตรฐานแห่งยุคสมัย

แต่เมื่อชีวิตผ่านมาถึงวัยชรา ผ่านโลก ผ่านความผิดหวัง และเจอบทเรียนต่างๆ มาก็อาจจะกลายเป็น “อนุรักษนิยม”

ท่านเปรียบ “เสรีนิยม” เป็นเรื่องของ “หัวใจ”

และ “อนุรักษนิยม” เป็น “สมอง”

หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับข้อเปรียบเทียบอย่างนี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา (เอเอฟพี)

ผมนำมากล่าวอ้างให้ได้อ่านกันก็เพราะเห็นการต่อสู้ในเรื่องแนวคิดทางการเมืองของสังคมไทยแล้วก็ขำดี

เพราะ “ป้าย” ที่เราเอามาแขวนเอง หรือเอาไปแขวนให้คนอื่นนั้น บ่อยครั้งมันก็เป็นแค่ “ป้าย” ไม่ได้เป็นเนื้อหาสาระจริงจังอะไร

ช่วงสมัยสงครามเย็น คนรุ่นใหม่ของเราต่อต้าน “ทุนนิยม” และ “จักรวรรดินิยม” ที่มีสหรัฐเป็นตัวแทน ที่ถูกเรียกว่า “ขวา”

และมีความโน้มเอียงไปทาง “สังคมนิยม” และ “คอมมิวนิสต์” ที่มีจีนและสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำอยู่ เรียกกันว่า “ซ้าย”

วันนี้ อะไรๆ ต่อมิอะไรเปลี่ยนไปไม่น้อย คอมมิวนิสต์จีนและรัสเซียมีความเป็น “ทุนนิยม” ไม่น้อย

ขณะที่ “ประชาธิปไตยแบบสหรัฐ” กำลังถูกตั้งคำถามว่าเข้าข่าย “เผด็จการ” เพราะพฤติกรรมของประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่

ขณะเดียวกัน คำนิยามของ “ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ” ก็เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ประเทศที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวก็เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย”

และประเทศที่มีการเลือกตั้งบ่อยครั้งก็ถูกประชาชนออกมาประท้วงว่าผู้นำเป็น “เผด็จการ”

บังเอิญผมค้นเจออีกประโยคหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุที่ทำให้ต้องสะดุดคิดเหมือนกัน

เพราะท่านช่วยสะกิดเราว่า

“ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่…”

ผมโยนคำถามเหล่านี้ลงกลางวงสนทนาวันนั้น…วงเกือบแตกทีเดียวแหละ

แต่ไม่ว่าคนรุ่นใหม่ของเราจะเชื่อในแนวคิดแบบ “เสรีนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม” หรือเห็นความแตกต่างระหว่าง “ประชาชน” กับ “ผลประโยชน์ของประชาชน” หรือไม่ก็ตาม เขาเหล่านั้นต้องเห็นพ้องกันว่าบรรทัดสุดท้ายของสังคมคือการสร้างคนที่เชื่อในความสุจริตยุติธรรม

วันก่อน ผมอ่านเจอเนื้อหาของเด็กนักเรียนมัธยมที่ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดการแสดงความเห็นในหัวข้อ “มือสะอาด ชาติไม่ล่ม” เมื่อหลายปีก่อนแล้ว

อ่านกี่ครั้งก็ยังประทับใจว่านี่คือความคิดที่เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ถือเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะกับทุกยุคทุกสมัยแน่นอน

เด็กมัธยมคนนั้นขึ้นกล่าวอย่างฉาดฉานว่า

ธรรมชาติให้ได้แค่พรสวรรค์

แต่พรแสวงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องสร้างขึ้นเอง

ธรรมชาติให้ได้แค่มโนวิญญาณ

แต่มโนธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องสร้างขึ้นเอง

ธรรมชาติให้ได้แค่สองมือ

แต่การใช้สองมือสร้างประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติก็เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องสร้างขึ้นเองเช่นกัน

ถ้ามือสะอาด ชาติจะไม่ล่ม

คนที่มือสะอาดคือคนที่ซื่อสัตย์สุจริต และรู้จักพอ

เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่รู้จักพอ

ไม่ชอบปรับขนาดของใจให้เท่ากับจำนวนเงิน

แต่ชอบปรับจำนวนเงินให้เท่ากับขนาดของใจ

ความทุกข์ของมนุษย์จึงไม่ใช่การไม่ได้

ความยากของมนุษย์จึงไม่ใช่การไม่มี

แต่ความทุกข์ยากของมนุษย์อยู่ที่การไม่พอต่างหาก

ประเทศชาติก็เปรียบเสมือนบ้าน

ข้าราชการก็เปรียบเสมือนหลังคา

ชาวประชาก็เปรียบเสมือนพื้นบ้าน

ถ้าหลังคาบ้านรั่ว พื้นบ้านย่อมตากแดดตากฝนจนตัวบ้านผุพังทลาย

ประชาชนไม่ได้เกิดมาเพื่อรอรับพายุฝนแห่งการทุจริตของใครบางคน

ไม่ได้เกิดมาเพื่อรอรับเปลวแดดแห่งการโกงกินของคนบางกลุ่ม

และไม่ได้เกิดมาเพื่อโต้ลมพายุแห่งความเห็นแก่ตัวของคนบางพรรค

การทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเป็นมารดาแห่งความชั่วทั้งปวง

