บทเรียน ธรรมกาย บทเรียน ความเชื่อมั่น ศรัทธา พลานุภาพ การจัดตั้ง

Buddhist monks from the Wat Phra Dhammakaya temple welcome the Department of Special Investigation (DSI) members before the inspection of the temple, in Pathum Thani province, Thailand March 10, 2017. REUTERS/Jorge Silva

ไม่ว่าดีเอสไอ ไม่ว่าวัดพระธรรมกาย หากประเมินสถานการณ์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 ที่ออกมาเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะมีความแตกต่างกัน

ดีเอสไออาจมองไปที่สามารถเข้าตรวจค้นภายในวัดได้สำเร็จ

ไม่ว่าจะป็นครั้งที่ 1 ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 มีนาคม

อย่างน้อยก็ได้คำตอบว่า พระธัมมชโย ไม่ได้อยู่ภายในวัด

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จนี้ยังประเมินได้จากการสามารถออกหมายเรียกพระสังฆาธิการแห่งวัดพระธรรมกายได้ทั้งคณะ และยังสามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอันมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ปฏิบัติการของดีเอสไอมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

กระทั่งในที่สุด พระเทพญาณมหามุนี ก็กลายเป็น พระไชยบูลย์ สุทธิผล กระทั่งในที่สุด พระราชภาวนาจารย์ ก็กลายเป็น พระเผด็จ ทัตตชีโว

และมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าในที่สุด พระไชยบูลย์ สุทธิผล ก็จะต้องกลายเป็น นายไชยบูลย์ สุทธิผล

ตรงกันข้าม แม้จะถูกรุก แม้จะถูกปิดล้อม แม้จะต้องยอมรับการเข้าตรวจค้น แต่ทางด้านวัดพระธรรมกายกลับมองว่าฝ่ายของตนประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

อะไรคือความสำเร็จของวัดพระธรรมกาย

สภาพ การผ่อนปรน
คำสั่ง “มาตรา 44”

การต่อสู้ของวัดพระธรรมกาย อันดับ 1 ยืนยันในความบริสุทธิ์ของ พระไชยบูลย์ สุทธิผล อันดับ 2 ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำสั่งตามมาตรา 44

นั่นก็คือ ปฏิเสธการปิดล้อม ปฏิเสธการตรวจค้น

น่าสนใจก็ตรงที่ ภายในกระบวนการต่อสู้ วัดพระธรรมกายมิได้อาศัยแต่เพียง “มวลชน” อันเป็นของตนอย่างล้วนๆ

นั่นก็คือ มิได้จำกัดเพียง พระ เณร หรือคณะศิษยานุศิษย์

ตรงกันข้าม ได้อาศัยพุทธศาสนิกชนซึ่งอยู่นอกแวดวงวัดพระธรรมกายมาเป็นกำลังอย่างสำคัญ นั่นก็คืออาศัยผลสะเทือนจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและไม่พอใจต่อมาตรการของรัฐบาล

ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ ประชาชนที่พักอาศัยและทำธุรกิจโดยรอบวัด

การเกิดขึ้นของการชุมนุมในพื้นที่ตลาดกลาง คลองหลวง มาจากส่วนนี้และมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ในการเคลื่อนไหวบริเวณหน้าวัดอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าวัน

ยิ่งมีการอัตวินิบาตกรรมเพื่อประท้วง “มาตรา 44” จากพุทธศาสนิก ยิ่งสร้างผลสะเทือน

ขณะเดียวกัน ยิ่งการปิดล้อม ตั้งด่าน ตั้งจุดสกัด ทำให้มีการเสียชีวิตเพราะไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ทัน ยิ่งทำให้เกิดรูปธรรมแห่งความไม่พอใจ

มองจากทางด้านวัดพระธรรมกายอาจถูกปิดล้อม ถูกรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้า-ออกและประกอบศาสนกิจได้ตามปกติ ขณะเดียวกัน พระไชยบูลย์ สุทธิผล ก็ถูกรุกไล่ถอดสมณศักดิ์และอาจถูกลงโทษให้ลาสิกขา

