นงนุช สิงหเดชะ : จาก “เดวิด คาเมรอน” Brexit ถึง “อภิสิทธิ์” exit รัฐธรรมนูญ

กว่าบทความนี้จะปรากฏต่อสายตาผู้อ่าน ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคมของไทย ก็คงปรากฏออกมาแล้วในทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์เรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับสภาพที่เกิดขึ้นกับพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษตอนก่อนจะมีการลงประชามติว่าชาวอังกฤษต้องการให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือยังคงอยู่ต่อไป

ที่ว่าคล้ายกันก็เพราะแม้แต่ภายในพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ยังมีความเห็นแตกแยกกันเองไปคนละทาง โดยแบ่งเป็นก๊ก

ก๊กหนึ่งจับมือกันรณรงค์ให้คนอังกฤษโหวตออกจากอียูหรือที่เรียกว่า Brexit

มี นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนเป็นหัวหอกร่วมด้วยกับคนสำคัญระดับรัฐมนตรีในพรรคอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่ง

ก๊กนายบอริส จอห์นสัน ไปผนึกกำลังกับ นายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเคอินดีเพนเดนต์ ซึ่งเป็นตัวพ่อในการรณรงค์ให้ออกจากอียู ซึ่งนายฟาราจ ชาตินิยมมาก ชอบสวมถุงเท้าเป็นลายธงชาติอังกฤษ

ส่วน นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น อยู่ในซีกที่ต้องการให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป

การจัดให้มีการลงประชามติครั้งนี้ เป็นไปตามคำสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้งสมัย 2 ของนายคาเมรอนที่ว่า หากได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 จะนำเรื่องการออกหรือไม่ออกจากอียูไปให้ชาวอังกฤษลงมติตัดสินอนาคตตัวเอง

ถือว่านายคาเมรอนเอาเรื่องประชามติมาเป็นเดิมพันตำแหน่งตัวเองเลยทีเดียว

 

เหตุที่นายคาเมรอนต้องหาเสียงด้วยการให้สัญญาว่าจะเปิดให้มีการลงประชามติเรื่องออกหรือไม่ออกจากอียู ก็เพราะในขณะนั้นคะแนนนิยมของพรรค นายไนเจล ฟาราจ ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดพรรคของนายคาเมรอน ชนะเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หลังจากนั้นเขาได้พยายามอย่างหนักจนกระทั่งสามารถเจรจากับอียูเพื่อขอแก้ไขหรือผ่อนปรนเงื่อนไขบางอย่างกับอียูที่ชาวอังกฤษไม่ปลื้มจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นายคาเมรอนเริ่มมีความมั่นใจว่า หากมีการลงประชามติ คนอังกฤษก็จะน่าโหวตอยู่ในอียูต่อไป เพราะข้อกังวลบางอย่างได้รับการแก้ไขผ่อนปรนแล้ว

ก่อนวันลงประชามติ โพลออกมาว่าฝ่ายโหวตให้อยู่ในอียูต่อไปนำอยู่เล็กน้อย แม้แต่ในวันลงประชามติครึ่งแรกก็มีท่าทีเป็นอย่างนั้น แต่ท้ายที่สุดพลิกโผ กลายเป็นว่าฝ่ายต้องการให้ออกชนะไปฉิวเฉียด

ผลก็คือ เดวิด คาเมรอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันถัดมา ทั้งที่เพิ่งดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้เพียง 1 ปี 2 เดือน

เขาสร้างประวัติศาสตร์ 2 อย่างในการเมืองอังกฤษ คือเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษอายุน้อยที่สุดคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์อังกฤษในรอบ 700 กว่าปี และยังเป็นผู้นำคนแรกที่พาอังกฤษออกจากอียู

 

ส่วนพวกที่รณรงค์ให้ออก นาทีแรกที่รู้ผลอาจรู้สึกยินดีในชัยชนะ แต่พออีกไม่กี่ชั่วโมงและอีกหลายวันต่อมาดีใจไม่ออก เมื่อเห็นค่าเงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ 30 กว่าปี สะท้อนให้เห็นว่าค่าออกจากอียูนั้นมีราคาแพงมาก แถมยังเกิดความวุ่นวายในสังคมเมื่อคนอีกมากไม่พอใจเพราะต้องการอยู่ในอียูต่อไป ถึงกับลงชื่อขอให้มีการลงประชามติใหม่

ไนเจล ฟาราจ ลาออกจากหัวหน้าพรรคยูเคอินดีเพนเดนต์ อ้างว่าเพราะบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว แต่สื่อกระแหนะกระแหนว่า ชิ่งหนีหลังจากก่อเรื่องแล้วต่างหาก หลังจากเห็นแล้วว่าปฏิกิริยาของคนในประเทศเป็นอย่างไร เผลอๆ อาจเดินถนนไม่ได้

ขณะเดียวกัน แม้ฝ่ายอียู โดยเฉพาะ 6 ประเทศที่เป็นสมาชิกก่อตั้งอียู จะออกมาขับไล่อังกฤษให้ดำเนินการกระบวนการออกจากอียูให้เสร็จสิ้นโดยเร็วอย่าเตะถ่วงเพราะไม่เป็นผลดีกับใคร แต่จะเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษมีท่าทีอิดเอื้อนไม่อยากรีบออก แต่จะไม่ออกก็ไม่ได้เพราะไม่มีทางที่อียูจะรับกลับเข้าไปอีกเพราะทำแสบไว้เยอะ

บางทีกรณีของอังกฤษนั้น สะท้อนธรรมชาติของนักการเมืองที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณตัดต่อเอาข้อมูลบางส่วนมาโน้มน้าวให้ประชาชนตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตและความเป็นความตายของประเทศ โดยที่ประชาชนไม่ได้ศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองรอบด้านเป็นสิ่งอันตราย

กรณีพรรคประชาธิปัตย์ของไทย ซึ่งมีทั้งฝ่ายรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็น่าสนใจว่าสถานการณ์พรรคนี้หลังวันลงประชามติจะเป็นอย่างไร เพราะตัวหัวหน้าพรรคคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาแถลงส่วนตัวว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเกรงว่าจะเปิดช่องให้นักการเมืองที่ทำผิดในคดีจำนำข้าวหลุดคดีได้

สรุปง่ายๆ คือไม่พอใจมาตรการปราบโกงที่ถือเป็นจุดเด่นตามที่ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญอ้าง

ขณะที่อีกหลายคนที่มีชื่อเสียงในพรรค ก็ออกมาสวนทางกับหัวหน้าพรรค โดยประกาศจะรับร่างรัฐธรรมนูญ

แบ่งเป็นก๊ก รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เลยเกิดสภาพที่ว่าต่างฝ่ายต่างมีคนออกมาถือหาง แล้วก็สาธยายเหตุผลกันไป แต่ก็ชัดว่าคราวนี้ ก๊กชวน-อภิสิทธิ์ อยู่ตรงข้ามกับก๊กสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อาจประสานรอยร้าวกันไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะถ้าหากผลประชามติออกมาว่าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ จะเห็นว่ามีท่วงทำนองกั๊กๆ อยู่พอสมควร กล่าวคือ ต้องการกันข้อครหาในอนาคตว่าชอบเผด็จการ จึงต้องออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ต้องการชนกับ คสช. โดยตรง เพราะเกรงจะเสียคะแนนนิยมจากประชาชนอีกฝั่งหนึ่ง โดยเฉพาะซีก กปปส. หรือกลุ่มนกหวีด

ดังนั้น จะเห็นว่า แม้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับออกตัวไว้ล่วงหน้าว่าไม่ต้องการให้ใครฉวยโอกาสนำจุดยืนของตน ไปปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายหากว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