โดยมีความยากแค้นของประชาชน ความยากจนของประเทศชาติเป็นบุตรหลาน

โลภทุจริตเป็นรากแก้ว ยืนต้นเติบโตเป็นการโกงกิน มีกิ่งใบที่แหลมคมประดุจหอกและดาบคอยทิ่มแทง

ออกดอกเป็นกลิ่นคาวเลือด ให้ผลที่มีรสฝาดเฝื่อนและแสบเผ็ดแก่คนทั้งแผ่นดิน

ประเทศชาติจะอยู่รอดได้ก็ต้องอาศัยคนที่มีใจสัตย์ซื่อ มือสะอาด ปกป้องชาติไม่ให้ล่ม

เท้าที่ไม่มีบาดแผลย่อมกล้าลุยโคลน คนที่ไม่มีความทุจริตในหัวใจย่อมกล้าต่อกรกับอิทธิพลความชั่วร้าย

มือที่สะอาดกล้ากำยาพิษฉันใด ใจที่สะอาดย่อมไม่หวั่นไหวต่ออามิสเครื่องล่อฉันนั้น

จะรอเทพที่ไหนให้ช่วยผล

รอกุศลที่ไหนให้ช่วยสร้าง

มีแต่มือ มีแต่ใจ ไม่จืดจาง

ที่ต้องล้าง ที่ต้องรื้อ ลงมือทำ

มือต้องสะอาด ชาติจึงไม่ล่ม

ด้วยการปฏิบัติตามโอวาท 3 ประการดังนี้

หนึ่ง มือนี้ต้องปล่อยวางความชั่ว เพราะการทำความชั่วครั้งแรกย่อมเปิดประตูให้ทำความชั่วครั้งที่สองครั้งที่สามตามมาเพียงเพื่อปกปิดความผิดนั้นต้องทำความผิดอีกหลายครั้ง

การทุจริตโกงกินครั้งแรกย่อมจูงมือความชั่วนานัปการตามมา

สอง มือนี้ต้องทำดี ธรรมชาติให้สองมือไว้ไม่ใช่เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ แต่ให้ไว้เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติ ดั่งพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า

“คนเรานั้นต้องหมั่นทำความดีบ่อยๆ เพื่อให้จิตคุ้นชินกับความดี เพราะถ้าไม่ทำดีก็จะเปิดโอกาสให้ความชั่วเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย”

สาม ใจดวงนี้ต้องเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงต้นกล้าแห่งคุณธรรม ไม่ใช่แหล่งเพาะชำต้นกล้าแห่งกิเลสตัณหา สองมือนี้ต้องนำต้นกล้าแห่งคุณธรรมในจิตใจมาเพาะปลูกลงบนผืนแผ่นดินไทยให้กิ่งใบแห่งคุณธรรมนั้นแผ่สาขา ก่อให้เกิดร่มเงาแห่งความผาสุกตลอดไป

ไม่มีมือที่พิการใดจะพิการไปกว่ามือที่ยอมสร้างประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน

ไม่มีมือของอาชญกรใดจะน่ากลัวไปกว่ามือที่สกปรกของคนโกงกินชาติบ้านเมือง

และไม่มีพระหัตถ์ของพระพรหมองค์ใดจะสร้างสรรค์ประเทศชาติให้งดงามได้เท่ากับมือสะอาด ชาติไม่ล่ม

เกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สมค่าคำว่าคนโดยการใช้สองมือที่สะอาด สร้างชาติให้เจริญ

เมื่อตอนเราเกิดเราร้องไห้ในขณะที่คนอื่นยิ้มระรื่น

ตอนเราตาย เราต้องยิ้มระรื่นโดยที่คนอื่นร้องไห้

ทําอย่างนี้ได้จึงจะเป็นผู้ที่มีมือสะอาด ชาติไม่ล่ม อย่างแท้จริง

ผมเชื่อแล้วว่าเด็กมัธยมวันนี้คิดอ่านได้เก่งกว่าคนจบด๊อกเตอร์เป็นไหนๆ

และต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาเรื่องอนาคตของประเทศชาติไหนก็ตาม อย่าลืมเชิญเด็กมัธยมมาร่วมวงด้วยเป็นอันขาด!