วัชระ แวววุฒินันท์ : ขอคารวะและชื่นชม “ครูแอ๋ว” อรชุมา ยุทธวงศ์

วัชระ แวววุฒินันท์

คนในวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์จะรู้จักชื่อ “ครูแอ๋ว” กันเป็นอย่างดี ในฐานะ แอ๊กติ้ง โค้ช ที่ผลักดันให้นักแสดงก้าวสู่บทบาทที่ตนได้รับได้อย่างมีทิศทาง หรือที่เราชอบพูดกัน “เข้าถึงบท” นั่นเอง

ผลงานการโค้ช แอ๊กติ้ง ให้กับนักแสดงตัวนำของครูแอ๋วนั้นมีหลายเรื่อง เอ่ยชื่อมาคอหนัง คอละครต้องร้องอ๋อทั้งนั้น

ถ้าเป็นหนังก็อย่างเช่น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, รัก 7 ปี ดี 7 หน, โหมโรง ถ้าเป็นละครก็เช่น ล่า, สุดแค้นแสนรัก, เล่ห์ลับสลับร่าง นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

ครูแอ๋ว มีชื่อจริงว่า “อรชุมา ยุทธวงศ์” แต่ใครๆ ก็นิยมเรียกว่า “ครูแอ๋ว” กันมากกว่า

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อร่วมฟังการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “มายา การละคร” ซึ่งมีครูแอ๋วเป็นวิทยากรนั่นเอง

ผู้ฟังในวันนั้นมีทั้งนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ทั้งรุ่นเดียวกับครูแอ๋ว และรุ่นน้อง รุ่นหลาน รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นศิษย์อักษรฯ อย่างผม และผู้ที่ศึกษาหรือจบจากสถาบันอื่นๆ กันเต็มความจุห้องเกือบ 300 คน

ถามว่าวันนั้นคนไปฟังอะไรกัน ตอบได้ว่าคนอยากไปฟังผู้ที่เป็นหนึ่งในตัวจริงของคนที่จบภาควิชาการละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะอยู่ 30 ปี ก่อนจะ early retire มารับงานหลากหลายในวงการบันเทิงอีก 23 ปีเข้านี่

ฉะนั้น เรื่องของประสบการณ์ไม่ต้องสงสัย อยู่ที่ว่าจะเล่ามากเล่าน้อยนั่นเอง

 

สําหรับผมและพวกพ้องที่สถาปัตย์ จุฬาฯ ได้มีประสบการณ์กับครูแอ๋วก็ตอนอยู่ปี 1 ที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงในละครเวทีของภาควิชา ชื่อเรื่อง “คนดีที่เสฉวน” จากการกำกับฯ ของครูใหญ่ – อ.สดใส พันธุมโกมล

เรื่องนี้มีตัวละครเยอะ แล้วก็เป็นผู้ชายจำนวนไม่น้อย นิสิตชายที่ภาควิชาคงมีจำนวนไม่พอ โอกาสจึงตกมาถึงพวกเราซึ่งก็นึกสนุกที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ กัน ก็ยกโขยงกันไปแคสต์ ซึ่งอาจารย์สดใสก็เมตตาแจกจ่ายบทให้เราได้เล่นกันทุกคน

เรื่องนี้มีนางเอกคือ “ครูแอ๋ว” ครับ ที่ตอนนั้นเป็นอาจารย์ในภาควิชาแล้ว ซึ่งสำหรับเรา ครูแอ๋วเป็นอาจารย์ที่น่ารักมาก ให้ความเป็นกันเอง และมีเมตตากับพวกลิงๆ จากสถาปัตย์เหล่านี้มาจนถึงทุกวันนี้

ในเรื่องครูแอ๋วต้องรับบทเป็น “เชนเต” นางเอกผู้น่าสงสาร และบท “ชุยตา” เจ้าของโรงงานผู้กดขี่ข่มเหงคนที่ต่ำกว่า 2 บทหญิงและชาย ครูแอ๋วแสดงได้ดีมาก

ขนาดพวกเราที่ซ้อมอยู่ด้วยกันบ่อยๆ ยังต้องมองด้วยความชื่นชมและยกนิ้วให้

 

