ในประเทศ : “พิธา” ถือธงนำพรรคก้าวไกล วัดฝีมือแม่ทัพภาคต่อ “อนค.”

ไม่รู้ด้วยเหตุผลประการใดที่อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคการเมืองใหม่ในสนามการเมืองไทยจึงถูกสกัดขาแบบไม่จบสิ้น แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรค อนค. และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรค อนค. ต่างก็ไม่เคยลงสู่สนามการเมืองมาก่อน พูดไปแล้วเขี้ยวเล็บคงไม่คมเท่านักการเมืองบางคนที่เห็นหน้าค่าตากันประจำด้วยซ้ำ แต่กลับโดนสารพัดคดี

ไล่ตั้งแต่คดีหุ้นสื่อวี-ลัค คดีที่ไม่ควรจะเป็นคดีอย่างคดีอิลลูมินาติ จนมาสิ้นสุดกันที่ “คดีเงินกู้พรรค” จบฉากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“แกนอุดมการณ์” ของอดีตพรรคอนาคตใหม่มีความชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่า ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างแท้จริง ชูธงนำทลายอำนาจรวมศูนย์ คืนกลับสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง หากจะเข้ามารื้อโครงสร้างแบบถอนรากถอนโคนเช่นนี้ คงเลี่ยงยากที่จะไม่กระทบกระเทือนคนที่ได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศย่ำอยู่กับที่อย่างแน่นอน ถ้าปล่อยให้พลพรรคอนาคตใหม่ยังลอยหน้าลอยตาต่อไป คงไม่เป็นการดี

ต้องรีบลงดาบจัดการจำกัดการเติบโตเสียแบบทันทีเลยหรือไม่

 

ตลอดช่วงมรสุม 2 ปี ก็อดทึ่งกับความอึด ถึก ทนของพรรคนี้ไม่ได้ งานในสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องทำ นโยบายพรรคที่สัญญากับประชาชนไว้ก็ต้องผลัก ไม่วายต้องแบ่งแรงแบ่งเวลามาสู้คดีที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดอีก

มาไกลได้ขนาดนี้คอการเมืองหลายคนถึงกับยกนิ้วนับถือ ยอมรับว่าแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้งที่เปิดหน้าและที่ไม่เปิดหน้าออกสื่อ วางโครงสร้างภายในพรรคมาเป็นอย่างดี ฟันเฟืองขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ รับฟังความเห็นระหว่างกัน

ด้วยความที่พรรคมีขนาดเล็ก ไม่มีมุ้ง ไม่มีซุ้ม จึงมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน และควบคุมให้สอดรับกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ การวางตัวคนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ก็ไม่ได้จับคนที่เป็นตัวเก็งหรือคีย์แมนมานั่งทั้งหมด ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรกับพรรคขึ้นก็ยังพอต่อลมหายใจให้มีชีวิตรอดต่อไปได้

ต่อมาเมื่อเกิดกระแสลือหนาหูว่าพรรคจะถูกยุบ คำถามคือ ใครจะเป็นผู้นำต่อจากธนาธร เมื่อพิจารณาดูความเป็นไปได้ หัวหน้าคนต่อไปน่าจะมีชื่อว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ที่ไม่ได้เป็น กก.บห.

ไม่นานก็เกิดความชัดเจน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พรรคถูกยุบตามที่หลายคนคาดการณ์ “ธนาธร” ได้ปลดเข็มกลัดสามเหลี่ยมหัวกลับสีส้ม อันเป็นสัญลักษณ์ของอดีตพรรค อนค. ส่งมอบต่อให้กับ “พิธา”

ซึ่งพิธาเปิดเผยว่า “ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าผมเป็นหัวหน้าพรรค เพราะการเป็นหัวหน้าพรรคได้จะต้องมีมติจากที่ประชุม ตอนนี้ผมเป็นเพียงตัวแทนของ ส.ส.ที่เหลืออยู่”

จนวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา “พิธา” ก็นำทีม ส.ส.อดีตพรรค อนค. ทั้งหมดรวม 55 คน แถลงเปิดตัวพรรคใหม่ที่ชื่อว่า “ก้าวไกล” ประกาศทำงานตามอุดมการณ์เดิมใต้สังกัดพรรคใหม่ ซึ่งจะเรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และ กก.บห. อีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป

ในวันนั้นเขาเน้นย้ำว่า ธนาธรและปิยบุตรจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านหลังใหม่นี้ ชัดเจนว่าขีดเส้นแยกกันเดินในฉากหน้า ถือเป็นการป้องกันคำครหาว่าหัวหน้าพรรคคนเก่าจะมาครอบงำพรรคใหม่ที่กำลังเดินหน้าต่อไป

ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไม่ให้ลามไปถึงพรรคก้าวไกล

เพราะธนาธร ปิยบุตร และแกนนำคนอื่นที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ก็เริ่มต้นเคลื่อนไหวทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านคณะอนาคตใหม่

ทั้งนี้ ธนาธรได้กล่าวในงานผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาว่า

“ตอนนี้ผมไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนอะไรได้ แต่นั่นก็หมายความว่าผมก็ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด ผมสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น”

ในส่วนนี้ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า การเคลื่อนไหวที่อิสระมากขึ้นของธนาธรจะขึ้นไปสู่ระดับใด ในยามที่การเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ของนักเรียน นิสิต นักศึกษากำลังก่อตัวขึ้นทั่วประเทศ จะเลยเถิดไปถึงการปลุกม็อบลงถนนอย่างที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามห้ามปรามไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

 

คาดว่าบางคนอาจจะตั้งคำถามว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หัวหน้า ส.ส.อย่าง “พิธา” จะสามารถนำพาสมาชิกและทีมงานไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ยากที่จะปฏิเสธว่าวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเขาที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากในการขับเคลื่อนพรรคก้าวไกล แต่หากพูดถึงความเป็น “ผู้นำ” ส่วนนี้ก็ต้องให้เวลาและการทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์เท่านั้น

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ที่มาของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นพรรคที่ถูกจดจัดตั้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 อยู่ในลำดับที่ 29 ของบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการอยู่จากทั้งหมด 73 พรรค

ก่อตั้งโดยนายราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันมีนางปีใหม่ รัฐวงษา เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าพรรค เริ่มต้นจดในชื่อพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคผึ้งหลวง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย และแปลงร่างกลายเป็นพรรคก้าวไกล บ้านใหม่ของอดีตอนาคตใหม่ เรียกง่ายๆ ว่า “เซ้ง” พรรคเขามาอีกที

พรรคอนาคตใหม่ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Future Forward Party ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ Move Forward Party ของพรรคก้าวไกล อีกทั้งสัญลักษณ์ที่แจ้งต่อ กกต.ล่าสุดก็มีความเหมือนกับสามเหลี่ยมสีส้มของพรรคที่ถูกยุบไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โลโก้พรรคอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากการประชุมใหญ่ก็ได้

มาถึงตรงนี้ต้องตั้งข้อสังเกตว่า พรรคที่ถูกตั้งขึ้นก่อน คสช. ทำรัฐประหาร และนายราเชนธร์หัวหน้าพรรค มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับธนาธร หรือแกนนำ เหตุใดจึงได้รับความไว้ใจถึงขนาดนำมาใช้สืบทอดอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ได้

ความฝันที่คนเหล่านี้กำลังพยายามทำนั้นจะไปได้ไกลเพียงใด จะดิ้นรนอยู่รอดจนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่

เป็นเรื่องที่ “พิธา” และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล รวมทั้ง ส.ส. 55 คน จะต้องร่วมกันโชว์ฝีไม้ลายมือขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมาย ตามที่อดีตพรรค อนค.ปักธงไว้