ก้าวกระโดดคิงเพาเวอร์ เปิดเกมซินเนอร์ยี่ เชื่อม 3 ธุรกิจ ดิวตี้ฟรี-เลสเตอร์ซิตี้-ไทยแอร์เอเชีย

ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ชื่อของกลุ่มบริษัท “คิงเพาเวอร์” จะไม่เคยว่างเว้นจากพื้นที่สื่อ

นับตั้งแต่ปมร้อนศึกร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) เมื่อยักษ์ใหญ่จากเกาหลี “ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์)” และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในไทย มีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยเป็นแกนนำเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจร้านค้าดิวตี้ฟรี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) อยู่ใต้อาณัติของคิงเพาเวอร์ ตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

จนเจ้าสัว “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่งอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ต้องออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อว่าที่ผ่านมาได้ทำตามกติกาทุกอย่าง

สุดท้าย ต่างแยกย้ายหย่าศึกกันไป เมื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ออกโรงแจง หากล็อตเต้หรือเอกชนรายอื่นต้องการพื้นที่ส่งมอบสินค้าที่สุวรรณภูมิ ต้องรออย่างน้อย 3-4 ปี จนกว่าสัญญาที่ ทอท. ทำไว้กับคิงเพาเวอร์จะหมดลง

ศึกดิวตี้ฟรีจบชั่วคราว แต่ความร้อนแรงของ “คิงเพาเวอร์” ยังไม่หมดลงแค่นั้น และดูเหมือนจะทวีความร้อนแรงในวงกว้างด้วยซ้ำ

เมื่อสโมสรฟุตบอลอังกฤษ “เลสเตอร์ซิตี้” หนึ่งในธุรกิจใต้ร่มเงาของคิงเพาเวอร์ ได้สร้างตำนานคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก แบบเหนือความคาดหมาย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน มีข่าวลือหนักมากว่า “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย จะขายหุ้นบิ๊กล็อตที่ตัวเองถือในบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ให้ครอบครัว “ศรีวัฒนประภา”

“ธรรศพลฐ์” ปิดปากเงียบ กระทั่งได้ฤกษ์ควงแขนคิงเพาเวอร์แถลงไขทุกข้อสงสัยเมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” ได้เข้าซื้อหุ้น AAV จริง ในสัดส่วน 39% มูลค่ารวม 7,945 ล้านบาท

และในโอกาสนี้ “เจ้าสัววิชัย” ยังได้มอบหมายให้ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” “อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา” และ “สมบัตร เดชาพานิชกุล” เข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท AAV เพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายสายการบินไทยแอร์เอเชีย ร่วมกับซีอีโอ “ธรรศพลฐ์” และผู้บริหารชุดเดิม

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ทายาทของ “วิชัย” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมเดินหน้าต่อยอดและส่งเสริมการทำตลาด เพื่อให้ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและคมนาคมเติบโตไปด้วยกัน

“ธุรกิจสายการบินถือว่าใหม่มากๆ สำหรับคิงเพาเวอร์ แต่ถ้ามองให้ดี มันคือการเสริมทัพซึ่งกันละกัน ระหว่างร้านค้าดิวตี้ฟรีกับสายการบินราคาประหยัดอันดับ 1 ของไทย”

ตามแผนปีนี้ ไทยแอร์เอเชียจะรับมอบเครื่องบินครบ 51 ลำ คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 17 ล้านคน พร้อมเจาะตลาดจีน อินเดีย และอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

“ผู้โดยสารไทยแอร์เอเชียจะรู้จักและเข้าใจคิงเพาเวอร์มากขึ้น และไทยแอร์เอเชียเอง ก็สามารถเดินกลยุทธ์ขนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเพิ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของคิงเพาเวอร์ โดยภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะเห็นภาพการทำตลาดต่อยอดที่ชัดเจนมากขึ้น” อัยยวัฒน์ เล่าถึงไทม์ไลน์

