รายงานพิเศษ / จาก ศอฉ.เสื้อแดง ถึง ศอฉ.COVID ชะตาอาถรรพ์ 3 ป. กว่าจะคลอด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ‘บิ๊กตู่’ คุมเกมทหาร ตั้ง ‘บิ๊กกบ’ หัวหน้าทีมมั่นคง กับบทบาท ‘บิ๊กแดง’ กลางวิกฤต

รายงานพิเศษ

 

จาก ศอฉ.เสื้อแดง ถึง ศอฉ.COVID

ชะตาอาถรรพ์ 3 ป.

กว่าจะคลอด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

‘บิ๊กตู่’ คุมเกมทหาร

ตั้ง ‘บิ๊กกบ’ หัวหน้าทีมมั่นคง

กับบทบาท ‘บิ๊กแดง’ กลางวิกฤต

 

ในที่สุด บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้วิกฤต COVID-19

หลังจากที่เตรียมคิดไว้ล่วงหน้ามา 3 สัปดาห์ ว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ หรือว่าใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยสั่งการให้กลาโหม กองทัพ และ กอ.รมน. คิดวางแผนรองรับความเหมาะสม

แต่ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็เลือกที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 หรือ “ศอฉ.โควิด”

รวมทั้งตัดสินใจนั่งเป็นประธาน ศอฉ.ด้วยตนเอง

ด้วยในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจวางใจให้ใครรับผิดชอบแทน

เพราะหากใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน.อยู่แล้ว ก็จะต้องมอบหมายให้กองทัพบกซึ่งเป็นกำลังหลักของ กอ.รมน. มารับผิดชอบหลัก

นั่นหมายถึงว่า จะต้องมอบหมายให้บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

แต่หากใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางกองทัพได้เสนอโมเดลในการทำงานภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย

ต้องให้บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการคุมกำลังทั้งหมด

 

แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็เลือกโมเดลของตนเอง ในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.COVID และนั่งเป็นประธาน ศอฉ.ด้วยตนเอง

โดยที่ไม่ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนใดทำหน้าที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด

เช่น ศอฉ.ในเหตุการณ์กระชับพื้นที่คนเสื้อแดง ปี 2552-2553 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่สนิทสนมกับทหาร เป็น ผอ.ศอฉ. และใช้ ร.11 รอ. เป็นกองบัญชาการ

ทั้งนี้เพราะในเวลานั้น บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ส่วนบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นรอง ผบ.ทบ. จึงรู้ปัญหาและจุดอ่อนที่ให้รองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ. เป็นอย่างดี เพราะในเวลานั้น พี่น้อง 3 ป. สนิทสนมกับนายสุเทพเป็นอย่างมาก

เรียกได้ว่าพี่น้อง 3 ป.นี้ ดวงชะตามักทำให้เกิดสถานการณ์วิกฤตถึงขั้นต้องมี ศอฉ.ขึ้นมาอีกครั้งในยุคนี้ เพียงแต่ไม่ใช่วิกฤตการเมือง แต่เป็นวิกฤตโรคระบาด ที่จะส่งผลต่อคะแนนนิยมรัฐบาลและตัวนายกฯ เองด้วย แถมเป็น ศอฉ.ที่ทำเนียบรัฐบาล

มา ศอฉ.ยุค 2563 นี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ เป็นประธาน ศอฉ. ก็เกรงว่าพี่ป้อมจะไม่ไหว เพราะสุขภาพไม่แข็งแรง แถมเป็นวัยเสี่ยงด้วย

แม้ พล.อ.ประวิตรพร้อมที่จะเป็นประธาน ศอฉ.ก็ตาม ถึงขั้นเสนอว่า ควรประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวดเดียว 3 เดือนเลย แต่นายกฯ ตัดสินใจให้ใช้คราวละ 1 เดือนก่อน ดูตามสถานการณ์ ถ้าเอาไม่อยู่ก็ประกาศต่อทีละ 1 เดือน

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ห่วงสุขภาพพี่ใหญ่ เพราะผู้นำในการต่อสู้เชื้อโรคก็ควรจะดูแข็งแรง

หากมอบให้รองนายกฯ คนอื่นๆ เป็นประธาน ศอฉ.เองก็อาจมีปัญหาเรื่องการสั่งการ เพราะก็มีความขัดแย้งกันอยู่ และไม่มีบารมีมากพอ เพราะต้องสั่งการหลายกระทรวง รวมทั้งฝ่ายทหารด้วย

แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เป็นกำลังหลักของนายกฯ ในการร่างคำสั่งต่างๆ และเรียกประชุมทุกฝ่ายที่ร่วมเป็น ศอฉ.