ด้วยการมีสมาธิอยู่กับบทนั่นเองที่ทำให้ครูแอ๋วเข้าถึงบทบาทเช่นนี้

และก็เหมือนตราบาปของพวกลิงๆ สถาปัตย์อย่างพวกเราในรอบสุดท้าย ที่ชอบคิดชอบทำอะไรแผลงๆ โดยลืมนึกไปว่าอาจจะส่งผลกับคนอื่นๆ นั่นคือ ในการแสดงครึ่งหลัง พวกเรานัดกันเติมไฝที่ใบหน้ากันทุกคน ตัวละครวันนั้นจึงมีไฝกันถ้วนทั่ว ไฝใหญ่บ้างเล็กบ้าง ซึ่งเป็นการแอบทำโดยไม่ได้บอกคนอื่นๆ รวมทั้งครูแอ๋วด้วย

เมื่อการแสดงดำเนินไป แล้วครูแอ๋วซึ่งต้องมีสมาธิอย่างมากกับบทและการแสดง หันมาเห็นใบหน้าพวกเราที่เป็นตัวประกอบอยู่รายล้อมมีไฝกัน สมาธิของครูก็เกิดหลุดขึ้นมา และกว่าจะดึงกลับมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

หลังฉากครูแอ๋วถึงกับเสียน้ำตากับความสนุกของพวกเรา จนพวกเราต้องเข้าไปขอโทษและสำนึกผิด และครูก็เมตตากลับมาด้วยการสอนอย่างน่ารัก

ในการบรรยายวันนั้น ประสบการณ์หนึ่งที่ครูเล่าให้ฟังก็มีเรื่องนี้ด้วย แต่ตอนนี้ครูเล่าอย่างเห็นขันมากกว่า

 

ส่วนประสบการณ์สำคัญที่ครูแอ๋วได้เล่าวันนั้น คือ คุณค่าของการเรียนวิชาการละครที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับชีวิต โดยเฉพาะในการมอง “ชีวิต”

ครูบอกว่า ละครสอนให้คิดเป็นใจคนอื่น ไม่ด่วนตัดสิน

เพราะในการแสดงละคร หรือกำกับฯ ละคร เราต้องเข้าใจตัวละครอย่างมาก ต้องรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง ทำไมเขาถึงทำ ถึงพูด ถึงแสดงออกอย่างนี้ ต้องเข้าใจในตัวละครที่หลากหลายทั้งตัวดีตัวร้าย นั่นคือการฝึกให้เรามองคนในหลายๆ มิติ หลายๆ มุมมอง มองอย่างมีความลึก ไม่ใช่แค่เปลือก

เมื่อทำได้เช่นนี้ เราก็จะไม่ด่วนตัดสินคนนั้นคนนี้ โดยที่เราไม่ได้มีโอกาสรู้จักเขาอย่างแท้จริง

เรื่องของการละครเหมือนเป็นเรื่องมายา เป็นเรื่องหลอก เรื่องสมมุติ

แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็น “เรื่องจริง” ที่ผู้ทำการละครต้องค้นหา

เรียกว่าเป็น “ความจริงข้างนอก” และ “ความจริงข้างใน”

“ความจริงข้างนอก” คือการเรียนรู้จักตัวละคร หรือรู้จักคนอื่นๆ รู้จักอย่างถ่องแท้

“ความจริงข้างใน” คือการเรียนรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด การละครสามารถช่วยให้เรารู้จักตัวตนของเราได้อย่างดี

 

เมื่อคนละครถูกฝึกให้รู้จักมอง สังเกต และเรียนรู้ ยอมรับคนอื่น จึงกลายเป็นทักษะที่ครูนำมาใช้ในการทำงานหลังจากไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาแล้ว

นั่นคือการเป็นแอ๊กติ้ง โค้ช ให้กับนักแสดงอย่างที่เล่าไปต้นเรื่อง

กล่าวได้ว่าครูแอ๋วเป็นแอ๊กติ้ง โค้ช คนแรกๆ ของวงการ ที่แต่ก่อนจะยังไม่มีตำแหน่งนี้ในกองงาน โดยครูแอ๋วให้นิยามของการทำงานตำแหน่งนี้ว่า

“เราคือคนเบื้องหลังที่ทำงานภายใต้ผู้กำกับฯ”

ในกองถ่าย ผู้กำกับฯ จะเป็นคนใหญ่สุด ผู้กำกับฯ จะมีภาพรวมของหนังหรือละครของเขาอย่างชัดเจนว่าจะให้ออกมาแบบใด ทิศทางใด รวมทั้งการแสดงด้วย แอ๊กติ้ง โค้ช จึงต้องทำงานตามภาพรวมของผู้กำกับฯ นั้น ไม่ใช่โค้ชให้นักแสดงแสดงไปตามที่ตนเองคิด ซึ่งอาจจะเป็นคนละทางกับที่ผู้กำกับฯ ต้องการ

