รายงานพิเศษ : เปิดหัวใจคนทำเรียลลิตี้ งานไม่มี “สคริปต์” เพราะแค่ “วางแผน” ก็ส่งผล

ไม่ใช่แค่ “เดอะ เฟซ ไทยแลนด์” เท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่ “เรียลลิตี้” เหมือนดังคำโฆษณาของรายการ ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผ่านจอมาให้เห็นชวนให้สงสัยว่า “ความเผ็ช” ที่ได้มาน่ะสคริปต์ไหม?

และแม้คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก เอ็กเซ็กต์คิวทีฟ โปรดิวเซอร์ รวมถึงเมนเทอร์ตัวแม่อย่าง ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มี้ ไม่ใช่ แต่หลายๆ คนก็เหมือนจะไม่เชื่อ

หาก นุษาร ทรรศะพายัค โค-โปรดิวเซอร์ของรายการ ก็มาช่วยยืนยันอีกเสียง ว่าเชื่อเถอะ เพราะมันคือเรื่องจริง

จะมีก็เพียงแค่ “การวางแผนอย่างดี” ก็เท่านั้น

แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดดังว่า เรามาทำความรู้จักกับเขาสักนิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าควรจะเชื่อเขาสักแค่ไหน เอ, หรือไม่ควรจะเชื่อดี

 

นุษารคือผู้ชายวัย 50 ปีที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบอกกับเราว่ารู้ตัวมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าชอบงานด้านโทรทัศน์แบบนี้ แต่ไม่กล้าแข็งพอจะต่อต้านมารดา ซึ่งอาศัยจิตวิทยาขั้นสูงมาโน้มน้าว อย่างไรก็ตาม เมื่อทำงานตามสายของวิศวกรมาได้กว่า 10 ปี ก็ตัดสินใจลาออก ด้วยเหตุผลสั้นๆ “มันไม่มีความสุข”

“ตอนเรียนจบกลับมา บอกบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ที่รู้จักกันมานานว่าอยากทำ บอยบอกมาเลย เพราะวงการนี้ขอให้ หนึ่ง มีใจรัก สอง มีความช่างสังเกต แล้วเขาก็ว่ามาทำกับเขาไหม” เขาเล่าเหตุการณ์เมื่อ 24-25 ปีก่อน พร้อมสารภาพว่าตอนได้ยินก็ดีใจ คิดจะตอบรับ ติดก็แต่บอยชิงถามถึงตัวเลขเงินเดือนที่ได้อยู่ ครั้นพอรู้ว่าตกเดือนละ 4 หมื่นกว่า เขาก็ว่า “มึงทำงานของมึงไป ไม่ต้องเข้าแล้ว ไม่มีเงินจ่าย” เจ้าตัวเล่าพลางหัวเราะ

แต่ก็นะ คนมีดวงจะได้เข้า อะไรก็ห้ามไม่อยู่ เพราะจู่ๆ ด้วยความที่คุ้นเคยกับ ดู๋-สัญญา คุณากร ซึ่งตอนนั้นเปิดบริษัท ดีทอล์ก จำกัด เพื่อทำรายการโทรทัศน์ เขาก็ได้รับโอกาสดี ได้เรียนรู้ทั้งด้านการตัดต่อ และต่างๆ นานา

เป็นอย่างนี้จนมาถึงจุดที่รู้สึกว่า “อยู่กับงานตามสายที่เรียนมาไม่ได้” ในวัย 36 ปี

“ตอนนั้นรู้สึกอยู่ไม่ได้จริงๆ เลยลาออก แล้วไปเรียนคอร์สสั้นๆ เพื่อจะสร้างหนัง”

เรียนแล้วก็ตัดสินใจเปิดบริษัท ทำโน่น นั่น นี่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก กระทั่งได้มาจับงานด้านรายการเรียลลิตี้ทางโทรทัศน์นั่นแหละ

 

เริ่มจาก “เกมกลยุทธ์” เมื่อปี พ.ศ 2551 ก่อนจะตามมาด้วยอีกหลายๆ รายการ อย่าง “แอลจี สตาร์ ทาเลนต์”, “เดอะ เทรนเนอร์ ปั้นฝันสนั่นเวที”, “แดนซ์ ยัวร์ แฟต ออฟ”, “เดอะ เฟซ ไทยแลนด์”, “The Bachelor Thailand ศึกรัก สละโสด” ฯลฯ จนเราๆ สามารถเรียกเขาได้ว่าเป็นมือวางอันดับต้นของวงการเรียลลิตี้เมืองไทย

“บอกตามตรง การทำรายการเรียลลิตี้นี่ยากนะ ยากมาก” เขาว่า

“ผมอยากทำรายการประจำ เพราะพอเป็นเรียลลิตี้แล้ว เราต้องอยู่กับมัน ต้องดูรายละเอียด คือท้ายที่สุดแล้วเรียลลิตี้คือการเตรียมพร้อม เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในรายการ ไม่ได้มีสคริปต์ให้ใครพูดอะไร หรือบอกว่าต้องพูดอย่างนี้ เราเพียงแต่ตั้งสมมุติฐานว่าถ้าทำอย่างนี้ มันน่าจะเกิดอย่างนี้ แล้วก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรอ ซึ่งมันใช้พลังมหาศาล”