พล.อ.ประยุทธ์จึงนั่งเป็นประธาน ศอฉ.ด้วยตนเอง ไม่ใช้ชื่อ ผอ.ศอฉ. เช่นในอดีต และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ รวมทั้งกฎหมายราว 40 ฉบับที่มีของแต่ละกระทรวง

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็น รมว.กลาโหมอยู่แล้วด้วย จึงไม่ปล่อยมือให้ใคร

แม้ว่าเดิมในส่วนของกองทัพ คาดหวังกันว่านายกฯ จะมอบให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็น ผบ.เหตุการณ์ และคุม 3 เหล่าทัพ

แต่ ทบ.เป็นเหล่าทัพใหญ่สุดและเป็นกำลังหลัก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่วางใจให้ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.เหตุการณ์

จนถูกตั้งข้อสังเกตกันในกองทัพว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้วางใจทหาร ไม่วางใจกองทัพหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวลือรัฐประหาร และบางกลุ่มเรียกร้อง หรืออาจเรียกว่ายุให้ พล.อ.อภิรัชต์ยึดอำนาจ เพื่อแก้ปัญหาประเทศ หลังคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ลดลงจากการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดก่อนหน้านี้

พล.อ.ประยุทธ์เคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน และเคยขอให้รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกมาแล้ว ก่อนที่จะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ย่อมรู้ดีว่าการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ และหากมอบอำนาจให้ฝ่ายทหาร จะมีความเสี่ยงอย่างไร

อีกทั้งงานนี้ไม่ใช่สถานการณ์ม็อบการเมือง จลาจล แต่เป็นการต่อสู้กับเชื้อโรค พล.อ.ประยุทธ์จึงรวบอำนาจไว้เองภายใต้ ศอฉ.

แต่สูตรของ พล.อ.ประยุทธ์ คือตั้งปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นหัวหน้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละด้าน

แต่ทว่าไม่ได้ตั้งปลัดกลาโหมคุมความมั่นคง เพราะโดยสายงานแล้ว ปลัดกลาโหมไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ

นายกฯ จึงตั้งให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.ทหารสูงสุด อยู่ในคณะกรรมการ ศอฉ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท โดยให้ไปสั่งการยัง ผบ.เหล่าทัพและตำรวจ รวมทั้ง กอ.รมน. อีกทอดหนึ่ง

แต่ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แต่งตั้ง พล.อ.อภิรัชต์เป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของ ศอฉ. เกิดความหวาดระแวงใดหรือไม่

เพราะก่อนหน้านั้น มีกระแสข่าวสะพัดว่านายกฯ ไม่พอใจ จากการที่สนามมวยลุมพินีซึ่งเป็นของ ทบ.ไม่ยอมปิด ไม่ยอมเลื่อนการแข่งมวยแมตช์วันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อจำนวนมาก จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง

แม้จะเป็นความรับผิดชอบหลักของ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ที่เป็นนายสนามมวยลุมพินีก็ตาม แต่เพราะเขาติดเชื้อโควิดอยู่ด้วย กระแสจึงพุ่งไปที่ตัว ผบ.ทบ.

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่นายกฯ ต้องตั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์เป็นหัวหน้าด้านความมั่นคง ก็เพราะว่าจะต้องใช้กำลังทั้ง 3 เหล่าทัพและตำรวจ ก็จึงให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และมี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาฯ สมช. เป็นฝ่ายประสานงาน ศอฉ.

โดยหลังจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็เรียก พล.อ.พรพิพัฒน์เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องการใช้กำลังทหาร และ กอ.รมน.สนับสนุน ศอฉ.

