ถึงเวลาชี้ขาด… ตั้ง “ผู้เกษียณ” นั่งอธิการฯ ได้-ไม่ได้??

เป็นประเด็นฮ็อตในแวดวงราชภัฏ เมื่อ นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้พิจารณาทบทวนการเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากก่อนนี้ไปยื่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน มาแล้ว

หนังสือร้องเรียน ระบุว่า การตั้งผู้เกษียณ ให้ดำรงตำแหน่งบริหาร ขัดกับกฎหมายชัดเจน เนื่องจากมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พ.ศ.2547 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พ.ศ.2547 ระบุตรงกันว่า

“ให้มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมาตรา 17(13) แห่ง พ.ร.บ.มทร. พ.ศ.2548 และมาตรา 18(13) และตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามอบหมาย…”

ดังนั้น การแต่งตั้งอธิการบดีและผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการของ มรภ. และ มทร. จึงต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น

ไม่สามารถแต่งตั้งจากคนนอกหรือคนที่เกษียณได้

ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองนครราชสีมาและศาลปกครองสูงสุด ที่ระบุว่า

“การแต่งตั้งอธิการบดีนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 26 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.มทร.พ.ศ.2548 แล้ว บุคคลนั้นย่อมจะต้องมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 30 วรรคท้าย ยังระบุ

“ให้เลขาธิการ กกอ. เป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีและข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา” อีกด้วย

ดังนั้น การแต่งตั้งอธิการบดีและผู้บริหารที่ไม่ใช่ทั้งข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากขัดกับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบกับการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเลขาธิการ กกอ. เคยมีหนังสือสอบข้อหารือของหลายสถาบันทั้งเรื่องการกำหนดอัตราเงินเดือน การลา การสอบวินัยอธิการบดีที่เป็นผู้เกษียณ ว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

 

แม้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) จะออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ระบุว่าการแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณ สามารถกระทำได้และชอบด้วยกฎหมาย

พร้อมกันนั้น นางสมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มรภ.วไลยอลงกรณ์ ประธาน ทปอ.มรภ. ได้แถลงข่าวหลังหารือร่วมกับสมาชิก ทปอ.มรภ. และ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. ว่า การแต่งตั้งอธิการบดี มรภ. เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 มาตรา 18 วรรค 3 ที่กำหนดว่า การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทผู้บริหารให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ และในมาตรา 27 ยังกำหนดด้วยว่า การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหาร จากบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสามารถกระทำได้ ขณะที่ในมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.มรภ.พ.ศ.2547 ยังระบุถึงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไว้ชัดเจน โดยไม่มีข้อห้ามผู้เกษียณอายุราชการดำรงตำแหน่งอธิการบดีแต่อย่างใด

“ปัจจุบันอธิการบดี มรภ. ที่มีอายุเกิน 60 อยู่ในตำแหน่งประมาณ 20 คน ซึ่งทุกคนก็สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จะไม่มีการทบทวนเรื่องการกำหนดอายุผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มรภ. อีก เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกคนเก่ง มีประสบการณ์มาทำงานได้”

นางสมบัติระบุ

 

ขณะที่ นายรัฐกรณ์ ประธาน ทปสท. มองว่า ที่ ทปอ.มรภ. ออกมาแถลงดังกล่าวเพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณ เพราะขณะนี้มีหลายแห่งอยู่ระหว่างการสรรหาอธิการบดี และมีสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีมติเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณ ได้แก่ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.ร้อยเอ็ด มรภ.สงขลา มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.นครสวรรค์ และ มรภ.บุรีรัมย์ โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อมีช่วงอายุระหว่าง 63-69 ปี

“กฎหมายของ มทร. และ มรภ. เหมือนกันต่างกันเพียงเรียงมาตรา ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุม ทปสท. ซึ่งประกอบด้วยประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง และประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้หารือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณมาโดยตลอด โดยมีการนำประเด็น มทร.อีสาน มทร.ศรีวิชัย และ มรภ.บุรีรัมย์ มาหารือ เนื่องจากทั้ง มทร. และ มรภ. ใช้กฎหมายที่มีสาระเหมือนกัน ต่างกันเพียงเรียงมาตรา ฉะนั้น ที่ ทปอ.มรภ. ระบุว่าการตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณ ชอบด้วยกฎหมาย คงต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด”

นายรัฐกรณ์กล่าว

 

ย้อนกลับไปยังเคส มทร.อีสาน ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ให้ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น คือให้เพิกถอนคำสั่งสภา มทร.อีสาน ที่แต่งตั้ง นายวินิจ โชติสว่าง ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี เนื่องจากไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

ส่วน มทร.ศรีวิชัย ศาลปกครองสงขลาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้เพิกถอนคำสั่งนายกสภา มทร. ศรีวิชัย ที่แต่งตั้ง นายประชีพ ชูพันธ์ รักษาการอธิการบดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ออกคำสั่ง แต่มาในชั้นศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากนายประชีพ ได้ลาออกจากการรักษาการอธิการบดีก่อน

ส่วน มรภ.บุรีรัมย์ เมื่อเร็วๆ นี้ นายปัญญา เจริญพจน์ ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ได้ฟ้องนายกสภา และสภา ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เนื่องจากเสนอ นางมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 มีนาคม 2560 ขึ้นโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ทุเลาการบังคับในมติที่ประชุมสภา วาระพิจารณาเลือกอธิการบดีและประกาศเรื่องผลการเลือกอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ลงวันที่ 30 มกราคม 2560 ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยให้เหตุผลว่า แม้ พ.ร.บ.มรภ. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุของอธิการบดี แต่มาตรา 18 และมาตรา 65/2 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ มาตรา 19 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์ เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และจะพ้นจากราชการในสิ้นปีงบประมาณ หากจำเป็นต้องต่อเวลาราชการ จะดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ประเภทผู้บริหารและงานบริหารอื่นตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำหนดมิได้ ดังนั้น ตำแหน่งอธิการบดี จึงต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและจะต้องยังไม่เกษียณ

ถ้ายังไม่ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ขาด ดูท่าจะวุ่นหนัก เพราะนอกจากศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ทุเลาบังคับคดีกรณีของ มรภ.บุรีรัมย์แล้ว

ล่าสุดก็มีข่าวว่า มรภ.เชียงใหม่ได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ และ มรภ.มหาสารคามได้ฟ้องศาลปกครองขอนแก่นเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาด้วย

ต้องจับตาว่าที่สุดจะมีการชี้ขาดอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ย่อมกระทบถึงการแต่งตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรัฐและตำแหน่งบริหารอื่นๆ อีกมากมายแน่…