แปลความจากสิ่งที่เขาพูดคือ ที่โปรดิวเซอร์อย่างเขาทำคือการให้โจทย์ หรือไม่ก็กำหนดสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นให้ผู้ร่วมรายการปฏิบัติ จากนั้นก็รอรับผลที่จะตามมา

สถานการณ์ที่ว่านั้น เขาบอกว่าส่วนใหญ่มักเกิดขึ้น เพราะผู้ที่ร่วมอยู่ในรายการมักลืมไปว่า “มีกล้อง” คอยตามจับตาอยู่

“โดยจิตวิทยาวันแรกๆ คือ ใช่ เขารู้ว่ามีกล้อง แต่หลังๆ คงชิน คือไม่ใช่ไม่รู้ รู้ แต่ชิน เหมือนตอนที่ผมเดินเข้าไปในซีนเพื่อทะเลาะกับคริส (คริส หอวัง เมื่อครั้งเดอะ เฟซ ซีซั่น 2) เรารู้จิตวิทยาของการถ่ายทำเรียลลิตี้ ที่ทุกคนจะลืมไปเลยว่ากล้องไหนคือกล้องไหน แต่คนอื่นไม่เข้าใจไง คนอื่นคิดว่าเล่นกันหน้ากล้อง”

“ต้องเข้าใจนะว่า เรียลลิตี้ถ่ายไม่ต่ำกว่า 6 กล้อง 8 กล้อง หรือบางทีก็ 10 กล้อง แล้วถ่ายตั้งกี่วัน วันหนึ่งประมาณ 6-8 ชั่วโมง เท่ากับมีฟุตอยู่เป็น 10 ชั่วโมงต่อกล้อง แล้วตัดอย่างไรให้เหลือในเวลาแค่ไม่กี่สิบนาที”

พูดง่ายๆ คือมีของดีให้เลือกเยอะ

 

ยิ่งเมื่อนำมาประกอบกับการแคสติ้ง เลือกผู้ที่จะมาร่วมรายการ ดู “เคมี” ระหว่างกัน ที่น่าจะสร้างสีสันให้ได้แล้ว อะไรๆ ก็จะยิ่งดีไปใหญ่

“รายการจะสนุกไหม ขึ้นอยู่กับการแคสติ้ง 50% และก็ทีมโปรดักชั่น ขึ้นกับทุกจุด เก็บบรรยากาศได้ครบหรือเปล่า และการตัดต่อต้องเพิ่มอรรถรส”

เล่าด้วยว่ารายการเหล่านี้ แม้จะเป็นรายการเดียวกัน แต่รายละเอียดนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

เช่น รายการ “แดนซ์ ยัวร์ แฟต ออฟ” เฉพาะเวอร์ชั่นที่เขาทำจะต่างกับเวอร์ชั่นในต่างประเทศ “เมืองนอกจะเป็นดราม่าร้องไห้ แต่ผมรู้สึกว่าบ้านเราไม่ได้ดูถูกคนอ้วน เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนอ้วนเขาเก็บกดคือความอ้วนของเขา ไม่ได้เก็บกดว่าสังคมเหยียดหยาม พวกเรามองคนอ้วนเป็นคนสนุกสนาน ผมเลยทำให้มันติดตลก ใสขึ้น ฮาขึ้น”

แต่แน่นอนคนทำบางเวอร์ชั่นในบ้านเราก็อาจมองในอีกแบบ ดังนั้น รายการนี้ในแต่ละซีซั่นจึงมีความแตกต่าง

“หรือเดอะ เฟซ ของเขาเป็นนางแบบ แต่ของเรามันไม่รอด วงการนางแบบเมืองไทยไม่แข็งแรงพอ เราก็เลยต้องเป็นนางเอก นางแบบ นักแสดง ทุกอย่างรวมกันในเดอะ เฟซ”

 

“จะว่าไปการทำเรียลลิตี้มันก็สนุก แต่ก็เหนื่อย เพราะเราต้องเตรียมงานกันนาน ทุกคนคิดว่ามันง่าย แต่มันละเอียดมากนะ มันเป็นรายการ ไม่ใช่เรียลลิตี้ที่ปล่อยทุกอย่างแล้ววิ่งไล่ตาม”

“ผมนิยามเรียลลิตี้ให้ฟังอีกที เดี๋ยวคนเข้าใจผิด คนเข้าใจเรียลลิตี้คือปล่อยแล้วเอากล้องถ่าย แล้วเอาแปะ ใส่เสียง ไม่ใช่ครับ อันนั้นคือสารคดี เรียลลิตี้คือรายการทีวีที่จะต้องมีดราม่า มีเอ็นเตอร์เทน มีไคลแมกซ์ แต่ไม่มีสคริปต์ ไม่ได้บอกให้เขาตัดสินใจอย่างไร ไม่ได้มีกลไก แต่มีการวางแผน”

“เรียลลิตี้ไม่ใช่ละคร แต่มันคือการค่อยๆ บิ๊วต์ เพราะมนุษย์ธรรมดามันไม่ได้มาถึง เจอกัน แล้วซัด”

“แต่มันจะเป็นอย่างนี้ทุกรายการ”

ตามประสาเรียลลิตี้