 

ที่น่าจับตาคือ ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ใช้กำลังตำรวจเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. นายกฯตั้ง ผบ.ตร. อยู่ในคณะกรรมการ ศอฉ. ต่อจาก ผบ.ทหารสูงสุดด้วย แต่ไม่มี ผบ.3เหล่าทัพ

ประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะตำรวจเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอยู่แล้ว และต้องทำหน้าที่บังคับใช้ กม.ในการตั้งด่าน จุดตรวจด้วย

ประการที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ก.ตร. และระยะหลังมีความสนิทสนมกับบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. อย่างมาก

ถึงขั้นที่เคยสั่งให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ลงไปบัญชาการคลี่คลายสถานการณ์ที่ทหารปิดล้อม 7RKK ที่เขื่อนปัตตานี ต.ตาเซะ เมืองยะลา นาน 8 วัน จนมีปะทะทหารตาย-เจ็บ ที่ถูกวิจารณ์ว่า ข้ามหน้าข้ามตาฝ่ายทหาร แต่ยังดีที่บิ๊กเดฟ กับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเพื่อน ตท.20 ของทั้ง พล.ท.พรศักดิ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ จึงเคลียร์กันได้ จนที่สุดแม่ทัพภาคที่ 4 สั่งถอนกำลัง และยุติการปิดล้อมไปในที่สุด

แต่การตัดสินใจเช่นนี้ถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่วางใจในฝ่ายทหารเท่าใดนัก อีกทั้งตำรวจเหมาะสมกับภารกิจตั้งด่านตรวจสอบมากกว่า ทหารจึงเป็นกำลังเสริม เพราะจะต้องออกคำสั่ง แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

 

ซึ่งแม้จะให้ตำรวจเป็นกำลังหลัก แต่ทหารก็มีการเตรียมกำลังไว้สนับสนุน

แต่คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ให้ทหารมาช่วยในรูปแบบเหมือนตอนรัฐประหาร หรือตอนประกาศกฎอัยการศึกก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีการจัดตั้งกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อยฯ หรือที่เรียกกันติดปากในยุค กอ.รส. ว่า กองร้อย รส.

แต่มาคราวนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมือง จึงให้เรียกว่า “กองร้อยช่วยเหลือประชาชน”

ที่จะอยู่ภายใต้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 หรือ “ศอฉ.โควิด” ที่นายกฯ นั่งเป็น ผอ.ศอฉ.ด้วยตนเอง

โดยจะใช้กรอบกำลังของ กอ.รมน. ในการจัดกองร้อยช่วยเหลือประชาชน

จัดการใช้กำลังเป็น 3 ระดับ คือ ในระดับที่ 1 ยังไม่ใช้กำลังทหาร

แต่ให้ทำในนาม กอ.รมน.จังหวัด โดยให้รอง ผอ.รมน.ฝ่ายทหาร หรือที่เรียกกันติดปากว่ารองผู้ว่าฯ ฝ่ายทหาร ในแต่ละจังหวัด ใช้กำลังพลเรือน อส. มหาดไทย และตำรวจเท่านั้น ในการบังคับใช้ กม. และดูแลตามคำสั่ง ศอฉ.

ระดับที่ 2 คือ ใช้กำลังสารวัตรทหารของมณฑลทหารบก (มทบ.). ในแต่ละจังหวัด จำนวน 2 กองร้อย กองร้อยละ 50 นาย โดยจะเรียกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารสารวัตร ที่มีอำนาจตาม กม.

ส่วนระดับที่ 3 ที่เป็นขั้นรุนแรง ต้องบังคับใช้ กม.กับประชาชนอย่างเข้มข้น ทหารจะต้องออกไปเสริมกำลังตำรวจ โดยจัดเป็นกองร้อยช่วยเหลือประชาชนในทุกกองพล

ทั้งนี้ ในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วย ตามที่เคยดูแลเมื่อครั้งเป็นกองร้อย รส. หลังการรัฐประหาร 2557 ยาว 5 ปี

แต่เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างใหม่ของ พล.1 รอ. พล.ร.2 รอ. พล.ม.2 รอ. ซึ่งเป็น “ทหารคอแดง”

