เพ็ญสุภา สุขคตะ : เปิดตัว “สภาพลเมืองลำพูน” เวทีสาธารณะครั้งแรก “อนาคตศาลากลางหลังเก่า หมู่เฮากำหนด”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันนักข่าว ณ ลานโพธิ์ วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เวลา 09.00-12.00 น. จะมีกิจกรรมสำคัญในรูปแบบเวทีสาธารณะ เปิดประเด็นเสวนาเชิงประชาพิจารณ์หัวข้อ “อนาคตศาลากลางหลังเก่า หมู่เฮากำหนด”

จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และสภาพลเมืองลำพูน

สภาพลเมืองลำพูน คือองค์กรอะไร ใครเป็นผู้ก่อตั้ง

ไฉนจึงอาสามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้?

ปูมหลังของสภาพลเมืองลำพูน

ย้อนกลับไปสู่ปี 2556 รายการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” โดยคุณติ๊ก สุวรรณา บุญกล่ำ รุ่นน้องจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ประสานมายังดิฉันเพื่อช่วยเสนอรายชื่อบุคคลที่เป็นแกนนำในด้านต่างๆ ของเมืองลำพูน อาทิ นักการเมืองท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น นักขับเคลื่อนสังคม นักสิทธิพลเมือง โดยคุณติ๊กจะขอสัมภาษณ์ในคำถามที่ว่า

“ชาวลำพูนพร้อมจะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เหมือนชาวเชียงใหม่หรือไม่”

คำตอบในปี 2556 แม้จะยังคลุมเครือไม่ชัดเจนดีนัก แต่มันก็ไม่เคยจางหายไปจากตะกอนใจของคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง

กระทั่งได้รับการสานต่อโดย ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ที่เชื้อเชิญดิฉันและนักคิด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ในลำพูนมาหารือกันนอกรอบแบบไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560

ภายใต้แนวคิดที่อยากฟื้นฟูประเด็น “ลำพูนจัดการตนเอง” นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่ม “สภาพลเมืองลำพูน” อันเป็นองค์กรที่รวมตัวกันแบบหลวมๆ เปิดเสรีให้นักคิด นักสร้างสรรค์สังคม นักขับเคลื่อนกิจกรรม ข้าราชการทั้งที่เกษียณอายุแล้วหรือยังดำรงตำแหน่งหน้าที่การงาน เข้ามาร่วมคิด หารือ ยกประเด็นสาธารณะที่ต้องการแก้ไข บนเงื่อนไขที่ไม่ใช่งานรูทีนที่หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนรับผิดชอบบนหน้าตักกันอยู่แล้ว

สภาพลเมืองลำพูน มีเป้าหมายเพื่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนไปสู่ภาครัฐ และนำความเคลื่อนไหวของภาครัฐที่ทำงานแยกส่วนกันมาหลอมรวมสรุปเป็นภาพรวม แล้วนำไปบอกกับประชาชน อีกทั้งยังมีความประสงค์จะตั้ง “ศูนย์ลำพูนศึกษา” เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทุกด้านทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำพูน

แน่นอนว่าการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ของสภาพลเมืองลำพูน เป็นไปในรูปแบบจิตอาสา ของคณะบุคคลที่ต้องการเห็นเมืองลำพูนเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ถูกทิศทาง

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในบางโอกาส นั่นคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

เนื่องจาก ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกเป็นผู้ที่ร่วมยืนยันเจตนารมณ์ถึงความพร้อมว่า “ลำพูนสามารถจัดการตนเองได้” มาตั้งแต่ต้น

กิจกรรมแรกที่ถือเป็นการเปิดตัวผลึกความคิดของสภาพลเมืองลำพูน ก็คือเวทีสาธารณะในประเด็น “อนาคตศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่า หมู่เฮากำหนด”

เรียนเชิญผู้สนใจร่วมประชาพิจารณ์

รายละเอียดของการเสวนาเชิงประชาพิจารณ์ที่จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และสภาพลเมืองลำพูน ในวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคมที่จะถึง มีกำหนดการดังนี้

๏ ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กล่าวเปิดงาน

๏ พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน กล่าวสัมโมทนียกถา

๏ อาจารย์แสวง มาละแซม นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวยองลำพูน นำเสนอเรื่องประวัติการก่อตั้งศาลากลางจังหวัดลำพูน

๏ ผศ.สืบพงศ์ จรรย์สืบศรี สถาปนิก อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ นำเสนอ โมเดลอาคารหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหริภุญไชย ในนามเทศบาลเมืองลำพูน

๏ คุณไชยยง รัตนอังกูร ร้านTemple House และผู้บริหาร ICONCRAFT นำเสนอมุมมองในฐานะนักวางแผนเชิงสร้างสรรค์ และนักธุรกิจรุ่นใหม่ชาวลำพูน

