เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | กวีวันละบทของรินรัก

สงสัย

๐ ตัวหนูนั้นสงสัย

ว่าทำไมเดือนกุมภา

ผู้คนเรียกกันว่า

เป็นที่มาเดือนแห่งรัก

เดือนอื่นนั้นไม่มี

เดือนเหล่านี้คงอกหัก

คงปวดใจยิ่งนัก

เพราะความรักนั้นไม่มี ฯ

ผู้แต่ง รินรัก แซ่โค้ว 2 กุมภาพันธ์ 2563 กลอนลำดับที่ 326

เธอคือ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว อายุเพิ่งย่างแปดขวบปีนี้ เธอแต่งกาพย์ยานี 11 ทุกวันวันละหนึ่งเรื่องจำนวนสองบทกาพย์ โดยลงชื่อวันที่ และลำดับที่ดังข้างต้นนี้

กาพย์วันละ “บทเรื่อง” เธอส่งให้อ่านเป็นประจำ คัดลอกลายมือด้วยดินสอตัวโตตรงเต็มบรรทัด ล่าสุดนี้มี 29 บทเรื่อง ตามจำนวนวันที่มีในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้มี 29 วันเป็นพิเศษ

อ่านแล้วอยากให้ใครๆ ได้อ่านด้วย ดังขอคัดเป็นตัวอย่างมานี้

กาพย์หรือจะเรียกว่ากลอนหรือกวีอย่างไรก็ได้ของ ด.ญ.รินรัก มิอาจนำเอามาตรฐานที่เป็นพื้นฐานฉันทลักษณ์ตามตำราหรือคัมภีร์ใดมาวัด เพราะเธอเขียนด้วยหัวใจ จริงใจและจริงจัง ทั้งหมดที่ชีวิตน้อยๆ นี้มีอยู่

คือเขียนด้วยชีวิต

ท่านโกวิท เขมานันทะ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เคยกล่าวทำนองว่า ศิลปะทั้งปวงของเด็ก เป็นงานบริสุทธิ์ มิอาจวัดด้วยมาตรฐานและการประเมินคุณค่าประการใดได้ เพราะความบริสุทธิ์ของเด็กคือชีวิตทั้งชีวิตของเด็ก เพราะฉะนั้น เธอได้ทุ่มเททั้งหมดที่มีในชีวิตลงไปในงานศิลปะนั้นๆ แล้ว นี้คือคุณค่ามหาศาลของงานศิลปะเด็ก

ผิดกับงานศิลปะของศิลปินผู้ใหญ่ที่มักเต็มไปด้วยความคิดและจริตปรุงแต่ง ซึ่งไม่เหลือความบริสุทธิ์ไว้เลยด้วยซ้ำไป

งานกวีวันละบทของรินรักวันนี้จึงมีค่ามหาศาลอยู่ในงานแต่ละบท แต่ละวันนั้นๆ เอง

เมื่อเธอโตขึ้น หวนกลับมาอ่านกวีเหล่านี้ เธอจะได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชีวิตเธอเองว่ามีอยู่มากมายจนมิอาจประเมินได้ด้วยสิ่งใด

รินรักมีน้องสาวชื่อรักเรา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เธอเขียนถึงน้องที่ป่วยดังนี้

น้องป่วย

ป๊าสอนให้รักน้อง

ยามน้องร้องไม่สบาย

น้องอ้วกจนเกือบตาย

หนูใจหายน้องป่วยหนัก

หนูรีบวิ่งไปหา

แล้วบอกว่าไอ้น้องรัก

ตัวพี่ปวดใจนัก

เห็นน้องรักดูซึมซึม ฯ

พลอยใจหายไปด้วยนะหลานรินรักและหลานรักเรา หวังว่าคงสบายดีแล้วนะทั้งสองหลานสองรัก

ถ้ายกเอารูปแบบของกาพย์กลอนออกไป ข้อเขียนของรินรักก็เป็นดังบันทึกประจำวัน ที่เธอเลือกว่าจะเขียนบันทึกเรื่องอะไรดีในแต่ละวัน ซึ่งนี่ก็เป็นคุณค่ามหาศาลแล้ว

หนึ่งคือคุณค่าของเรื่องราวแต่ละวันที่ผ่านมาและผ่านไปในชีวิต

สองคือคุณค่าของการได้จัดระเบียบความรู้สึกนึกคิดที่มีในแต่ละวัน

คุณค่าสองประการนี้แหละที่คนเรามักละเลยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

จนกลายเป็นความบกพร่องในชีวิต ไม่เว้นเลยสักคน

บทร้อยกรองหรือบทกวีนั้นเป็นศิลปะ ยิ่งได้ฝึกฝนจนกลายเป็นความชำนาญถึงขั้นชนิดที่เรียกว่าเป็น “นายของภาษา” ด้วยแล้ว บทกวีจะกลายเป็นภูมิปัญญาที่เป็น “พลังปัญญาของสังคม” สมดังวาทะของท่านอาจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ท่านว่าไว้นั้น

งานศิลปะทั้งปวงไม่จำเพาะบทกวี เป็นองค์รวมของ “ภูมิปัญญา” โดยที่ประมวลเอาความรู้สึกนึกคิดมารังสรรค์เป็นงานศิลปะนั้นๆ ได้

นี้เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพของคนที่ต้องมีทั้งชีวิต โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาพึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

การศึกษาวิชาการนั้น เป็นวิชาชีพ

การศึกษาวิชาศิลปะ เป็นวิชาชีวิต

ที่เรายังอ่อนด้อยอยู่ก็คือ “วิชาชีวิต” นี่เอง

อ่านกวีกันละบทของรินรักแล้วก็อยากให้กระทรวงศึกษาฯ ได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ไปมอบรางวัลหรือยกย่องอะไรให้หลานรินรักต้องกลายเป็นลูกโป่งลอยลมเคว้งคว้าง

แต่อยากให้คุณครูใส่ใจกับ “วิชาชีวิต” อย่างที่ ด.ญ.รินรักทำอยู่เป็นประจำนี้ด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ได้รับความรู้สึกอย่างที่รินรักมีต่อครูของเธอคนนี้

ครูอ๊อด

วันเกิดของครูอ๊อด

หนูอยากกอดครูสักที

แต่เผอิญวันนี้

หนูไม่มีเวลาเลย

พอได้พบครูอ๊อด

หนูได้กอดอย่างเปิดเผย

ตัวหนูนั้นอยากเอ่ย

รักจังเลยครูคนนี้ ฯ

อิจฉาครูอ๊อดจัง

—————————————————–

หน้ากาก

หน้ากากอนามัย

ฉันสงสัยเป็นนักหนา

ทำไมมีราคา

แพงนักหนาแพงเกินไป

หรือผ้าทำจากทอง

ฉันก็มองอย่างสงสัย

ดูแล้วก็ไม่ใช่

แล้วทำไมขายแพงจัง

ผู้แต่ง รินรัก แซ่โค้ว

15 มีนาคม 2563

กลอนลำดับที่ 368

กวี

ฉันแต่งกลอนทุกวัน

เพื่อความฝันอันแสนไกล

ฉันแต่งด้วยหัวใจ

ด้วยความใฝ่และภักดี

แล้วอีกไม่นานนัก

สิ่งที่รักของฉันนี้

จะได้เป็นกวี

เป็นสิ่งที่ฉันฝันไว้

ผู้แต่ง รินรัก แซ่โค้ว

23 กุมภาพันธ์ 2563

กลอนลำดับที่ 347