สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ไม่อยากแค่”รอ” ใครมาบอก-เราไม่ทิ้งคุณ

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————-

ไม่อยากแค่”รอ”

ใครมาบอก-เราไม่ทิ้งคุณ

————————-

ยอดลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากรัฐ ของแรงงานนอกระบบ ที่ ทะลุ 22 ล้านรายไปแล้วนั้น

แน่นอน อาจมีผู้ให้ข้อมูลเท็จ บางส่วน

ซึ่งรัฐบาล ทั้งขู่ ทั้งปลอบ คือจะเรียกเอาเงินคืนและเอาความผิดตามกฏหมาย

ขณะเดียวกัน กำลังทำโปรแกรมให้คนเหล่านี้แจ้งขอถอนการลงทะเบียนได้เพื่อจะไม่ถูกเอาผิด

เชื่อว่าคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ถอนตัวออกไป

แต่จะให้ถอนเป็นล้านๆรายคงยาก

เพราะขนาด กระทรวงการคลัง เอง นอกจาก แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง มัคคุเทศก์ คนขายล็อตเตอรี่ ที่ลงทะเบียนไว้กับภาครัฐ ที่สามารถจ่ายเงิน 5000 บาทต่อเดือน ได้เป็นกลุ่มแรกแล้ว

ก็ยังไม่อาจให้นิยามชัดๆว่า แรงงานนอกระบบอื่นๆที่มีสิทธิจะได้เงินมีอะไรบ้าง

ต้องใช้ การตีความ การวินิจฉัย ช่วย

ซึ่งตรงนี้แหละยากที่จะทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ยิ่งมีเวลาจำกัดในการพิจารณา ยิ่งทำให้ความรอบคอบ รอบด้าน ลดลง

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 31 มีนาคม ที่บอกว่าจะสามารถช่วยส่วนนี้ ได้ประมาณ 9 ล้านคน

ซึ่งจะทำให้ คนกว่า 10 ล้าน ผิดหวัง

แน่นอน คงมีคำถามอื้ออึงแน่

และหากไม่มีคำตอบที่พอใจ ความผิดหวังจะเป็น “พายุฤดูร้อน”ถล่มเข้าใส่รัฐบาล

ซึ่งตอนนี้ ก็เจอปัญหารุมเร้าทุกด้าน

จึงต้อง ตั้งหลัก ให้ดี

อะไรที่รั่วๆ จะต้องอุดให้ดี

อย่าง กรณี เรือยกพลขึ้นบก 6พันล้าน ที่แม้กองทัพเรืออ้างว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การมาเสนอเรื่องในยามนี้

และผู้ที่เสนอ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโหม ที่หมวกอีกใบ คือผู้นำประเทศ ที่กำลังประกาศขึงขังจะนำพาให้ประเทศชนะ ดูจะย้อนแย้งพิกล

การที่ รัฐบาล รีบตัดสินใจประชุม คณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.6ล้านล้านบาท เพื่ออุ้มเศรษฐกิจประเทศ

ถือเป็น ทางออกที่ดี

อย่างน้อยก็ลดแรงกดดัน จากความคาดหวัง เช่นอาจจะบอกคน 10 ล้าน ที่พลาดหวัง จากการได้เงินช่วยเหลือ 5000 บาทต่อเดือน ว่า กำลังหาช่องทางอื่น เพื่อช่วยเหลือ

ซึ่งก็คงทำให้ ความไม่พอใจลดลงบ้าง

แต่ นั่น มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะได้เงินใส่กระสอบ ไปโปรย แบบโมเดลเฮลิคอปเตอร์มันนี่

และมิใช่ เจ้าสัวที่แบก บาซูก้า เทิ่งๆ ไปยิงแจกเงินตรงนั้นตรงนี้ แบบเมามัน

เพราะนี่ คือ “เงินกู้” เป็นภาระร่วมกันทั้งประเทศที่เราต้องจ่ายทั้งดอกทั้งต้นคืน

ดังนั้น การใช้ จึงต้องเข้มงวด รัดกุม

จะช่วยใครกลุ่มไหนต้องมีเหตุผล มีความเท่าเทียม มีมาตรฐาน มีแผน ฯลฯ

พูดง่ายๆใช้เงินแล้ว ทุกคนเห็นพ้องกันว่า จำเป็น

และที่ สำคัญ ต้องไม่รั่วไหล หรือเป็นไปเพื่อพวกพ้องของตนเท่านั้น

จากมหาวิกฤต ไวรัสโควิด-19 ได้สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการของรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่อง

และได้เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ ประชาชน เห็นพ้องกับการรวบอำนาจมาไว้ที่ นายกรัฐมนตรี ผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดยหวังว่า การรวมศูนย์ ดังกล่าวจะนำไปสู่การตัดสินใจที่รวดเร็ว เป็นเอกภาพ โปร่งใส

มิได้ต้องการ รวมศูนย์แบบอำนาจนิยม ที่ไม่ฟังใคร

ใช้ความคุ้นเคย คุ้นชิน แบบระบอบข้าราชการ มาตัดสินปัญหา

ผู้นำเอง ต้องตระหนักว่าขณะนี้เรามีกลไกประชาธิปไตยอื่นอยู่ จำเป็นต้องให้กลไกเหล่านั้นขับเคลื่อนไปด้วย

เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ตรวจสอบ และร่วมกันเสนอแนะ

ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ไม่ใช่มานั่งรอ ให้ใครมาบอก เราไม่ทิ้งคุณ