ที่ขึ้นอยู่กับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) จึงทำให้ ทบ.นำกำลังของ มทบ.11 พล.ร.9 และ พล.ร.11 และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) มาเสริมแทน โดยแบ่งโซนใน กทม.กันรับผิดชอบ

แต่ยังมีบางส่วน บางกองพันของ พล.1 รอ. พล.ร.2 รอ. พล.ม.2 รอ. ที่ไม่ได้เป็นทหารคอแดง ได้มาเสริมกำลังกองร้อยช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ด้วย

โดยมีกำลังสารวัตรทหารจาก พัน. สห.11 ของ มทบ.11 เป็นกำลังหลัก ในการปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในระดับที่ 2

ขณะที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศเตรียมกำลังไว้ 2 กองร้อย พร้อมสนับสนุนภารกิจ ศอฉ. ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ ในแถบที่ตั้งของหน่วยและฝั่งธนบุรี ส่วนกองทัพอากาศดูแลพื้นที่ดอนเมือง

ทั้งนี้ การตั้งด่านจุดตรวจจะทำในลักษณะของการเป็นจุดคัดกรองด้วยว่า ใครทำอะไร ที่ไหน จะไปไหน โดยเฉพาะการเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ จะต้องกรอกแบบฟอร์ม เสริมตำรวจ และ อส.

 

แต่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย และรองรับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.อภิรัชต์เลยชิงประกาศเคอร์ฟิวของ ทบ. ก่อนตั้งแต่ 25 มีนาคม 2563

โดยห้ามกำลังพลที่มีบ้านพักในค่ายทหาร ออกนอกหน่วย หลัง 21.00 น. และห้ามนำคนนอกมาพักโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ผบ.หน่วย

รวมทั้งห้ามกำลังพลเดินทางออกนอก กทม. หรือเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นที่มีราชการจำเป็น โดยต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน

และยังห้ามไม่ให้ปล่อยพลทหารลากลับบ้าน กลับภูมิลำเนา เพื่อลดการเคลื่อนย้ายคน ลดการแพร่กระจายของเชื้อ

ถือเป็นมาตรการที่ช่วยลดปัญหาได้ไม่น้อย เพราะ ทบ.มีกำลังพลกว่า 2 แสนคน

 

แต่กระนั้นก็ตาม การที่ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้มีบทบาทหลักใน ศอฉ. รวมทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้ตั้ง พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.เหตุการณ์ ก็นำมาซึ่งข่าวลือหลายกระแส

ไม่แค่นั้น แผนการใช้กำลังในส่วนของ บก.ทัพไทยที่ได้เตรียมแผนไว้นั้นก็ไม่ตรงกับแนวทางของ พล.อ.อภิรัชต์ จนต้องมีการปรับกันใหม่

เพราะ พล.อ.พรพิพัฒน์ไม่ได้คุม กอ.รมน. จึงต้องให้ พล.อ.อภิรัชต์ และบิ๊กเป้ง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยวัฒน์ เสธ.ทบ. และเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นหลัก

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะไม่ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงใน ศอฉ. แต่ก็มีบทบาทเด่นในฐานะ ผบ.ทบ.

โดยเฉพาะการส่งกำลังทหารไปทำความสะอาด และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งหน่วยในต่างจังหวัด ก็รับผิดชอบในพื้นที่แต่ละจังหวัด

ที่ทำให้ทหารได้คะแนนไม่น้อย เพราะแม้จะไม่ได้ผลชัดเจน แต่ในแง่ความรู้สึก ทำให้ประชาชนอุ่นใจมากขึ้น

แต่ที่ฮือฮาคือ เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์สวมชุดกันสารพิษของกรมวิทยาศาสตร์ ทบ. ไปร่วมกับกำลังพลพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแถวป้ายรถเมล์และสถานี BTS อารีย์ เพื่อให้กำลังใจลูกน้อง ที่ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย

ในคืนวันเกิด 23 มีนาคมของตนเอง ส่งท้ายวันครบวันเกิด 60 ปี และส่งท้ายการเป็น ผบ.ทบ. ที่เหลือเวลาอีก 6 เดือนเท่านั้น

          ท่ามกลางการจับตามองในทุกย่างก้าวของ พล.อ.อภิรัชต์ ในวิกฤตของบ้านเมือง นับจากนี้…