คนของโลก : อัดนัน ซูร์ฟี ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอิรักคนใหม่

อัดนัน ซูร์ฟี อดีตผู้ว่าราชการเมืองนาจาฟ เมืองของชาวมุสลิมชีอะห์ วัย 54 ปี ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีบาร์ฮัม ซาเลห์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอิรัก คนที่ 2 ในปีนี้ หลังจากโมฮัมหมัด อัลลาวี ผู้ได้รับเสนอชื่อคนก่อนหน้า ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ผลจากการเจรจาที่ไม่ลงตัวจากกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่ม และไม่เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปีก่อน

ซูร์ฟีจบการศึกษาด้านศาสนาและเป็นสมาชิกพรรคดาวา พรรคการเมืองต่อต้านซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการอิรักผู้ล่วงลับ

หลังการลุกฮือต่อต้านซัดดัมที่ล้มเหลวในปี 1991 ซูร์ฟีหนีออกนอกประเทศไปยังซาอุดีอาระเบีย และเดินทางไปตั้งหลักยังสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับอิรักหลังสหรัฐส่งกำลังบุกอิรักในปี 2003

ซูร์ฟีเป็นผู้ถือสัญชาติอเมริกัน ขณะที่ภรรยา ลูกชาย 5 คนและลูกสาวสองคน ยังคงอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ภายใต้กฎหมายอิรักแล้ว ซูร์ฟีจะต้องสละสัญชาติอเมริกันเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิรัก ตำแหน่งซึ่งจะต้องได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภา

หลังจากซูร์ฟีเจรจาตั้งรัฐบาลได้ภายใน 1 เดือนข้างหน้านี้

 

ซูร์ฟีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการเมืองนาจาฟ โดยกองกำลังยึดครองของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2004 เพื่อต่อกรกับกองกำลังเมห์ดีของผู้นำศาสนานิกายชีอะห์อย่าง “มอคทาดา อัล-ซาเดอร์” ที่เปิดฉากโจมตีกองกำลังของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ซูร์ฟีกลับมาสร้างสัมพันธ์กับอัล-ซาเดอร์ เป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่สามารถกำหนดตัวผู้นำในสนามการเมืองอิรักในเวลานี้ได้อีกครั้ง

ขณะที่ซูร์ฟีสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมากขึ้นด้วยการปรากฏตัวทางรายการโทรทัศน์มากขึ้น ด้วยบุคลิกไร้หนวดเครา ผมสีดอกเลาหวีไปด้านหลังเรียบร้อย

ซูร์ฟีได้รับการยอมรับจากการริเริ่มโครงการทางสังคมและเศรษฐกิจหลายโครงการ และได้รับการพูดถึงในฐานะนักการเมืองชีอะห์สายกลางผู้ได้รับการค้ำจุนจากสายสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก

การเสนอชื่อแต่งตั้งซูฟีร์เป็นนายกรัฐมนตรีมีขึ้น 1 วันหลังการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอิรักที่ตั้งของกองกำลังต่างชาติ และมีขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ยิ่งกว่านั้น อิรักยังอยู่ในวิกฤตทางเศรษฐกิจในเวลาที่ราคาน้ำมันตกต่ำ ซ้ำเติมปัญหาทางการเมืองในประเทศจากการประท้วงที่กินเวลาหลายเดือนแล้ว

นักวิเคราะห์การเมืองอิรักระบุว่า การเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ในเวทีการเมืองระดับชาติของซูร์ฟีเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย

เนื่องจากอาจได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ต้องการล้างบางนักการเมืองหน้าเก่าออกไปให้หมด

 

ความท้าทายแรกที่ซูร์ฟีจะต้องเจอก็คือ การตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับทั้งจากกลุ่มการเมืองมุสลิมชีอะห์ มุสลิมสุหนี่ รวมถึงกลุ่มการเมืองตัวแทนชาวเคิร์ต รวมไปถึงต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ประท้วง ทั้งหมดนี้ต้องทำให้สำเร็จใน 30 วัน ความท้าทายซึ่งอัลลาวีทำไม่สำเร็จทันเส้นตายวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

ซูร์ฟีดำรงตำแหน่งผู้ว่าจนกระทั่งถึงปี 2015 และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่สองในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ในรัฐบาลผสมนำโดยอัล-ซาเดอร์ แต่ด้วยซูร์ฟียังไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐมนตรีหลังปี 2003 นั่นทำให้ถูกมองเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง และซูร์ฟีก็ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองต่างๆ

การที่จะได้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิรักนั้น ซูร์ฟีจำเป็นต้องก้าวผ่านแรงต่อต้านจาก “กลุ่มฟาตาห์” กลุ่มการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายกองกำลังฮาเช็ด อัลชาบี กลุ่มกองกำลังที่เคลื่อนไหวเป็นอิสระจากกองทัพอิรัก ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีกองกำลังต่างชาติในอิรักหลายครั้ง และมีสายสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน ชาติปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา

การก่อการของกลุ่มอัลชาบี ส่งผลให้เกิด “หลุมดำ” ด้านความมั่นคงในอิรักเอง ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองอิรักมองว่าจะทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาย่ำแย่ลง

ซูร์ฟีเองมีความท้าทายในการทำให้สถานการณ์ความมั่นคงในประเทศดีขึ้น และพัฒนาสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง