จิตต์สุภา ฉิน : พนักงานออฟฟิศ กับชีวิตช่วงไวรัสระบาด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ช่วงเวลาที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดอย่างบ้าคลั่ง น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อ้าแขนโอบรับเทคโนโลยีมากที่สุดจนกลายเป็นเหมือนเพื่อนซี้ที่ขาดกันไม่ได้

ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่ยอมออกมาตรการอย่างจริงจังในการที่จะระบุและกักบริเวณคนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงโดยไม่มียกเว้นไม่ว่าจะมีสถานะสูงส่งหรือฐานะมั่งคั่งเพียงไหน แต่คนที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและมุ่งมั่นที่จะลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อให้ได้มากที่สุดก็ตัดสินใจกักบริเวณตัวเองอย่างน้อย 14 วัน

หากย้อนกลับไปแค่สักประมาณ 5 ปี การจะกักตัวเองอยู่บ้านเฉยๆ ก็อาจจะทำให้เราคลั่งจากความเบื่อหน่ายและเอือมระอากับความสะดวกสบายทั้งหลายที่ต้องเสียไป

แต่ในยุคนี้การกักตัวเองอยู่บ้านก็แทบจะไม่ต่างกับการลาพักร้อนอยู่บ้านสบายๆ อีกแล้ว

 

เรื่องอาหารการกิน ไม่ขาดแคลนเพราะสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นจิ้มร้านอาหารที่ชอบและให้เมสเซนเจอร์นำมาส่งให้ถึงที่ ไม่ได้ส่งมอบด้วยตัวเองไม่เป็นไร แขวนไว้หน้าประตูบ้านได้เลย

อยากเสพความบันเทิง แค่เปิดบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ก็มีทั้งหนังและซีรี่ส์ให้ดูได้ 14 วันแบบไม่ซ้ำกัน

ออกจากบ้านไปร้านหนังสือหาหนังสือเล่มใหม่ๆ มาอ่านไม่ได้ ก็แค่ซื้อเวอร์ชั่น e-book มาอ่านบนเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีสต๊อกหนังสือใหญ่กว่าร้านหนังสือแถวบ้านไม่รู้กี่พันเท่า

ถ้าอยากติดต่อสื่อสารกับคนอื่น วิดีโอคอลล์ก็เป็นฟีเจอร์ที่ใช้กันทั่วจนแทบจะไม่ต้องคิดอะไรเยอะอีกแล้ว

ฟีเจอร์เดียวกันนี้ ก็ทำให้เราสามารถคอยถามไถ่สวัสดิภาพความเป็นไปของคนอื่นๆ

อย่างในกรณีล่าสุดที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอิตาลี สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็สามารถใช้วิดีโอคอลล์ในการโทร.หาพ่อ-แม่เพื่อเช็กอาการกันเป็นรายวัน

และการวิดีโอคอลล์บนแพลตฟอร์ม Telemedicine ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์ได้เบื้องต้นผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน โดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปโรงพยาบาลและเพิ่มความเสี่ยงในการติดหรือแพร่เชื้อไวรัสอีก

การเอาตัวเองไปที่ยิมหรือฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายสลับกับการพ่นยาฆ่าเชื้อไปบนอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วยก็ไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เทคโนโลยีอย่างเครื่องปั่นจักรยานที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ก็ทำให้การออกกำลังกายเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้

อย่างเช่นจักรยาน Peloton ที่สามารถสตรีมวิดีโอท่าออกกำลังกายไปให้คนที่อยู่บนอานจักรยานได้ทำตามไปด้วยเลย

 

ที่ผ่านมาชีวิตเราก็พึ่งพาเทคโนโลยีไม่น้อย และเราก็เอาหลายส่วนของชีวิตไปแขวนเอาไว้บนโลกออนไลน์อยู่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของไวรัสคราวนี้จะยิ่งเป็นการยกระดับการพึ่งพิงออนไลน์ของเราให้สูงกว่าเดิมอีก

บริษัทหลายแห่งในวงการเทคโนโลยีออกกฎและขอความร่วมมือให้พนักงานทำงานจากบ้านให้มากขึ้น พร้อมๆ กับการยกเลิกการจัดงานประชุมและงานจัดแสดงสินค้าทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานหลายคนพบว่า อ้าว ทำงานอยู่บ้าน แต่กลับได้งานมากกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก ซึ่งเชื่อว่าผลลัพธ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วกับคนจำนวนไม่น้อย

LinkedIn ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียสำหรับโลกการทำงานก็ออกกฎล่าสุดมาว่าการสัมภาษณ์พนักงานทั้งหมดหลังจากนี้ไปจะอยู่บนออนไลน์เท่านั้น

การสัมภาษณ์ผ่านทางออนไลน์ ถ้าเป็นคนที่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีสักหน่อยก็จะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคอะไรเลย

แต่สำหรับคนที่ปกติแทบจะไม่ได้จับต้องเครื่องมือเหล่านี้ หากต้องสัมภาษณ์ผ่านออนไลน์ก็อาจจะต้องมีเหงื่อออกฝ่ามือกันบ้าง

ซึ่ง LinkedIn ก็เข้าใจ และบอกว่าถ้าสัมภาษณ์ออนไลน์ก็ทำได้เลย แต่สำหรับใครที่ยังอยากจะสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวก็จะต้องเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด พร้อมเมื่อไหร่ก็เข้ามาเจอกัน ซึ่งบริษัทจะไม่นำมาใช้เป็นปัจจัยที่จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเข้าทำงานแต่อย่างใด

แต่ว่ากันจริงๆ เถอะ ถ้าเราจะสมัครงานในบริษัทเทคโนโลยี หรือไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทเทคโนโลยีก็ได้ แต่สมัครงานในยุคดิจิตอลแบบนี้ การปฏิเสธไม่ยอมสัมภาษณ์งานออนไลน์ ถึงบริษัทจะบอกว่าไม่กระทบต่อผลลัพธ์ แต่อย่างน้อยๆ ก็ต้องทำให้เราดูเป็นคนกลัวเทคโนโลยี เป็นไดโนเสาร์ที่ไม่ยอมปรับตัว

สร้างความกังวลให้เพื่อนร่วมงานได้ว่าเข้ามาทำงานจริงจะไหวเหรอ

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้หลังจากนี้ไป ต่อให้ไม่เคยชินสักแค่ไหน แต่ทุกคนก็จะต้องยอมเปิดรับการใช้เครื่องมือออนไลน์เข้ามาช่วยทำงานกันมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ การทำงานแบบระยะไกลต่อไปก็จะต้องถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของธุรกิจ ไม่ได้เป็นแค่หลักปฏิบัติในช่วงเวลาฉุกเฉินเท่านั้น

ส่วนระดับผู้บริหารก็จะต้องปรับแนวคิดใหม่เหมือนกัน จากเดิมที่จะต้องให้พนักงานตอกบัตร (จริงๆ ทุกวันนี้ควรจะเรียกว่าสแกนลายนิ้วมือแล้วมากกว่า) ให้ตรงเวลาเข้างาน และมานั่งประจำที่อย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้บริษัทสามารถนับจำนวนชั่วโมงว่ามาครบถ้วนตรงตามที่กำหนด ก็จะกลายเป็นต้องหาวิธีอื่นมาวัดประสิทธิภาพของการทำงานแทน รวมถึงจะต้องแก้ไขกฎระเบียบการทำงาน สัญญาว่าจ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง ใหม่ด้วย

น่าสนุกดีที่จะคิดต่อไปว่าเมื่อเรา “อยู่ติดบ้าน” กันมากขึ้น จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่จะเกิดตามมา ธุรกิจไหนจะได้รับผลกระทบ ธุรกิจไหนจะเกิดใหม่หรือเฟื่องฟู

หรือถ้าคิดยาวไปกว่านั้นอีกก็อย่างเช่น รถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนจะน้อยลงแค่ไหน ถ้าน้อยลง บรรดาที่จอดรถต่างๆ ที่เราเคยต้องสละพื้นที่มหาศาลเพื่อให้รถถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ เกือบทั้งวันจะสามารถถูกดัดแปลงเอาไปทำอะไรได้อีกบ้าง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะน้อยลงไหม ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้ว “วันศุกร์แห่งชาติ” จะสูญพันธุ์ไปเลยหรือเปล่า