แต่ความสำเร็จที่ได้มาก็คือ การโฆษณาต่อต้าน “มาตรา 44” การสร้างเงื่อนไขกระทั่งดีเอสไอจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการในการปิดล้อม สกัดกั้น

คืนความเป็นปกติมากยิ่งขึ้นให้กับทางวัดพระธรรมกาย

มาตรา 44 ยังคงอยู่
การปิดล้อม ลดลง

ความพอใจเฉพาะหน้าของวัดพระธรรมกายก็คือ การผ่อนปรนมาตรการปิดล้อมและห้ามการเข้า-ออกอย่างเข้มงวด

ส่งผลให้การชุมนุมบริเวณตลาดกลาง คลองหลวง ยุติลง

ภาพที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางคือภาพของคณะศิษยานุศิษย์เดินตามหลังพระภิกษุ สามเณร เข้าไปภายในวัดพระธรรมกายด้วยความปรีติ ปราโมทย์

ทุกรูป ทุกคน เดินพนมมือโดยมีดอกบัว

ความหมายของอาการปรีติ ปราโมทย์นี้ ไม่เพียงสามารถยืนยันได้ว่า พระไชยบูลย์ สุทธิผล มิได้หลบซ่อนอยู่ภายในวัด หากแต่อยู่ที่สามารถคืนความเป็นปกติให้กับวัดพระธรรมกาย หมายความว่าจะจัดประกอบศาสนกิจได้เหมือนกับก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์

ผลก็คือ ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม วัดพระธรรมกายก็ระดมผู้เลื่อมใสสวด “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ได้ครบ 30,000,000 จบ

ถือเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยม

ที่สำคัญ ตลอด 20 กว่าวันที่ถูกปิดล้อม ห้ามเคลื่อนไหว ห้ามเข้า-ออก บรรดาพระภิกษุ สามเณร และคณะศิษยานุศิษย์ก็ยังยืนหยัดสวดมนต์อย่างสม่ำเสมอ

เสียงสวดมนต์จึงดังกระหึ่มทั้งจากภายในวัดและพื้นที่ตลาดกลาง คลองหลวง

แม้กระทั่งในยามเผชิญหน้ากับดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร ไม่ว่าที่ตลาดกลาง คลองหลวง ไม่ว่าพื้นที่ใกล้กับอาคารบุญรักษา ก็ยังสวดมนต์ได้ไม่ขาดตอน

เน้นให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าพลานุภาพแห่งวัดพระธรรมกายคือ พลานุภาพแห่งเสียงสวดมนต์

พลังแห่งศรัทธา
พลังแห่งศาสนา

ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ เด่นชัดอย่างยิ่งในความเป็นเอกภาพ ความพร้อมเพรียงกันของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย

แม้จะประสบเข้ากับอำนาจอันแข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่แห่ง “มาตรา 44”

แต่บรรดาพระ สามเณร และคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกายผนึกพลังกันอย่างเหนียวแน่นและมั่นคง

ยืนหยัดปกป้อง “หลวงพ่อ” ของพวกเขา ยืนหยัดปกป้อง “วัด” ของพวกเขา

สิ่งที่เรียกว่า “กำแพงมนุษย์” ตามนิยามจากดีเอสไอ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ “กำแพง” แห่งความเชื่อมั่นและความศรัทธาในทางความคิดอย่างที่เรียกว่า “วิชชาธรรมกาย” ส่งผลให้ไม่กลัวความยาก ไม่กลัวความลำบาก และแม้กระทั่งไม่กลัวความตาย

พลานุภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่มีรากฐานมาจาก “ความเชื่อมั่น” หากที่สำคัญเป็นอย่างมากต้องดำเนินไปบนรากฐานแห่ง “การจัดตั้ง” อันมั่นคง