GAME OF THRONES ในอยุธยา พระเพทราชา ‘บ้านพลูหลวง’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเพทราชา รูปลายเส้นพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1695 หรือ พ.ศ.2238 (ภาพสันนิษฐานจากหนังสือ Military Revolutions Wars of Europe & Asia Ottoman Turks Mohammed Siam 27 Portraits. 1695)

พระเพทราชา พระราชประวัติของพระองค์ล้วนเกี่ยวข้องความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องชิงอำนาจ เหมือน (ซีรี่ส์ฝรั่ง) Game of Thrones ในอยุธยาซึ่งมีเป็นปกติทุกรัชกาล

แต่ในความรับรู้ทั่วไปที่ถูกครอบงำจากพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นพระเพทราชาโดยสรุป (1.) รักชาติ รักความเป็นไทย ต่อต้านฝรั่งต่างชาติ และ (2.) บ้าอำนาจ โค่นล้มพระนารายณ์

รักชาติ รักความเป็นไทย เป็นเรื่องหลงยุคหลงสมัย เพราะชาติไทย และความเป็นไทย เพิ่งมีในสมัยหลัง ร.5 สมัยอยุธยายังไม่เป็นรัฐชาติ จึงไม่มีชาติไทย และไม่มีความเป็นไทยอย่างที่เข้าใจทุกวันนี้

สงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดี และอังวะ จึงไม่ใช่ไทยรบพม่า แต่เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างพระเจ้ากรุงอยุธยากับพระเจ้ากรุงหงสาวดี หรือพระเจ้ากรุงอังวะ

พระเพทราชาบ้าอำนาจ โค่นล้มพระนารายณ์ แท้จริงแล้วเป็นความชอบธรรมทางการเมืองสมัยนั้น เพราะพระเพทราชาเป็นเครือญาติ หรือลูกพี่ลูกน้องกับพระนารายณ์ ย่อมขัดแย้งทางการเมืองกันได้ แล้วชิงอำนาจได้เป็นปกติของการเมืองสมัยอยุธยา ไม่ใช่เรื่องบ้าอำนาจอย่างที่กล่าวหา

อำนาจสมัยอยุธยามิได้รวมศูนย์อยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินเพียงองค์เดียว แต่มีในคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่เจ้านายถึงขุนนาง (ทั้งในเมืองและท้องถิ่น) นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า

ชนชั้นนำในทุกสังคมมักไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก ระบอบอำนาจที่ดำรงอยู่ประกอบขึ้นจากผลประโยชน์และอุดมการณ์ของคนหลายกลุ่มหลายเหล่าที่มิได้หลอมรวมอยู่ภายใต้ผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ดังนั้น ต้องมีการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์และอำนาจระหว่างกันจนลงตัว กลายเป็นระบอบปกครองอันหนึ่ง (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2563)

การเมืองสมัยอยุธยา ชิงอำนาจกันเอง “วงใน” จึงสำเร็จ ดังนี้

(1.) พะงั่ว ชิงจาก ราเมศวร (2.) ราเมศวร ชิงจาก ทองลัน (3.) นครอินทร์ ชิงจาก รามราชา (4.) วรวงศา ชิงจาก ทายาทไชยราชา (5.) ธรรมราชา ชิงจาก พระมหินท์ (6.) ทรงธรรม ชิงจาก ศรีเสาวภาคย์ (7.) ปราสาททอง ชิงจาก วงศ์เก่า (8.) พระนารายณ์ ชิงจาก น้องของปราสาททอง (9.) พระเพทราชา ชิงจาก โอรสพระนารายณ์ (10.) พระเจ้าเสือ ชิงจาก เจ้าพระขวัญ

แต่ “วงนอก” ชิงอำนาจไม่สำเร็จ ได้แก่ (1.) กบฏธรรมเถียร พ.ศ.2237 (2.) กบฏบุญกว้าง พ.ศ.2241

 

ฆ่าเททิ้ง

ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องชิงอำนาจ หรือ Game of Thrones  ในอยุธยา พบหลักฐานจากพระราชกระแส ร.5 บอกว่าราว 13 ปีฆ่าเททิ้งครั้งหนึ่ง จึงเมื่อพระบรมโกศครองราชย์ ขุนนางร่องแร่ง หาคนมีความรู้เก่าทำราชการไม่ได้

“ข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบาง เพราะฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดินแล้ว

แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย

แผ่นดินพระนารายณ์ ฆ่าขุนนางที่เปนพวกเจ้าฟ้าไชยและพระศรีสุธรรมราชา เห็นจะเกือบหมด เปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ

แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายณ์หย่อยมาจนถึงไปตีนครราชสิมา เห็นจะเรียกว่าเกือบหมดได้

แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญ ฤๅพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ จะเปนขุนนางอยู่ไม่ได้

แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระเคราะห์ดีไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือเห็นจะมีน้อย เพราะอยู่ในราชสมบัติน้อยตั้งไม่ทันเต็มที่

แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด——–

คิดดูในระหว่าง 90 ปี ฆ่าเททิ้งกันเสียถึง 7 ครั้ง เกือบปน 13 ปี ฆ่ากันครั้งหนึ่ง ฤๅถ้ารอดตายก็กลายเปนไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่าผู้ดีกลายเปนไพร่ๆ กลายเปนผู้ดีถึง 7 ครั้ง ใน 90 ปีนั้นฯ”

[พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพกับพระราชพงศาวดาร ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.121 (2436)]

 

พระเพทราชา “เครือญาติ” พระนารายณ์

พระเพทราชา มีถิ่นฐานดั้งเดิมในพระนครศรีอยุธยา เป็นเชื้อสายผู้ดีมีตระกูลสูงและใกล้ชิดพระราชวงศ์ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

เอกสารตูร์แปงบอกว่า “พระเพทราชานั้น เป็นพระญาติกับพระนารายณ์ อาจถึงขั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องด้วยซ้ำ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า เชื้อสายบรรพชนพระเพทราชาไม่ได้เป็นชาวบ้านชนบท ส่วนลาลูแบร์ว่า “ตระกูลของเขาได้อยู่ในตำแหน่งอันสูงยิ่งมานาน และมักมีสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอ”

[ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2543 หน้า 34-35]

พระเพทราชามี “มารดาเป็นพระนมของพระนารายณ์” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา) แสดงว่ามารดาของพระเพทราชาเป็นเครือญาติใกล้ชิดราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าปราสาททองถึงพระนารายณ์ ส่วนบิดาเป็นขุนนางชั้นสูง มีอำนาจมากในกรมคชบาล น่าจะมีเทือกเถาเหล่ากออยู่บ้านพลูหลวง ย่าน “ช้างป่าต้น” แถบวัดกุฎีทอง-วัดโขลง เมืองสุพรรณ

น้องสาวคนหนึ่งของพระเพทราชา เป็นสนมเอกของพระนารายณ์ ในชื่อ “ศรีจุฬาลักษณ์” ตำแหน่งเชื้อสายเมืองสุพรรณ (แต่ในภายหลังต้องโทษประหารชีวิต) แสดงว่าพระเพทราชามีเชื้อสายเป็นเจ้านายสำคัญ

พระเพทราชา ถูกสร้างประวัติว่าเกิดและเติบโตอยู่บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ บางทีสืบตระกูลว่าแม่และพ่อเป็นชาวสุพรรณ มีเครือญาติอยู่บ้านพลูหลวง (ดังความในพงศาวดารฯ) ทั้งหมดเป็นเรื่องเพิ่งสร้างสมัยหลังเสียกรุง 2310 เพื่อใส่ร้ายพระเพทราชา