๏ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมวลภาพรวมและทิศทางอนาคตศาลากลางจังหวัดลำพูนบนความน่าจะเป็น ตอบโจทย์ต่อทุกฝ่าย

๏ อาจารย์นพพร นิลณรงค์ กรรมการสภาพลเมืองลำพูน ผู้ดำเนินรายการ

โดยที่เราจะฟังเสียงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าแต่ละคนฝันที่จะเห็นพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเดิมใช้สอยประโยชน์ในมิติไหน

ในเมื่ออนาคตอันใกล้นี้ หน่วยราชการต้องย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง ทางขึ้นดอยขุนตานแล้ว

คำถามที่ตามมามากมาย ร้านรวงในเขตคูเมืองหอยสังข์ชั้นในของลำพูนจะร้างหรือไม่ ในเมื่อลูกค้าขาประจำที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใจกลางเมืองลำพูน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในศาลากลางมากกว่านักท่องเที่ยว

 

ชาวลำพูนได้อะไรหลังจากเปิดเวทีสาธารณะ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และสภาพลเมืองลำพูน มีความหวังว่า หลังจากที่เปิดเวทีสาธารณะแล้ว ก็จะพอทราบถึงเจตจำนงของประชาชนชาวลำพูนได้ดีระดับหนึ่ง

ว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้พื้นที่ทำประโยชน์ด้านใด

บ้างก็อยากได้พื้นที่สีเขียว หรือลานจอดรถ บอกให้รื้ออาคารทิ้งเสีย ทั้งๆ ที่อาคารศาลากลางกำลังมีอายุย่างเข้า 7 ทศวรรษในปีหน้า 2564

บางองค์กรอยากทำเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าโอทอป หัตถกรรม ศูนย์วัฒนธรรมจัดเลี้ยงขันโตก บางหน่วยงานต้องการปรับปรุงให้เป็นหอประวัติปูมเมืองลำพูน เนื่องจากมองว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ของกรมศิลปากรนั้นมีขนาดเล็ก และตอบโจทย์แค่ด้านโบราณคดีเท่านั้น

ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะนำเสนอเรื่องราวพระราชประวัติของพระนางจามเทวี ครูบาเจ้าศรีวิชัย ชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ มอญ ลัวะ ลื้อ ยอง ยวน ไทใหญ่ จีนไหหลำ สยาม ฯลฯ

ข้อสำคัญ “ของดี 8 อำเภอ” ในจังหวัดลำพูนก็ยังไม่มีจุดโฟกัสสรุปภาพรวม เพื่อจ่ายต่อไปยังอำเภอต่างๆ หรือแม้แต่พื้นที่สำหรับศิลปินร่วมสมัย รวมทั้งสล่าพื้นบ้าน ก็ยังไม่มีเวทีให้นำผลงานมาจัดแสดงเชิดชู

โจทย์เหล่านี้คือการบ้านของพี่น้องชาวลำพูนที่ต้องช่วยกันขบคิด มองเผื่อไปยังอนาคตอีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ในเวทีสาธารณะครั้งนี้ น่าจะนำไปสู่การคัดเลือกคณะกรรมการตัวแทนภาคประชาสังคมไปขับเคลื่อนพิจารณากำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ศาลากลางหลังเดิมร่วมกับภาคราชการ ท้องถิ่น เอกชน บรรพชิต นักวิชาการ ศิลปิน ฯลฯ ต่อไป

อย่างไรเสีย ไม่ว่าหน้าตาของศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังนี้ในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมกลายเป็นอะไรก็สุดแท้แต่ สิ่งหนึ่งที่ดิฉันขอร่วมเรียกร้องให้เกิดขึ้นในฐานะนักโบราณคดี ก็คือ

ขอให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีก่อนจะปรับปรุงอาคาร เนื่องจากเคยพบประติมากรรมดินเผารูปตุ๊กตาคนจูงลิง (เป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปีศาจ) และผู้หญิงถือนกแก้ว (นางหาริตี เป็นเครื่องรางสำหรับปลอบเด็กทารกตอนร้องไห้งอแง) ในหลุมขุดค้นด้านหน้าใกล้ประตูศาลากลางเมื่อปี 2528 โดยกรมศิลปากร

โบราณวัตถุเหล่านี้มีอายุร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเพียงไม่กี่ชิ้นที่ยืนยันความเก่าแก่ของอาณาจักรหริภุญไชย เนื่องจากเราไม่พบศิลาจารึกที่เก่าแก่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

ท่านที่สนใจเชิญร่วมงานได้ตามอัธยาศัย ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องโทร.จองลงทะเบียนล่วงหน้า เพราะเป็นเวทีสาธารณะ เปิดสำหรับทุกคนได้แสดงความเห็น