จัตวา กลิ่นสุนทร : รวมตัวกันวันนี้–เพื่อทวง “อนาคต”?

อยากย้อนเวลาเรื่องการต่อสู้เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” อีกสักเล็กน้อย

แต่จะไม่วนกลับไปถึงปี พ.ศ.2475 ขอกลับไปแค่ 6 ทศวรรษเศษ

ขอเริ่มต้นตรงรัฐบาล “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ก่อนถึง “จอมพลถนอม กิตติขจร” (อดีต) นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ซึ่งครองอำนาจมายาวนาน โดยเป็นรองนายกรัฐมนตรีตั้งแต่มียศ “พลโท” หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการ “ปฏิวัติ” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมปี พ.ศ.2506 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เรื่อยมายาวนานถึง 10 ปีเศษ

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว จอมพลถนอม กิตติขจร และคณะรัฐบาลมีอำนาจทั้งทางด้านการเมือง การทหารอย่างแท้จริง และพยายามบริหารบ้านเมืองคล้ายเป็นประชาธิปไตย โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2511 มีการก่อตั้งพรรคการเมือง ทำการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2512

เมื่อความนิยมตกต่ำ ไม่สามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงตัดสินใจทำการปฏิวัติตัวเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ฉีกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2511 ทิ้ง จัดตั้ง “สภาคณะปฏิวัติ” บริหารประเทศ

เป็นนายกรัฐมนตรี (สมัยที่ 5) ต่อมาอีก เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2515

 

รัฐบาลของจอมพลถนอมควบคุมอำนาจไว้แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งกองทัพและตำรวจ โดยภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุราชการก็ทำการต่ออายุตัวเองเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป

สโมสรนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัยได้รวมตัวกันเพื่อเปิดหูเปิดตา เปิดประตูสู่สังคมภายนอก และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6-7-8-9 มหาวิทยาลัยเพื่อพบปะสังสรรค์พร้อมช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประชาชน

จำได้ว่านายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เริ่มต้นเดินงานติดต่อนายกสโมสรนักศึกษา นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยความคิดริเริ่มของนายกองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเกษตรศาสตร์+จุฬาฯ+ศิลปากร+ธรรมศาสตร์+แพทยศาสตร์+ต่อมาเพิ่มมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบูรพา ขณะนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก่อตั้ง พ.ศ.2514)

โดยนัดประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังที่กล่าวมา ซึ่งในที่สุดก็มีแนวร่วมจากนักศึกษา องค์การนักศึกษานานาชาติที่เรียกว่า เวิลด์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เซอร์วิส (World University Service – WUS) ผนึกกำลังกันแน่นหนามากขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมประเทศ เป็นการเปิดกว้างสู่นักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนในยุคเริ่มต้นที่จะได้มีความร่วมมือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น

ยังจำได้แม่นยำพอสมควรเนื่องจากเป็นผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มริเริ่มรวมตัวกันครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 และสามารถรวมตัวกันก่อตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) เป็นรูปเป็นร่างได้ปลายปี พ.ศ.2512 พร้อมจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในต้นปี พ.ศ.2513

ก่อนที่จะจบการศึกษาออกไปประกอบอาชีพแบบทางใครทางมัน

 

วันสุดท้ายของการประชุมก่อนลงสัตยาบันร่วมกัน ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษาคณะวิศวะ จุฬาฯ รุ่นน้องท่านหนึ่งขอเข้าฟังการประชุมด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้เป็นเลขาฯ คนแรก และเคยนำศูนย์ออกไปมีบทบาทในสังคมเพื่อรณรงค์ต่อต้านสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น

ต่อมาเขาเป็นผู้นำนักศึกษาในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (14 ตุลาคม 2516) และขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอมและเครือญาติให้พ้นออกไป

เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมเดินแจกใบปลิวแก่ประชาชนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และถูกรัฐบาลจอมพลถนอมจับไปขังก่อนที่จะถูกกดดันด้วยพลังนิสิตนักศึกษาที่เริ่มรวมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนต้องปล่อย 13 ผู้ต้องหาออกมา

ความจริงเคยเขียนบอกเล่าเรื่องมาครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2561 โดยบอกว่าไม่รู้เหมือนกันทำไมถึงได้คิดถึงเรื่องที่ผ่านเลยมาแล้วเกือบ 50 ปีขึ้นมาอีก

รัฐบาลจอมพลถนอม+จอมพลประภาสและเครือญาตินั้นแข็งแกร่งอหังการเป็นอย่างยิ่ง แต่มีอันต้องล้มคว่ำ ต้องเดินทางออกนอกประเทศก็มาจากการเริ่มต้นจากนักศึกษา 13 คนที่เดินแจกใบปลิวเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่เรียกว่า “วันมหาวิปโยค”

 

