เพลงยาวพยากรณ์ฯ วรรณกรรมการเมือง เรื่อง ‘เฟกนิวส์’ สมัยอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเพทราชา มีเชื้อสายเจ้านายกรุงเก่า อยู่ย่านวัดบรมพุทธาราม [ซากวัดบรมพุทธาราม อยุธยา เหลืออยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ลายเส้นโดยชาวยุโรป)]

ชิงอำนาจ Game of Thrones ในอยุธยามีเป็นปกติและมีรุนแรงเกือบทุกครั้งที่ผลัดแผ่นดิน จะแตกต่างบ้างก็ลักษณะชิงอำนาจเท่าที่พบหลักฐานซึ่งไม่ครบถ้วน

เครื่องมือชิงอำนาจทางการเมืองมีประสิทธิภาพของกลุ่มพระเพทราชา คือ “ข่าวลือ” ใกล้เคียงทุกวันนี้เรียก “เฟกนิวส์” สร้างขึ้นใส่ร้ายพระนารายณ์ฯ ต่อมาเป็นที่รู้กันในนาม “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”

 

เพลงยาว “ข่าวลือ”
ทำลายฝ่ายตรงข้าม

วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ของกลุ่มพระเพทราชา กับ ออกหลวงสรศักดิ์ มีในงานวิชาการเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523) จะสรุปย่อมาดังนี้

ออกพระเพทราชามีความสัมพันธ์อันดีกับพระภิกษุสงฆ์ มีรายงานว่าสนิทชิดชอบดีกับพระสังฆราชแห่งละโว้ นอกจากนี้ยังได้อาศัยพระภิกษุเป็นตัวการยุยงให้ก่อการจลาจลขึ้นตามหัวเมือง มีผู้คนและกระสุนดินดำไว้ในมือเป็นอันมาก เห็นได้ชัดว่าออกพระเพทราชาได้พยายามนำเอาประชาชนเข้าร่วมในแนวร่วมของตนเพื่อต่อต้านฝรั่งและพระนารายณ์ด้วย

โดยอาศัยความร่วมมือกับพระภิกษุสงฆ์ ออกพระเพทราชารู้จักที่จะปลุกปั่นประชาชนตามวิถีทางวัฒนธรรมของประชาชน เช่น ใช้พราหมณ์ซึ่งเป็นโหราจารย์ทำนายว่าฝรั่งเศสจะถูกขับออกไป แม้ว่าจะได้รับการต้อนรับในทีแรก และจะมีการฆ่าฟันกันล้มตายอย่างมาก คำพยากรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดและทำให้จิตใจของคนพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ในต้นปี ค.ศ.1688 ได้เกิดข่าวลือว่าจะเกิดอาถรรพณ์แก่บ้านเมืองอันเป็นข่าวลือที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับข่าวลือเรื่องการประชวรของพระนารายณ์ เข้าใจได้ว่าข่าวลือเหล่านี้ก็คงจะมาจากค่ายของออกพระเพทราชานั่นเอง

การรณรงค์สร้างข่าวลือของกลุ่มออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นี้ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในหลักฐานฝ่ายไทยคือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ลำนำสั้นๆ บทนี้มีผู้จดจำได้และจดลงไว้เป็นตอนต้นในหนังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้ง ร.1 แต่กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนารายณ์

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าเนื้อความของเพลงยาวบทนี้ตรงกันกับที่บรรยายไว้เป็นภาษาความเรียงใน คำให้การชาวกรุงเก่า และกล่าวว่าเป็นคำทำนายของพระเจ้าสุริเยน ทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ

เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่แต่งนี้อย่างยิ่ง บอกโดยนัยแก่ผู้ฟังว่าพระนารายณ์และราโชบายของพระองค์คือการไม่เคารพต่อหลักการแห่งทศพิธราชธรรม และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิปริตต่างๆ แก่บ้านเมือง ความวิบัติที่กำลังมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เพลงยาวพยากรณ์เน้นซึ่งความวิปริตแห่งความปกติธรรมดาหรือจารีตประเพณีซึ่งเป็นที่รับรองและสมมติกันว่าเป็นธรรมดาโลก เป็นต้น

ความวิปริตเหล่านี้จะนำมาซึ่งความวิบัติแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระราโชบายที่เข้าใจไม่ได้ของพระนารายณ์ การกดขี่ขุนนางฝ่ายปกครอง การเถลิงอำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรมของฝรั่งและเสนาบดีต่างชาติ การไม่เคารพต่อจารีต ประเพณีของการปกครองบางอย่าง และท่าทีคุกคามพระพุทธศาสนาของรัฐบาลและนักบวชมิจฉาทิฐิที่รัฐบาลหนุนหลัง ฯลฯ เพียงพอที่จะทำให้ผู้ฟังเพลงยาวนี้เห็นพ้องต้องกันว่าบ้านเมืองกำลังวิปริตอาเพศอย่างชัดแจ้ง

การตกต่ำของขุนนางทำให้ลูกหลานผู้ดีเหล่านี้พร้อมจะรับการโค่นล้มราชตระกูลปราสาททองลง อย่างน้อยก็เพื่อยุติความวิปริตอาเพศทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตำตานี้

ยิ่งการอิงคำทำนายให้สอดคล้องกับพุทธทำนายในชาดก ก็ยิ่งทำให้เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อความอาเพศของบ้านเมืองได้มากขึ้น เพราะดูเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแฝงอยู่ในคำพยากรณ์ มีตัวอย่างดังนี้

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

๏ ในลักษณ์ทํานายไว้บ่ห่อนผิด      เมื่อพินิจพิศดูก็เห็นสม

มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม          มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด

มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น         มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ

ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด           เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา            จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล

สัปปุรุษจะแพ้แก่ทรชน                มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว                  คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์

ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก                      จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอํานาจ                 นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย                น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า                     เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม

ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์              เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

———-                        ———-

ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง            สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่

จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี                 ฝูงผีก็จะวิ่งเข้าปลอมคน

กรุงประเทศราชธานี                      จะเกิดการกาลีทุกแห่งหน

จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล                จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์          จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย

จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย                  ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก               เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ

แต่สิงสาราสัตว์เนื้อเบื้อ                    นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย               จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น

ด้วยพระกาฬจะมาผลาญแผ่นดิน         จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม

———-                        ———-

[ตรวจสอบโดย นายบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักอักษรศาสตร์ชํานาญการ สํานักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มิถุนายน 2558]