เทศมองไทย : ปิดเมืองสู้โควิด-19 เรียนรู้จากสิงคโปร์

เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ระบาดออกไปทั่วโลกไม่เว้น ไม่มีเลือกว่าเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก ยากจนหรือร่ำรวย จนถึงขณะนี้ รอยเตอร์สบอกว่ามีประเทศ 194 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก เผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดแล้ว

สิงคโปร์เป็นชาติที่สองรองจากประเทศไทย ที่เกิดการระบาดขึ้นนอกจากในจีนซึ่งเป็นจุดกำเนิดโรค

จนถึง 25 มีนาคมนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในสิงคโปร์ยังคงจำกัดอยู่ที่ 558 คน มีผู้เสียชีวิตเพียง 2 คน ซึ่งนับว่าต่างกันมากกับหลายชาติในตะวันตก ซึ่งเริ่มต้นการระบาดทีหลัง แต่ทั้งยอดติดเชื้อสะสมและยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเป็นติดจรวด

สิงคโปร์กลายเป็น “แบบอย่าง” ของการต่อสู้กับเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ องค์การอนามัยโลกยกย่องและเรียกร้องให้หลายๆ ชาติเรียนรู้จากสิงคโปร์ ควบคู่ไปกับเกาหลีใต้ และไต้หวัน อีกสองประเทศที่ถือเป็น “ซัคเซสส์ สตอรี่” ในการเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ ที่มีให้เห็นไม่มากนัก

อันที่จริง หลักการที่สิงคโปร์ใช้ แทบไม่ต่างอะไรกับหลักการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคที่หลายๆ ประเทศใช้ นั่นคือ การตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด แกะรอยผู้คนที่ผู้ติดเชื้อผู้นั้นสัมผัส สัมพันธ์ใกล้ชิดให้ได้มากที่สุด โดยเร็วที่สุดเพื่อให้กักตัว ตามมาตรการเฝ้าระวังโรค

หลายประเทศก็ทำเช่นนั้น ไทยก็ทำอย่างเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ยัง “คุมไม่อยู่” จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศอย่างที่เห็นกันอยู่

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

มาตรการเหมือนกันโดยหลักการก็จริง แต่เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียด จะพบเห็นความแตกต่างกันมากมาย ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ปรากฏห่างกันลิบลับ

ตัวอย่างแรก คือการแกะรอยและการสอบสวนโรคครับ

ทางการสิงคโปร์เรียกวิธีการของตัวเองว่า “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ซึ่งเริ่มนำมาใช้เร็วมากตั้งแต่เจอกรณีติดต่อระหว่างคนในท้องถิ่น ที่เริ่มเมื่อราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คอนแทกต์ เทรซซิ่ง ของสิงคโปร์มีทีมงานแยกทำหน้าที่เป็น 2 ส่วน เริ่มต้นทำงานต่อเนื่องกันทันทีที่พบผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19

ทีมสอบสวนโรคซักประวัติผู้ป่วยแต่ละรายที่เข้ามารักษาตัวอย่างละเอียดยิบ ไม่เพียงกำหนดไทม์ไลน์ของพฤติกรรมของตนเองเท่านั้น ยังซักลึกลงไปถึงลักษณะของความสัมพันธ์ ระยะไกล-ใกล้ การสัมผัส ฯลฯ

ผู้ป่วยรายหนึ่งบอกว่า ขณะที่ได้รับการรักษาตัวแยกต่างหากในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ซักถามอยู่นานถึง 3 ชั่วโมง!

ไล่เลี่ยกันนั้น อีกทีมหนึ่งก็เริ่มการติดต่อไปยังผู้คนในกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้น มักเริ่มจากการโทรศัพท์ไปจนสามารถถึงตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเหล่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในสิงคโปร์

คำถามสำคัญของเจ้าหน้าที่ก็คือ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง บุคคลดังกล่าวเคยอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อหรือไม่ และพฤติกรรมหลังจากนั้นเป็นอย่างไร เข้าไปใกล้ชิดชนิดที่จะแพร่ให้กับใครอีกบ้าง

 

กรณีตัวอย่างก็คือ ครูสอนโยคะชาวอังกฤษรายหนึ่ง จู่ๆ ได้รับโทรศัพท์นี้ ถามว่า เมื่อเวลา 18.47 น.ของวันพุธ เคยใช้แท็กซี่ทะเบียนนี้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เธอใช้เวลาอยู่บนแท็กซี่เพียง 6 นาที จนเจ้าตัวแทบจำไม่ได้ด้วยซ้ำ

หลังจากยืนยันข้อมูล เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่มาถึงที่พัก ยื่นหนังสือสัญญาฉบับหนึ่งให้

ในหนังสือสัญญาดังกล่าว กำหนดไว้ว่า ผู้ลงนามยอมรับการกักตัวเองเป็นเวลานาน 14 วัน โดยรับรู้ว่า หากละเมิดด้วยการออกนอกสถานที่ จะมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 227,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใครให้การเป็นเท็จ ถูกลงโทษหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน 2 คนถูกดำเนินคดีนี้อยู่

 

ถามว่า โกหกแล้วถูกตรวจจับได้อย่างไร?

คำตอบคือ เพราะในระบบนี้มีทีมที่ 3 ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในกรณีที่ไม่สามารถได้รับข้อมูลจากการซักประวัติได้ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมาถึงโรงพยาบาลในสภาพป่วยหนัก หรือในกรณีที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

ทีมที่ 3 นี้ หน้าที่หลักแต่เดิมคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม เครื่องมือสำคัญที่ใช้ก็คือ กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ทั่วไปในที่สาธารณะและท้องถนน

ผู้ติดเชื้อแต่ละรายจะถูกแกะรอยย้อนหลังละเอียดยิบเพื่อควานหาคนในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะมีกรณีมากน้อยเท่าใด จะมีทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการคอนแทกต์ เทรซซิ่งนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 คน

ในเวลาเดียวกันทุกคนที่อยู่ในสิงคโปร์ก็ตระหนักดีว่า ตนอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เพียงต้องไม่ละเมิดกฎหมายเท่านั้น ยังต้องให้ความร่วมมือกับทางการชนิดไม่ยอมก็ไม่ได้ด้วยอีกต่างหาก