ถึงวันนี้พอนึกออกแล้วว่าอาจสืบเนื่องมาจากที่ได้เฝ้าติดตามการบริหารประเทศชาติอย่างไม่กะพริบตาของรัฐบาล ซึ่งบอกว่าเป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนไม่ค่อยแตกต่างจาก “รัฐบาลทหาร” เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

ไม่เคยคิดเลยสักวินาทีว่ารัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ติดตามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 หลังจากใช้กำลังทหารเข้า “ยึดอำนาจ” รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีการสมคบคิดกันกับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เพื่อจัดทำขึ้นใหม่โดยใช้เวลานานพอๆ กับรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แต่กว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปกลับใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี หลังได้ทำการจัดวางทุกสิ่งทุกอย่างเตรียมทุกองค์กรไว้อย่างครบครันอย่างไม่เกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศเพื่อปิดกั้นพรรคการเมือง “ฝ่ายตรงข้าม” ไม่ให้มีโอกาสได้รับเลือกตั้งโดยเฉพาะตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2560)

โดยฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และวางแผนสืบต่ออำนาจได้เป็นผู้เลือกสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้กำหนดจำนวนไว้สำหรับในการเลือกตัว “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นคนแต่งตั้งเข้ามา รวมทั้งเป็นเสียงสำหรับ (ขัดขวาง) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 ด้วย

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้รับเลือกเป็น “นายกรัฐมนตรี” พรรค “พลังประชารัฐ” ของท่านได้รับเลือกตั้งเข้ามาแบบกระท่อนกระแท่นแต่ดั้นด้นจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ โดยมีคณะรัฐมนตรีดังที่ปรากฏ

ซึ่งไม่ได้เป็นที่แปลกใจแต่ประการใดสำหรับการเข้าสู่อำนาจ หรือสืบต่ออำนาจในครั้งนี้

 

ประเทศเรามีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชมนิยมของประชาชนไม่น้อย ได้รับเลือกจากประชาชนถึงกว่า 6 ล้านเสียง โดยมีผู้แทนฯ ทั้ง 2 ระบบรวมกันเป็นอันดับที่ 3 อย่างน่าประหลาดใจ และเป็นที่ตกใจของ “คนรุ่นเก่า, อำนาจเก่า” แต่สุดท้ายกลับมีอายุอันสั้นเพราะได้ถูก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) เสนอให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาตัดสิน “ยุบพรรค” พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการของพรรคเป็นเวลา 10 ปีไปเรียบร้อย

ผู้แทนราษฎรจากพรรค “อนาคตใหม่” ซึ่งว่ากันว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองสูงส่งที่ได้มารวมกัน ณ พ.ศ.นี้ เป็นผู้แทนประชาชนที่ยอมอุทิศความรู้ความสามรถเพื่อประชาชน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างแต่อย่างใด ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในที่สุดเพียงเวลาผ่านไปแค่ไม่กี่วันหลังถูกยุบพรรค

สิ่งที่ปรากฏกลับไม่แตกต่างกับ “ส.ส.น้ำเน่า,-ส.ส.ขายตัว” จากอดีต ไร้อุดมการณ์โดยสิ้นเชิง พฤติกรรมที่ปรากฏจึงไม่ต้องมาออกตัว แก้ตัวให้เมื่อยปากอีกต่อไป ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

พวกเขาคงคิดว่าจะไม่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาอีกในครั้งต่อไป จึงคิดหาทางทำให้มีฐานะเข้มแข็งไว้ก่อน โดยลืมประชาชน+คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคเดิมของเขา โดยเฉพาะ “กลุ่มนิสิตนักศึกษา” (นักเคลื่อนไหวที่รักความยุติธรรม+ประชาธิปไตย) ที่เริ่มออกมารวมตัวกัน เพื่อถามหา “ความยุติธรรม” เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ของประเทศบ้านเกิด

“ผู้มีอำนาจ” อย่าเหลิง อย่าทะนงตัว อย่าตั้งอยู่ในความประมาท ประเมินกลุ่มนิสิต-นักศึกษาที่เริ่มก่อตัวด้วยกลุ่มเล็กๆ จุดเล็กๆ ซึ่งในที่สุดอาจบานปลายไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่โต เพราะอะไรๆ ก็เริ่มต้นด้วยตรงจุดเล็กๆ ทั้งนั้น

พลังนักศึกษา แฟลชม็อบ ที่เริ่มก่อตัวในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ น่าจะเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้มีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ให้เป็น “ประชาธิปไตย” น่าจะตรงเป้าดีกว่า

จดหมายของนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 แห่งหนึ่งได้รับการเผยแพร่ เขาเขียนว่า “ตราบใดที่ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่มี “ประชาธิปไตย” จะไม่มีอนาคต–การรวมตัวกันวันนี้มาเพื่อทวงอนาคต”