ครูแอ๋วเล่าให้ฟังถึงเกร็ดในการโค้ชนักแสดงมีชื่อให้ฟังอย่างสนุกสนาน

อย่างเช่น เรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” นั้น งานยากคือการเปลี่ยน คริส หอวัง ให้เป็น “เหมยลี่” เพราะคริสนั้นเป็นคนมาดดี บอดี้ดี อุดมไปด้วยความมั่นใจ ทำยังไงถึงจะให้เป็นอาหมวยที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเลย เพราะอยู่ช่วงปลายของการหาคู่แล้ว เพื่อนๆ ก็แต่งไปกันหมดแล้ว

ส่วน “เคน” นั้น ผู้กำกับฯ บอกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนมาก ให้เป็นเคนนี่แหละ เป็นคนที่ดูดีอบอุ่น ใครๆ ก็อยากใกล้ชิด จนหล่อทะลุแป้งอย่างที่เห็นในเรื่อง

สำหรับเรื่อง “โหมโรง” ครูแอ๋วเล่าว่า ในตอนถ่ายฉากสำคัญคือการดวลระนาดกันของพระเอกกับตัวร้ายคือ “ขุนอิน” สุดท้ายขุนอินจะสู้ฝีมือของพระเอกไม่ได้ จนโกรธที่พ่ายแพ้และมีอารมณ์ออกไป

ครูแอ๋วเล่าว่าได้ลองขอผู้กำกับฯ คือ คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ให้ขุนอินลองเล่นอีกแบบได้ไหม ซึ่งโชคดีที่ผู้กำกับฯ เห็นด้วย ครูจึงลองให้ขุนอินเล่นแบบโกรธลึก คือโกรธแล้วไม่ได้โวยวายออกมา แต่เจ็บลึกอยู่ข้างในเพราะความพ่ายแพ้

นั่นเอง ซึ่งจะทำให้ตัวละครมีความลึกมากกว่า

เข้าใจว่าในหนังที่ออกมา ก็ได้เลือกเทคนี้มาใช้จริงๆ

 

เช่นนี้เป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้กำกับฯ และแอ๊กติ้ง โค้ช

หน้าที่ของงานแอ๊กติ้ง โค้ช นี้ ครูบอกว่า ต้องพยายามหาทางให้นักแสดงได้พบ “ความจริงใจ” ในการแสดง คือ ไม่ใช่คิดว่าจะเล่นแบบนั้น อย่างนั้น โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกจริงๆ เขาเรียกว่า fake

ในการที่เขาจะรู้สึกได้ เขาต้องรู้จักตัวละครตัวนั้นอย่างจริงๆ ครูบอกว่า เวลาในการทำงานส่วนหนึ่งของครูคือการทำความรู้จักตัวตนของนักแสดงคนนั้นว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ชี้แนะหรือโค้ชให้เขาเป็น “ตัวละคร” ที่ได้รับอย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน

และหากเขาหาตัวละครพบแล้ว หลังจากนั้นเขาจะเล่นสไตล์อะไรก็ได้แล้ว…ครูแอ๋วบอกอย่างนั้น

 

นอกจากงานแอ๊กติ้ง โค้ชแล้ว ครูแอ๋วยังใช้ทักษะการรู้จักชีวิตของคนนี้ มาใช้ในงาน Career & Life Coaching อีกด้วย ทำยังไงให้นักเปียโนที่ขึ้นเวทีทีไร ตื่นเต้น สั่นจนลืมตัวโน้ตก็เคยมาแล้ว ได้ขึ้นเวทีอย่างมีความสุข หรือคุณหมอที่มุ่งมั่นในการทำงานจนไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเลย หรือนักถ่ายภาพ ให้รู้จักในการกำกับนางแบบให้ออกมาตามที่วาดภาพไว้ หรือแอร์โฮสเตส ให้รู้สึกสนุกกับงานที่จำเจเช่นนั้นทุกวี่วัน

วันนั้นผู้ฟังรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาฟังครูแอ๋วถ่ายทอดประสบการณ์อันมีค่า และมีเบื้องลึกในวิธีคิด ตลอดการบรรยายครูจะหยอดข้อคิด และแอบสอนไปในตัว นี่แหละคือจิตวิญญาณของการเป็นครูโดยแท้

ขอคารวะและชื่นชม “ครูแอ๋ว” อรชุมา ยุทธวงศ์ ครับ