ต่างประเทศ : โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน กับภัยคุกคามสู่บัลลังก์ซาอุฯ

มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หายหน้าหายตาไปจากสื่อเป็นเวลานานกว่า 1 ปี หลังจากข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการสังหารจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบีย ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังหาศพไม่พบ

ข้อสงสัยส่วนใหญ่ชี้ไปที่มกุฎราชกุมาร ลูกชายคนโตของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย วัย 34 ปีผู้นี้

แน่นอนว่ามกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดไม่ได้ถูกดำเนินคดีหรือตั้งข้อหาใดๆ แต่มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง และยังคงทิ้งปริศนาการเสียชีวิตของคาช็อกกีไว้เบื้องหลัง

 

ล่าสุดมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อพระองค์ทรงมีคำสั่งให้จับกุมเจ้าชายสมาชิกราชวงศ์อย่างน้อย 4 ราย ย่างก้าวที่ถูกมองว่าเป็นไปเพื่อกวาดล้างภัยคุกคามในเส้นทางสู่บัลลังก์ ก่อนที่ถัดมาอีก 1 วัน พระองค์จะประกาศทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย ส่งผลให้ตลาดพลังงานและตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวล้มครืนระเนระนาด

เหตุการณ์ดังกล่าวสื่อตะวันตกต่างมองว่าเป็นภาพสะท้อนความเกรี้ยวกราดและหุนหันพลันแล่นของว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียได้เป็นอย่างดี

การจับกุมสมาชิกราชวงศ์เป็นข่าวหลุดออกมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม โดยที่ไม่มีคำอธิบายจากทางการซาอุดีอาระเบียแต่อย่างใด

โดยหนึ่งในเจ้าชายที่ถูกจับกุมคือ เจ้าชายอาห์เหม็ด บิน อับดุลลาซิซ พระอนุชาพระชนมายุ 78 พรรษาของกษัตริย์ซัลมาน และมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด

ผู้ถูกจับกุมรวมไปถึงเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ โอรสของเจ้าชายอับดุลลาซิซ พระราชนัดดาของกษัตริย์ซัลมานผู้เคยเป็นอดีตมกุฎราชกุมารและรัฐมนตรีมหาดไทยที่ถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อปี 2017 ก่อนที่กษัตริย์ซัลมานจะทรงแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด พระโอรสองค์โตเป็นมกุฎราชกุมารแทน

การจัดการกวาดล้างดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเตรียมเส้นทางไปสู่การก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แบบไร้ผู้กังขา

นั่นยิ่งชัดเจนเมื่อเจ้าชายอับดุลลาซิซเคยเป็นหนึ่งใน 3 สมาชิกสภาสวามิภักดิ์ ที่คัดค้านการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารซัลมานขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อปี 2017

สภาสวามิภักดิ์เป็นสภาที่มีสมาชิก 34 คนเป็นตัวแทนจาก 34 ตระกูลของ 34 โอรสของกษัตริย์อับดุลลาซิซ อิบนุ ซาอุด กษัตริย์ผู้ทรงก่อตั้งซาอุดีอาระเบีย ที่สวรรคตไปเมื่อปี 1953

สภาสวามิภักดิ์ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เจ้าชายแห่งราชวงศ์ซาอุดนับร้อยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์สืบไป

 

ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่วัน มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดจัดการลงโทษรัสเซีย ชาติผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่นอกกลุ่มสมาชิกผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปค ที่ปฏิเสธที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงตามคำร้องขอของกลุ่มโอเปคที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ ในความพยายามเพื่อปรับราคาน้ำมันให้สูงขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมาตลาดน้ำมันได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก

การเจรจาดังกล่าวเป็นการเจรจาในกลุ่ม “โอเปคพลัส” กลุ่มพันธมิตรที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตราคาน้ำมันเมื่อปี 2016 เป็นการเจรจากันระหว่างกลุ่มชาติสมาชิกโอเปคและชาติผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะรัสเซีย

ซาอุดีอาระเบียจงใจทำ “สงครามราคา” ลดราคาน้ำมันลงเพื่อหวังทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซีย เป็นไปตามคำขู่ของซาอุดีอาระเบียในที่ประชุม “โอเปคพลัส” ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ระบุว่า รัสเซียจะต้อง “เสียใจ” กับการตัดสินใจดังกล่าว

การประกาศลดราคาน้ำมันของซาอุฯ ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ล่าสุดบริษัทอารัมโก บริษัทผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ยังประกาศเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดต่ำลงไปอีก

 

รัสเซียเองมีเหตุผลของตัวเอง โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเคยทำข้อตกลงในโอเปคพลัส ตัดลดกำลังผลิตลง 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อปี 2016 ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิ่งลงไปถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนเวลานี้ซาอุดีอาระเบียต้องการให้เพิ่มตัวเลขดังกล่าวขึ้นเป็น 3.6 ล้านบาร์เรลในปี 2020 นี้เพื่อชดเชยการบริโภคที่ลดต่ำลง

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความกังวลว่าการตัดลดกำลังผลิตดังกล่าวจะเป็นการเปิดทางให้ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาได้เติบโตขึ้น จึงปฏิเสธที่จะลดกำลังผลิต

นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์นี้จะทำให้บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะเสียรายได้มหาศาล ขณะที่รัสเซียเองระบุว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดราคาน้ำมันมากนัก ด้วยเพราะงบประมาณประจำปีของประเทศอ้างอิงกับราคาน้ำมันในระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ผลจากการปรับตัวจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา

 

ด้านซาอุดีอาระเบียอาจจะเป็นผู้ที่สูญเสียในสงครามครั้งนี้มากกว่า ด้วยเพราะเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียนั้นพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าราคาน้ำมันที่ซาอุดีอาระเบียจะอยู่ในภาวะเท่าทุนอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่องบประมาณประจำปีโดยที่ไม่ต้องดึงเงินทุนสำรองมาใช้หรือต้องออกมาตรการรัดเข็มขัด แต่เวลานี้ราคาน้ำมันกลับร่วงลงไปกว่าครึ่งจากระดับราคาดังกล่าว

นั่นจะส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียต้องนำเงินสำรองที่ร่อยหรอลงเหลือราว 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 740,000 ล้านเมื่อปี 2014 ออกมาใช้ และการลดลงของเงินทุนสำรองจะเป็นแรงกดดันส่งต่อไปยังอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมไปถึงแผนเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียเอง

การประกาศลดราคาน้ำมันหลังจากการเก็บกวาดปูทางสู่บัลลังก์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันถูกมองว่าเป็นความพยายามของมกุฎราชกุมารในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศขึ้น

อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ภัยคุกคามที่มีต่อมกุฎราชกุมารที่แท้จริงนั้นไม่ใช่สมาชิกราชวงศ์ที่อาจเป็นเสี้ยนหนาม

แต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากความล่มสลายของรายได้ที่เคยมีจากการส่งออกน้ำมัน

รวมไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตัวมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เอง