ต่างประเทศ : ความผิดพลาดของ “อิตาลี” สู่หายนะ “โควิด-19” ที่ต้องเรียนรู้

SENSITIVE MATERIAL. THIS IMAGE MAY OFFEND OR DISTURB Members of the medical staff in protective suits treat patients suffering from coronavirus disease (COVID-19) in an intensive care unit at the San Raffaele hospital in Milan, Italy, March 27, 2020. REUTERS/Flavio Lo Scalzo

เวลานี้อิตาลีกลายเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วิกฤตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้ติดเชื้อพุ่งไปแล้วถึงมากกว่า 63,000 ราย

แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะไม่มากเท่ากับจีน แต่ที่น่าตกใจคือยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งทะลุไปเกิน 6,000 ราย มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตในจีนที่มีราว 3,300 รายไปถึง 2 เท่า

นั่นยิ่งน่าประหลาดใจ เมื่อประชากรอิตาลีคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีนทั้งประเทศ

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับอิตาลีในเวลานี้?

อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ นั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผล แต่ประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งพบผู้ติดเชื้อตามหลังอิตาลีเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทำไมมีสถานการณ์ที่ไม่ใกล้เคียงกับอิตาลีแม้แต่น้อย

เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์คือ อิตาลีเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” อายุเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 45 ปี

นั่นส่งผลให้ไวรัสโควิด-19 ที่อันตรายกับผู้สูงอายุอยู่แล้วคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก อายุเฉลี่ยผู้เสียชีวิตในอิตาลีจึงอยู่ที่ราว 80 ปี

อีกเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ “วัฒนธรรม” ในประเทศซึ่งประชากรหลากหลายช่วงอายุมักจะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งผลให้เชื้อแพร่ระบาดไปสู่ผู้สูงอายุอย่างง่ายดาย

ต่างจากชาติสังคมผู้สูงอายุอย่างญี่ปุ่น ที่มักจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดได้

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง เช่น แคว้นลอมบาร์ดี แคว้นตอนเหนือของอิตาลี จุดที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ เป็นตัวจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของอิตาลี และมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับหลายประเทศโดยเฉพาะ “จีน” ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโลก

รวมไปถึงเหตุผลอย่างการรับมือผู้ติดเชื้อเคสแรกๆ ในโรงพยาบาลที่ผิดพลาด รวมไปถึงปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศทำให้ประชากรเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากไวรัสได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่นั่นก็จำเป็นต้องได้ใช้การพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะมีน้ำหนักมากที่สุดก็คือปัญหาการบริหารงานของภาครัฐในการรับมือกับเชื้อไวรัสที่มองไม่เห็น ที่หลายๆ ประเทศควรมองเป็นบทเรียน

รัฐบาลอิตาลีและผู้นำทางการเมืองมองปัญหาการแพร่ระบาดด้วยความชะล่าใจ

นายกรัฐมนตรีจุสเซ็ปเป้ คอนเต้ แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า อิตาลีเตรียมพร้อมอย่างดีที่จะรับมือกับการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการที่เข้มข้นที่สุดในภูมิภาคยุโรป

หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ในลอมบาร์ดี นักการเมืองบางรายรีบออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า ประชาชนควรใช้ชีวิตปกติต่อไป

“เมืองมิลาน” เมืองเอกของแคว้นลอมบาร์ดี เมืองหลวงทางการเงินของอิตาลี ถึงกับมี “คลิปวิดีโอ” ที่นักการเมืองเผยแพร่ออกมาพร้อมสโลแกน “มิลานจะไม่หยุด”

แม้อิตาลีจะมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามมาอย่างรวดเร็ว อย่างมีการปิดเมือง 11 เมืองในแคว้นลอมบาร์ดี และอีก 1 เมืองในแคว้นติดกันอย่างเวเนโต้ ครอบคลุมประชากร 50,000 คน มีการประกาศปิดโรงเรียน ห้ามการรวมตัวกันในที่สาธารณะ

ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม อิตาลีประกาศปิดประเทศ ประกาศปิดร้านอาหาร ร้านค้า ขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกจากบ้าน เว้นแต่ไปทำงานหรือด้วยเหตุผลจำเป็น และเวลานี้ก็ออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีกด้วยการปิดภาคธุรกิจที่ไม่จำเป็นลง ส่งผลให้หลายโรงงานต้องปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 3 เมษายนนี้

อิตาลีเป็นประเทศโลกตะวันตกชาติแรกที่ดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และนั่นดูเหมือนเริ่มได้ผล เมื่อในเวลานี้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวอาจต้องใช้เวลายืนยันอีกสักระยะ

อย่างไรก็ตาม ด้วยยอดผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่พุ่งสูงก่อนหน้านี้ส่งผลให้รัฐบาลอิตาลีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดำเนินมาตรการที่ “ไม่ชัดเจนเพียงพอ”

รัฐบาลอิตาลีถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะปิดจังหวัดเบอร์กาโม จังหวัดในแคว้นลอมบาร์ดี ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในอิตาลีในเวลานี้

ก่อนหน้านี้แผนการปิดหลายเมืองตอนเหนือของอิตาลีเล็ดลอดออกไปถึงมือสื่อก่อนที่จะมีการลงนามอนุมัติ นั่นส่งผลให้มีประชาชนนับหมื่นคนอพยพลงใต้

กลายเป็นการแพร่เชื้อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคอนเต้ประกาศมาตรการปิดโรงงานผลิตสินค้าที่ไม่จำเป็น และรัฐบาลอิตาลีใช้เวลาตลอดทั้งวันถัดมาอธิบายว่าโรงงานใดที่จะเข้าข่ายโรงงานที่ผลิตสินค้าไม่จำเป็นกันแน่

เวลานี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิตาลีจำนวนมากถึง 4,000 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าแพทย์และพยาบาลสัมผัสผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และอาจกลายเป็นผู้แพร่เชื้อต่อเสียเอง

เวลานี้แม้รัฐบาลอิตาลีดำเนินการตรวจเชื้อให้กับผู้มีความเสี่ยงไปแล้วมากกว่า 230,000 ราย แต่รัฐก็ล้มเหลวที่จะดำเนินยุทธวิธีการทดสอบ การติดตามตัว และการกักกันโรคได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ แบบเดียวกันกับที่เกาหลีใต้และสิงคโปร์ทำได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

ความล้มเหลวของอิตาลี ดูเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ ทั้งการประกาศปิดเมืองที่มีการแพร่ระบาดช้าเกินไป การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ เช่นเดียวกันกับการมีมาตรการตรวจเชื้อ ติดตามตัว และการกักกันโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารจากภาครัฐที่ไม่ชัดเจน สร้างความสับสนให้กับประชาชน

เวลานี้ได้แต่หวังว่าผู้มีอำนาจในหลายๆ ประเทศจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความล้มเหลวของอิตาลีไม่มากก็น้อย