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำ “โปรโมชั่น” ร่วมกัน ขณะนี้กำลังหารือว่าทิศทางการส่งเสริมตลาดร่วมกันจะออกมาในทิศทางไหน ยกตัวอย่างเช่น อาจจะให้โปรโมชั่นกินข้าวฟรีบนเครื่องบิน หลังซื้อสินค้าที่คิงเพาเวอร์ นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการขายและทำตลาดผ่านช่องทาง “ออนไลน์” ร่วมกัน อาศัยฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ของทั้งคิงเพาเวอร์และแอร์เอเชีย เช่น เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแบบออนไลน์ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและส่งของได้เลย

อีกมิติคือการขยายธุรกิจ ด้วยการ “เปิดเส้นทางบินใหม่ๆ” ไปยังประเทศจีนมากขึ้น อาศัยคอนเน็กชั่นของคิงเพาเวอร์ช่วยเจรจาอีกแรง

“อัยยวัฒน์” ทายาทมือวางของเจ้าสัววิชัย ยังขยายความต่อไปด้วยว่า “คิงเพาเวอร์ทำธุรกิจมา 26 ปี ยังไม่เคยขยายไปธุรกิจอื่นเลย กระทั่งตัดสินใจซื้อเลสเตอร์ซิตี้ ซึ่งเหตุผลแรกซื้อนั้น มันเป็นความรักในกีฬาฟุตบอลของผมกับคุณพ่อ (วิชัย)”

แต่ใครจะเชื่อว่าวันนี้เลสเตอร์ฯ จะคว้าแชมป์ คนที่รู้จักเลสเตอร์ฯ ก็จะเห็นแบรนด์คิงเพาเวอร์อัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำอะไรมากแล้ว แผนนับจากนี้จะมุ่งโปรโมตทีม และดึงนักกีฬาไทยไปเล่นในพรีเมียร์ ลีก อังกฤษแน่นอน

ส่วนไทยแอร์เอเชีย แน่นอนว่าต้องพ่วงการขายร่วมกับคิงเพาเวอร์ มุ่งสู่เป้าหมายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะจีน มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“ใน 3 ธุรกิจของกลุ่มคิงเพาเวอร์ ธุรกิจร้านค้าดิวตี้ฟรีถือเป็นตัวหลักที่ต้องขับเคลื่อน และเชื่อมกับธุรกิจสายการบินและทีมฟุตบอล”

โดยเตรียมขยายธุรกิจดิวตี้ฟรีในต่างประเทศด้วย ขณะนี้สนใจปักหมุดลงทุนใน “ญี่ปุ่น” และ “เมียนมา”

ถามว่าทำไมถึงเป็น 2 ประเทศนี้ “อัยยวัฒน์” บอกว่า ถือเป็นจุดหมายที่มีศักยภาพสูง ดึงดูดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวทั้ง “จีน” และ “ไทย” ซึ่งแห่ไปเที่ยวและช็อปปิ้งเป็นจำนวนมาก

คิงเพาเวอร์สนใจประมูลสัมปทานในสนามบินนาริตะและฮาเนดะที่ญี่ปุ่น รวม 2-3 จุด อยู่ระหว่างรอการจัดทำร่างทีโออาร์ คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลงานได้ภายในปีนี้ เพื่อเปิดให้บริการทันช่วงปลายปี 2560 หากคิงเพาเวอร์ชนะการประมูลที่ญี่ปุ่น คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท

ฟาก “เมียนมา” ถือเป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพสูง กำลังขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว คิงเพาเวอร์สนใจเข้าไปเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรี 2 จุดในสนามบินที่ย่างกุ้งและเนปิดอว์ รูปแบบอาจเป็นการเช่าสัมปทาน คาดใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท น้อยกว่าลงทุนที่ญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูรัฐบาลใหม่ของเมียนมาว่าการบริหารจะไปในทิศทางไหน อาจจะต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะทราบความชัดเจน

ทั้งหมดนี้ คือภาพการประสานพลังซินเนอร์ยี่ของ 3 ธุรกิจ ในวงแขน “คิงเพาเวอร์” ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง