เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์/เรื่องของสำนึกร่วม

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เรื่องของสำนึกร่วม

ยามนี้คงไม่มีอะไรจะได้รับความสนใจมากไปกว่า “โควิด-19” แน่นอน

ทุกหน้าจอ ทั้งจอโทรทัศน์ จอมือถือ จอโฆษณาตามถนนหนทาง หรือตามรถไฟฟ้า ต่างก็นำเสนอเรื่องของ “โควิด-19” ทั้งนั้น ทั้งรายงานสถานการณ์ล่าสุดของผู้ติดเชื้อจากทั่วโลก ทั้งรายงานแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือของภาครัฐและพฤติกรรมของประชาชนในกรณีต่างๆ

ช่วงนี้กลุ่มคนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกิน “ผีน้อย”

ที่รู้กันดีว่าหมายถึงคนไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีและเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้พยายามกวาดล้างและขอให้แสดงตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ได้รับการเมินเฉยมาตลอด

ครั้นเกิดการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” และประเทศเกาหลีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เท่านั้นแหละ ที่เคยปากแข็งและหลบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ต่างเรียกร้องขอกลับเมืองไทยกันเป็นแถว

ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของ “ผีน้อย” กับคนไทยนั้นไม่ดีเลย

เพราะเป็นบุคคลที่เดินทางเข้าเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย จึงส่งผลให้ ตม.เกาหลีเข้มข้นอย่างมากกับการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยเพื่อสกัดวิญญาณผีน้อยไม่ให้มีมากขึ้น ทำให้คนที่ตั้งใจไปท่องเที่ยว ไปทำงานที่ถูกกฎหมาย ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

บางคนถูกกักตัวสอบสวนเป็นวันๆ และถูกส่งตัวกลับ

เมื่อถึงตอนที่ผีน้อยจะแตกรังกลับมาไทย ผู้คนจึงอดกังวลไม่ได้ถึงมาตรการการรับมือเมื่อคนเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศ จะมีการคัดกรอง กักกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยๆ หากนับร่วมพันๆ คน จึงเท่ากับเป็นภาระหนักของทางการอย่างมาก

ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกติดลบของคนทั่วไปซ้ำเข้าไปอีก

 

แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความ “เหลืออด” มากขึ้น เมื่อพบว่า “ผีน้อย” บางคนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างมาก โดยการไม่กักตัวเอง 14 วันเพื่อรอดูผล แต่กลับออกมาลั้ลลา เริงร่าในสถานที่ต่างๆ ปะปนกับคนทั่วไปอย่างขาดความรับผิดชอบ

และที่เหมือนชกเข้าที่หน้า คือการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอย่างโอ้อวด จนมีถึงท้าทายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

สถานที่ต่างๆ ที่มีข้อมูลว่าผีน้อยเหล่านี้แวะเวียนไป เดือดร้อนต้องลุกขึ้นมาทำความสะอาดขนานใหญ่ ต้องให้คนทำงานหยุดพักเพื่อเช็กผลว่าติดหรือไม่ติด ต้องขาดรายได้ไปหลายวัน และเกิดความกังวลต่อลูกค้าที่จะไปใช้บริการในอนาคต

ถามว่า เรื่องเช่นนี้ ผีน้อยคนนั้น “คิดเป็นไหม”

ยามนี้มีหลายเสียงที่พูดกับผมว่า “ไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยขาดสำนึกกันอย่างนี้”

เขาคงไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมด แต่ก็เป็นคนไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งก็คงมีจำนวนไม่น้อย

 

และเรื่องของการขาด “สำนึกร่วม” นี้ ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานในหลายๆ เรื่อง หลายๆ เหตุการณ์จนเกิดเป็นความชินชา ถึงขั้น “จำทน” ไปแล้ว อย่างเช่น…

ทำไมบวชพระ ต้องสร้างเสียงดังหนวกหูให้คนอื่นด้วย

ทำไมจอดรถขวางทางเข้า-ออก หรือขวางหน้าบ้านคนอื่นได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาอันใด

ทำไมงานมหรสพต่างๆ ถึงใช้เสียงดังมากเกินเหตุและเกินเวลาอันสมควรอย่างมาก และบ่อยๆ ครั้ง

