เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระญาสววาธิสิทธิ” แห่งหริภุญไชยนคร ต้นแบบธรรมิกราชาบนแผ่นดินสยาม (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

นามของ “พระญาสววาธิสิทธิ” หรืออีกพระนามหนึ่งคือ “พระเจ้าสัพพาสิทธิ์” (เขียนได้หลายแบบ บ้างเขียนเป็น “สรรพสิทธิ์”) เป็นกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งแห่งหริภุญไชยนคร และยังเป็น “ต้นแบบ” ของกษัตริย์ผู้ทรง “ธรรมิกราชา” บนแผ่นดินสยามอีกด้วย

พระนามของพระองค์ปรากฏเด่นชัดทั้งในศิลาจารึกอักษรมอญโบราณถึงสองหลัก นั่นคือ หลัก ลพ. 1 (จารึกสววาธิสิทธิ 1 วัดดอนแก้ว) ซึ่งดิฉันได้กล่าวถึงจารึกรุ่นโบราณที่ใช้โศลกคำฉันท์รจนาในบทประณามพจน์ในบทความฉบับก่อน และหลัก ลพ. 2 (จารึกสววาธิสิทธิ 2 วัดกู่กุฏิ หรือวัดจามเทวี) ทั้งสองหลักพบที่จังหวัดลำพูน

นอกจากนี้ยังพบพระนามในเอกสารพงศาวดารอีกหลายฉบับ อาทิ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย พงศาวดารโยนก เป็นต้น

ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า พระญาสววาธิสิทธิเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 35 แต่ตำนานมูลศาสนากำหนดว่า เป็นกษัตริย์ในลำดับที่ 30 เมื่อนับจากพระนางจามเทวี ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ลำดับที่เท่าใดก็ตาม แต่ที่แน่นอนที่สุดคือพระองค์เป็นพระราชปนัดดา (อาจจะชั้นหลานหรือเหลน) ของพระญาอาทิตยราช (มหาราชแห่งหริภุญไชยนคร ผู้สร้างพระบรมธาตุกลางนครลำพูน)

พระญาสววาธิสิทธิได้ประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้หลายด้าน ความโดดเด่นเป็นพิเศษที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ยกย่องไว้คือ

เป็นต้นแบบการทรงผนวชของพระมหากษัตริย์ขณะครองราชย์ จนกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาจวบจนราชวงศ์จักรี รวมไปถึงการกัลปนาเขตพระราชฐานให้สร้างพระอารามหลวง หรือการยก “วัง” ให้สร้าง “วัด” ก็ได้กลายมาเป็นจารีตของราชสำนักสยามในยุคต่อๆ มา

จึงสมควรกับพระราชสมัญญาว่าเป็น “ธรรมิกราชา” โดยแท้จริง

 

พระญาสววาธิสิทธิมีพระชนมายุอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1579-1641 ตลอดช่วงพระชนม์ชีพ 62 พรรษานั้น สามารถลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลของพระองค์ได้ดังนี้

๏ พระชนมายุ 5 ชันษา ทรงได้เป็นพระญาหรือพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา (พระรถราช) ผลงานของพระองค์ในยุคนั้น ตามที่มีบันทึกในตำนานมูลศาสนา คือทรงเขียนรูปพระเจ้าบนผืนผ้า (แสดงว่าธรรมเนียมการเขียนภาพจิตรกรรมพระบฏมีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย) และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทองแดง 1 องค์ พระพุทธรูปเงิน 1 องค์ พระพุทธรูปทองคำ 1 องค์ และพระพุทธรูปจากงาช้าง 1 องค์

๏ พระชนมายุ 7 ชันษา สละราชสมบัติฝากแก่พระมหาเทวีผู้เป็นพระราชมารดาให้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการบรรพชาเป็นสามเณร ทรงให้สร้างผอบเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และถวายคัมภีร์ 12 เล่ม

๏ พระชนมายุ 10 ชันษา ทรงสถาปนาวัดมหาวัน ทรงสร้างเจดีย์และพระพุทธรูป

๏ พระชนมายุ 17 ชันษา ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างพระพุทธรูปดินเผา 10 องค์ไว้ในคูหาใต้ต้นโพธิ์ ทรงสร้างพระพุทธรูปทองแดงพอกด้วยทองคำ พระพุทธรูปใต้ต้นมุจลินท์ ตกแต่งดอกไม้คำ แก้ว 7 สิ่ง พระธรรมปิฎก และได้ทรงสร้าง (หรืออาจบูรณะ) รัตนเจดีย์

๏ พระชนมายุ 19 ชันษา ทรงให้สร้างโกศทองคำประดับแก้ว 7 ประการครอบโกศทองคำที่พระญาอาทิตยราชทรงสร้าง ทรงสร้างพระพุทธรูปและบรรณศาลาสำหรับไว้พระพุทธรูป แล้วทรงให้บูรณะเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยให้เอาหินมาก่อครอบปราสาทสูง 24 ศอก

๏ พระชนมายุ 26 ชันษา ทรงให้สร้างกุฏิ วิหารและกัลปนาเขตพระราชฐานเชตวนาลัยพร้อมที่นาให้แก่วัดเชตวนาราม ทั้งยังทรงให้สร้างจารึกไว้ในศิลา สำหรับรองฐานพระพุทธเจ้าทั้ง 2

๏ พระชนมายุ 31 ชันษา ทรงให้สร้างโบสถ์ “อุโบสถาคาร” แห่งวัดเชตวนาราม และทรงแจกข้าว

๏ พระชนมายุ 32 ชันษา ทรงออกผนวชพร้อมพระชายา และพระโอรสทั้ง 2 องค์ พร้อมกับทรงจำพรรษาในโบสถ์แห่งนั้น

ทรงครองราชสมบัติอย่างยาวนานถึง 45 พรรษา หลังจากรัชสมัยของพระญาสววาธิสิทธิแล้ว ก็มิได้มีการบันทึกเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญในหริภุญไชยนครอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกเลย กล่าวถึงแต่พระนามของกษัตริย์ในลำดับรัชสมัยต่อๆ มา จนถึงกาลเสียเมืองแก่พระญามังรายเพียงเท่านั้น

 

ความหมายแห่ง “ธรรมิกราชา”

จากข้อความของตำนานมูลศาสนา ทำให้ทราบว่า พระญาสววาธิสิทธิทรงได้รับการมอบราชสมบัติสืบต่อจากกษัตริย์พระองค์ก่อน ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนมายุเพียง 5 ชันษา

ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระราชมารดา ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “พระมหาเทวี” ต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่นานถึง 12 ปี คือตั้งแต่ทรงนั่งบัลลังก์ได้ 2 ปีแรก ถือว่าทรงพระเยาว์ยิ่งนัก และจากนั้นจำต้องเสด็จออกบรรพชาเป็นสามเณรอีกถึง 10 ปี

ตำนานมูลศาสนาทำให้เราทราบว่าพระญาสววาธิสิทธิทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงที่มีพระชนมายุ 17 พรรษา เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความที่ได้จากศิลาจารึกหลักที่ 1 วัดดอนแก้ว ซึ่งพระองค์ทรงจารในวัย 26 ชันษานั้น เห็นได้ว่าทรงผ่านการครองสิริราชสมบัติมาแล้วนานถึง 9 ปี และผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรมาแล้วด้วยระยะเวลานานถึง 10 ปี

เมื่อประมวลข้อความทั้งหมดนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาและหมั่นสะสมบุญเป็นอันมาก เห็นได้ว่าพระญาสววาธิสิทธิ ได้ยึดถือแบบแผนตามที่พระนางจามเทวี และพระญาอาทิตยราชทรงวางไว้ในฐานะ “ธรรมิกราชา” นั่นคือทำหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลพระพุทธศาสนา ด้วยการบุญการกุศลต่างๆ

ซึ่งในที่นี้พยายามจัดหมวดหมู่ไว้เป็นสี่ด้าน ได้แก่ การกัลปนา การบุญกุศล การสร้างเสนาสนะ และการออกผนวช

 

ประเพณีการกัลปนา “วัง” ให้เป็น “วัด”
จาก “เชตวนาลัย” สู่ “เชตวนาราม”

การกัลปนา หมายถึงการมอบ อุทิศ หรือยกถวาย วัตถุสิ่งของ สถานที่ รวมทั้งบุคคลไว้แก่การพระศาสนาเท่านั้น จากศิลาจารึก ลพ. 1 สามารถจำแนกเรื่องการกัลปนาของพระญาสววาธิสิทธิได้เป็นหมวดหมู่ ดังนี้คือ 1.การกัลปนาวังเพื่อสร้างวัด 2.การกัลปนาวัตถุสิ่งของ บุคคล และสัตว์ ให้เป็นสมบัติของวัด

การกัลปนาเขตพระราชฐานให้สร้างพระอาราม พร้อมมีการบอกอาณาเขตการกัลปนาที่ดิน ปรากฏชัดในศิลาจารึกวัดดอนแก้ว ด้านที่ 1 ในภาษาบาลี ทำให้ทราบว่า ณ บริเวณที่ตั้งของวัดต้นแก้ว วัดร้างดอนแก้ว และโรงเรียนบ้านเวียงยองนั้น ในอดีตเดิมมีชื่อว่าพระราชวังเชตวนาลัย เคยเป็นเขตพระราชฐานมาก่อน หน้ารัชสมัยของพระญาสววาธิสิทธินั้นแล้ว แต่ต่อมาพระญาสววาธิสิทธิได้กัลปนาพระราชวังแห่งนี้ถวายเป็นพุทธบูชา จนกลายเป็นเขตอารามสงฆ์นามว่า “เชตวนาราม” หรือ “วัดเชตวัน”

พระจริยาวัตรเช่นนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศความเป็น “องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก” ของกษัตริย์ผู้เป็น “ธรรมิกราชา” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขัตติยราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ล้านนาและสยามในยุคหลัง ให้น้อมนำไปปฏิบัติหลายพระองค์ ด้วยการกัลปนาเขตพระราชฐานถวายให้เป็นเขตพุทธาวาส

ดังเช่น การที่พระญามังรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยก “หอนอน” ที่ประทับในพระราชวังเดิมให้สร้างพระอารามวัดเชียงหมั้น วัดแห่งแรกที่นครเชียงใหม่

หรือรัชสมัยพระญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 ก็ทรงกัลปนาพระราชอุทยานสวนดอกไม้พยอม ถวายแด่พระสุมนเถระให้สร้างวัดสวนดอกบุปผาราม

สืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ดังเช่นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ เมื่อมีการสร้างวัง พระมหากษัตริย์ย่อมประกาศความเป็น “ธรรมิกราชา” ด้วยการสร้างวัดในวังคู่กันด้วย ในทำนองสร้าง “หอพระ” ประจำวัง ใช้เป็นสถานที่ประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเป็นการเฉพาะพระองค์

ธรรมเนียมเช่นนี้ยังคงเห็นที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการพระราชกุศลสำหรับพระราชวังบางปะอิน

 

เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ทำไมจึงมีการสร้างพระราชวังอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง (เดิมคือพิงคนที) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย ใครเป็นผู้ย้ายเขตพระราชฐานจากฟากตะวันตกของพิงคนทีมาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลใด เมื่อไหร่

จากหลักฐานของหริภุญไชยนครยุคแรกสร้างนั้น พระนางจามเทวีทรงตั้งบ้านเมืองที่ฝั่งตะวันตกของพิงคนที

กระทั่งในสมัยของพระญาอาทิตยราช ก่อนที่พระองค์จะทรงขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ จุดที่เป็นพระธาตุหริภุญไชยในปัจจุบันนั้น ทรงเคยใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐานมาก่อน

ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างหอจัณฑาคาร (ห้องน้ำ) ทับพื้นที่แท่งหินสี่เหลี่ยมที่ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุว่าพระพุทธ เคยเสด็จมาประทับรับบาตรจากพรานป่าที่นี่ มีการตรัสพยากรณ์ และมอบพระเกศาธาตุบรรจุอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไว้ภายใต้แท่งหินนั้น มีพญากาเผือกที่คอยสั่งลูกหลานเหล่ากาดำให้คอยเฝ้าสถานที่แห่งนี้ไว้

ทำให้พระญาอาทิตยราชไม่สามารถสร้างห้องสุขาได้ จำต้องย้ายไปไว้บริเวณอื่น

อาจเป็นไปได้ว่าสมัยของพระญาอาทิตยราชนั่นเองได้มีการย้ายเขตพระราชฐานจากฟากตะวันตกมายังฟากตะวันออก เพื่อกัลปนาพื้นที่เขตพระราชวังเดิมอุทิศถวายให้สร้างสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกลางหริภุญไชยนคร

กรณีการกัลปนาข้าพระ ข้าพระธาตุ หรือเลกวัด ทั้งชาย-หญิง พบว่ามีการถวายคนครัว นายช่าง ถวายโค ข้าวเปลือก เพชรพลอย ข้าทาส สัตว์ เพื่ออุทิศสำหรับทำหน้าที่บำรุงรักษาดูแลพระอาราม และอุปัฏฐาก รับใช้พระภิกษุสงฆ์ บุคคลและสิ่งของเหล่านี้ จะไม่อนุญาตให้มีใครนำไปใช้กระทำสิ่งอื่นนอกเขตพระอารามโดยเด็ดขาด จารึกหลายหลักที่พบในสมัยล้านนา มีการกล่าวคำสาปแช่งผู้นำข้าพระเหล่านี้ไปใช้ในการอื่นอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ว่าขอให้ตกนรกหมกไหม้อย่าได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย

ข้าพระเหล่านี้จะได้รับอภิสิทธิ์ในยุคสมัยที่มีสงคราม โดยจะไม่ถูกเกณฑ์ไปออกรบ เปิดช่องให้มักมีผู้คนมาแอบแฝงตัวเป็นข้าพระจำนวนมากเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นทหาร

 

การบำเพ็ญศาสนกุศล

หน้าที่อีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ผู้เป็น “ธรรมิกราชา” คือการสนับสนุนพระญาติวงศ์ในราชตระกูลให้ทำบุญ การอุทิศถวายวัตถุสิ่งของต่างๆ สำหรับพระสงฆ์ การสร้างฉัตรอันประดับด้วยดอกไม้ การปลูกต้นมหาโพธิ์ 10 ต้น ปลูกต้นมะพร้าว 50 ต้น

อนุญาตและชักชวนให้ชนทั้งหลายได้บำรุงรักษาต้นมหาโพธิ์ เห็นได้ว่าการให้ประชาชนค้ำจุนต้นโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบประเพณีการแห่ “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือที่เรียกภาษาถิ่นว่า “ไม้ก๊ำสะหลี” ของชาวล้านนา

การจารคัมภีร์พระไตรปิฎก การสร้างคัมภีร์พระปริตต์บรรจุไว้ในช่องคูหา เชื่อว่าการจารพระไตรปิฎกนั้นคงไม่ได้จารึกลงในแผ่นศิลา น่าจะเป็นการจารลงในใบลาน ควรถือเป็นเค้ามูลได้ว่า มีการจารพระไตรปิฎกลงในใบลานมาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ

คำลงท้าย มีการอุทิศส่วนราชกุศลที่ได้ทำมาทั้งหมด ถวายแด่มหาราชเจ้าอาณาจักรผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งทรงแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ ซึ่งกลายมาเป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในคติพุทธศาสนาประจำแผ่นดินไทยตราบเท่าทุกวันนี้

ความเป็น “ธรรมิกราชาของพระญาสววาธิสิทธิ” ยังเหลืออีก 2 ด้านหลักๆ คือ ทรงอุปถัมภ์การสร้างเสนาสนะจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญเนกขัมมะถึง 2 ครั้ง อันเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง จักได้กล่าวต่อไปในฉบับหน้า