วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /แหล่งข่าว

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

แหล่งข่าว

ตําแหน่งของคนทำงานหนังสือพิมพ์ที่สำคัญมี 2 ตำแหน่ง คือนักข่าว หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผู้สื่อข่าว” และช่างภาพ ส่วนผู้ที่อยู่นอกงานหนังสือพิมพ์แต่เกี่ยวพันกับงานหนังสือพิมพ์ที่สำคัญ คือแหล่งข่าว

ดังมีกำหนดในจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คือ

ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 หมวด 2 ข้อ 14 หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ หากให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ / หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดนามปากกาหรือนามแฝงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นไว้เป็นความลับ

ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ข้อ 4 เคารพในความไว้วางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว

 

แหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์มี 2 ประเภท คือประเภทที่เป็นแหล่งข่าวเปิดเผยทั้งอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ อาทิ บุคคลทั่วไป ข้าราชการในทุกตำแหน่งหน้าที่ ยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบสูง ยิ่งเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะแหล่งข่าวที่เปิดเผยชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ ทั้งไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะมีตำแหน่งหน้าที่หรือไม่มี เนื่องจากแหล่งข่าวบุคคลที่เป็นประจักษ์พยาน คือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

กับประเภทที่ไม่เปิดเผยดังกำหนดไว้เป็นจริยธรรม ส่วนความน่าเชื่อถือได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น หากเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ให้เปิดเผยชื่อและตำแหน่งหน้าที่ น่าเชื่อถือกว่าแหล่งข่าวที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งแล้วแต่ว่านักข่าวจะเชื่อถือหรือไม่

ดังกรณีข่าวอ้างว่าเป็นข่าวที่ได้มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้จากกระทรวงมหาดไทยของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่อีกฉบับหนึ่งอ้างเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือได้จากกระทรวงการต่างประเทศ อาจเป็นข่าวเดียวกัน แต่ผู้ให้ข่าวเป็นคนละคน หากมาจากที่เดียวกัน คือจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างนี้ถ้าเป็นข่าวที่ต้องตรงกันนับว่าเป็นข่าวเชื่อถือได้ แม้จะมาจากแหล่งข่าวคนละคน คนละตำแหน่งหน้าที่

ขณะที่หลายข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักจะแจ้งว่า แหล่งข่าวกล่าวว่า… ย่อมหมายถึงข่าวนั้นมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย ส่วนเป็นข่าวที่เชื่อถือได้หรือไม่นั้น เป็นความรับผิดชอบของนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

เมื่อข่าวมีความผิดพลาดจากข้อเท็จจริง แน่นอนว่าย่อมไม่พ้นจากความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ต่อไป “แหล่งข่าว” นั้นจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากนักข่าวคนนั้นไปเอง

 

หลังจากข่าวนิรโทษผู้ต้องหาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 16 ผ่านไปแล้ว ข่าวที่ยัง “ฮิตฮอต” ของหนังสือพิมพ์คือข่าวการโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารเข้ารับราชการในตำแหน่งระดับสูง อาทิ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมทั้งการแต่งตั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รองลงมาคือในกระทรวงสำคัญ เช่น ตั้งแต่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีบางกรมของบางกระทรวง

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร หนังสือพิมพ์มติชนมักนำเสนอตั้งแต่เข้าฤดูการโยกย้ายทั้งในวาระและนอกวาระ การนำเสนอข่าวประเภทนี้ ทั้งนักข่าวและบุคลากรในหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หาข่าวหรือได้ข่าวมาว่าอย่างไร ดังเช่น ขรรค์ชัย บุนปาน นอกจากมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการแล้ว ยังเป็นนักข่าว ต้องออกไปพบปะแหล่งข่าว บางครั้งไปคนเดียว บางครั้งพาหัวหน้าข่าวกับนักข่าวไปด้วย

ขรรค์ชัยมักพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในสำนักงานถึงการทำงานหนังสือพิมพ์ว่า อาชีพหรือตำแหน่งในหนังสือพิมพ์ของเขาคือ “นักข่าว” ส่วนตำแหน่งอื่นเป็นการบริหารจัดการ ดังนั้น ขรรค์ชัยจึงมีแหล่งข่าวมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวทางทหาร ตำรวจ หรือทางการเมือง เนื่องจากต้องไปพบปะกับแหล่งข่าวเป็นประจำ

นอกจากนั้น เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนก้าวขึ้นสู่ปีที่สองสามสี่ มีนักข่าว ช่างภาพ และผู้ร่วมงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีนักเขียน มีผู้ใหญ่ในวงการนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาร่วมงาน มาพบปะมากขึ้น ดังที่เคยเอ่ยถึงก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ เสนีย์ เสาวพงศ์ สุวัฒน์ วรดิลก ทวีป วรดิลก ที่มาเป็นนักเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นกว่าฉบับแรกๆ มีเสถียร จันทิมาธร มากำกับดูแล

ด้านการข่าว ทั้งข่าวการเมือง การทหาร และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีการนำเสนอข่าวเพิ่มจากเดิมเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นนายกสมาคมการค้า

เมื่อมีนักข่าวเพิ่มมากขึ้น แหล่งข่าวย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ในแต่ละวันมีข่าวผ่านเข้ามามาก ทั้งในขณะนั้น หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่ง มีการเลืกตั้งใหม่ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีที่แม้ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่บรรดาพรรคการเมืองและนัก การเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบายการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยการปรับวิธีจากใช้การทหารเป็นใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งเป็นนโยบายตั้งแต่ พล.อ.เปรมเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2

ดังนั้น เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายหนึ่งของรัฐบาลคือ “นโยบาย 66/2523”

นับแต่ พ.ศ. 2524 นโยบาย 66/23 ออกมา เป็นเหตุให้บรรดานิสิตนักศึกษาและผู้ที่ “เข้าป่า” หลังเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” ทยอยกลับเข้ามาสู่ครอบครัวอันอบอุ่น บ้างกลับเข้ามาเรียนต่อในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย บ้างไปศึกษาต่อต่างประเทศ แม้แต่ผู้ที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนหน้านั้น มีความเคลื่อนไหวขอกลับเข้ามามอบตัวตามนโยบาย 66/23

เป็นขณะเดียวกับที่มีข่าวโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารเข้ารับราชการ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการเหล่าทัพอื่น รวมถึงกรมตำรวจ

แล้วบ่ายวันหนึ่งต้นเดือนกันยายน 2525 ผมเพิ่งแยกทางจากรุ่นพี่ที่ออกไปรับประทานอาหารกลางวันไม่ไกลจากสำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน เข้ามาในสำนักงาน

จากนั้นประมาณชั่วโมงเศษ ผมได้รับโทรศัพท์จาก “เจญ เจตนธรรม” – เจน จำรัสศิลป์ นักเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า ได้ข่าวคุณอุดม สีสุวรรณ เข้ามามอบตัว

เท่านั้นแหละ ผมหูผึ่ง รีบหาหมายเลขโทรศัพท์แหล่งข่าวอดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.อารีย์ กะรีบุตร แล้วยกโทรศัพท์ต่อถึงทันที

พอรู้ว่าใครเป็นใคร พล.ต.ต.อารีย์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล แหล่งข่าวของผมและนักข่าวสายสันติบาลหลายคนตอบรับทันทีว่า ใช่ครับ ผมเพิ่งได้รับติดต่อเข้ามอบตัวเมื่อวันเสาร์นี้เอง