ทำไมจอดรถในที่ห้ามจอดได้ จนเกิดรถติดเป็นแถว

ทำไมตั้งขายของบนทางเท้าได้ทั้งที่ผิดกฎหมาย

ทำไม ทำไม และทำไม อีกมากมาย

นั่นก็เพราะเราขาด “สำนึกร่วม” ต่อคนอื่นและสังคมอย่างมากนั่นเอง

 

ซึ่งเรื่องจิตสำนึกนี้ต้องยกให้คนญี่ปุ่น นอกจากจะมีระเบียบวินัยสูงแล้ว คนญี่ปุ่นยังมีจิตสำนึกร่วมต่อสังคมอย่างมาก

นั่นคงเป็นผลมาตั้งแต่การแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศยับเยินอย่างมาก จนต้องการการเสียสละและมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเคร่งครัดจึงจะฟื้นความเป็นประเทศกลับมาได้

ผมไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้คนไทยส่วนหนึ่ง คิดถึงแต่ “มุมของตนเองที่จะได้ประโยชน์” จนไปเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ แต่ก็จะทำ

เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกันสูง ซ้ำยังขาดทางเลือก จึงทำอะไรเพื่อให้มีข้าวกินก็จะทำ แม้จะเดือดร้อนผู้อื่นรึเปล่าก็ไม่รู้

หรือเพราะการไม่สอนสั่งกันมาตั้งแต่ยังเด็กจากครอบครัวและโรงเรียน

หรือคนเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีพอ จนขาดแบบอย่างที่ดี

หรือกฎหมายเราไม่แข็งแรง หรือแข็งแรง แต่คนคุมกฎและใช้กฎหย่อนยาน

หรือศาสนาในใจคนเสื่อมลง จึงไม่สามารถใช้ธรรมะมาช่วยกำหนดความคิดและพฤติกรรม

หรือเพราะอะไรกันแน่?

 

จากกรณี “โควิด-19” นี้ จะทำให้โลกทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแน่นอน

จากการดำเนินชีวิตตามปกติจะต้องเปลี่ยนไป จากการติดต่อปฏิสัมพันธ์อย่างง่ายๆ จะมีมาตรการระแวดระวังมากขึ้น

จากการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก จะเปลี่ยนไป และจะกระทบต่อระบบและผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่

จากการกินอยู่อาศัย ใช้ชีวิตประจำวันแบบเก่า จะต้องหันมาสนใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

จากเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพิงส่วนต่างๆ เมื่อเกิดความไม่แน่นอนอย่างที่พบเจอ คงต้องหันมาพิจารณากันใหม่อย่างลึกซึ้งว่า ต่อจากนี้เราควรจะยืนและเดินหน้าต่ออย่างไรดี

พฤติกรรมแบบเก่าๆ ควรจะย้อนมาพิจารณาอย่างจริงจังกันไหมว่า อันไหนควรเลิก หรือเปลี่ยนแปลง

จากสำนึกร่วมที่บกพร่องอย่างรุนแรง ต่อไปนี้เราต้องช่วยกันสร้างมันขึ้นมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนเลย และเริ่มที่คนใกล้ตัวอย่างครอบครัวและบริวารของเรา

แล้วขยายผลไปสู่สังคมที่อยู่โดยรอบ สู่ในที่ทำงาน สู่สังคมภายนอก สู่พรรคการเมือง และสภาผู้แทนราษฎร ที่หลายครั้งประชาชนรู้สึกว่าสำนึกร่วมของพวกท่านบกพร่องเสียนักแล้ว

และเราต้องช่วยกันขยายไปสู่โลกทั้งโลก ที่เคยคิดแคบๆ ว่าเราเป็นพลเมืองของชุมชนบางกะปิเท่านั้นไม่พอ

แต่ในความเป็นจริง เราเป็นพลเมืองของโลกที่ต้องรับผลร่วมกันอย่างแยกกันไม่ออกแน่นอน คนที่เผาป่าในแถบซีกโลกหนึ่ง เราที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็พลอยรับผลกระทบไปด้วย

สิ่งที่จะบรรเทาปัญหาต่างๆ ให้ลดทอนลงได้ นั่นก็คือ “สำนึกร่วม” จากทุกคน

เรามาเริ่มต้นกันที่ตัวเราก่อนเลยนะครับ ดีไหม