การ์ตูนที่รัก /นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Toy Story 4

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Toy Story 4

 

จุดจบของตุ๊กตาอยู่ที่ไหน หากมิใช่ถูกบริจาคก็กองขยะ

หนังทอยสตอรี่ภาคสี่ได้รับตุ๊กตาทองหนังการ์ตูนเรื่องยาวยอดเยี่ยมปีนี้ ความดีงามมากที่สุดของหนังอยู่ที่ตอนจบ เหมือนกับหนังยอดเยี่ยมจากเกาหลี Parasite ความหมายที่แท้อยู่ที่ตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ตอนต้นของหนังทอยสตอรี่ 4 มีเรื่องทางจิตวิทยาชวนคุยได้มาก

 

เรื่องเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีก่อน แอนดี้ยังเป็นเด็กคนเดิมที่เราได้เห็นเมื่อภาคแรก คืนนั้นน้องสาวของแอนดี้เอาตุ๊กตาบางตัว “ลงกล่อง” เพื่อบริจาค โบ ตุ๊กตาสาวเลี้ยงแกะสามหัวตัวติดกันถูกนำลงกล่องด้วย วู้ดดี้ ตุ๊กตานายอำเภอฝ่าสายฝนจากตัวบ้านไปที่กล่องซึ่งวางตากฝนอยู่ท้ายรถ เขาพยายามช่วย “ชีวิต” ของโบกลับมา

“ชั้นไม่ใช่ตุ๊กตาของแอนดี้” โบพูด มั่นคงและสงบ อันเป็นลักษณะของเธอเสมอมา

จะเห็นว่าตุ๊กตาที่มีเจ้าของไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีเจ้าของเสียอีกที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพทำอะไรตามใจตัวได้มากกว่า แต่ว่าเราจะเห็นความร้ายกาจของตุ๊กตาที่ไร้เจ้าของตลอดทั้งเรื่อง และดูเหมือนว่าตุ๊กตาทุกตัวที่เราเห็นอยากจะมีเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวู้ดดี้

หนังเรียกตุ๊กตาไร้เจ้าของว่า “ตุ๊กตาหลงทาง”

ตามบริบทของหนัง เจ้าของตุ๊กตามีความสำคัญต่อตุ๊กตามากเท่ากับที่พ่อ-แม่มีความสำคัญต่อลูกๆ เจ้าของทำให้ตุ๊กตารู้สึกถึง “ความหมาย” และ “คุณค่า” ของตนเอง คือ self เป็นสำคัญ เราจะเห็นลักษณะนี้ชัดเจนในตัววู้ดดี้เรื่อยมา เขามีความหมายและมีคุณค่าเมื่อเป็นของแอนดี้ และได้ทำอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างให้แอนดี้ ครั้นวันนี้เขามาอยู่กับบอนนี่ เขายังคงทำตัวแบบเดิม

แม้ว่าบอนนี่แสดงออกว่าไม่ต้องการเขาก็ตาม

LEADING THE WAY — In Disney•Pixar’s “Toy Story 4,” Bonnie’s beloved new craft-project-turned-toy, Forky, declares himself trash and not a toy, so Woody takes it upon himself to show Forky why he should embrace being a toy. Featuring Tom Hanks as the voice of Woody, and Tony Hale as the voice of Forky, “Toy Story 4” opens in U.S. theaters on June 21, 2019…©2019 Disney•Pixar. All Rights Reserved.

 

ปัจจุบัน วันนี้วู้ดดี้ บัซไลต์เยียร์ และผองเพื่อนครบชุดอยู่กับบอนนี่ เด็กหญิงตัวน้อยที่ไม่อยากไปโรงเรียนวันแรก เธอไม่สบายใจ กังวล และกลัว เธอขอพ่อ-แม่เอาตุ๊กตาไปด้วย แต่พ่อ-แม่ตอบว่าโรงเรียนไม่อนุญาต ทั้งหมดนี้ไม่พ้นสายตาของวู้ดดี้ที่แอบดูอยู่ด้วยความห่วงใย

วู้ดดี้แอบเข้ากระเป๋าของบอนนี่ท่ามกลางการคัดค้านของเพื่อนๆ

เด็กเล็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่สบายใจ กังวล ไปจนถึงกลัว แต่ที่พวกเขากลัวมิใช่กลัวไปโรงเรียน คำศัพท์ school phobia จึงถูกยกเลิกไม่ใช้ไปนานมากแล้ว ที่เด็กกังวลคือการพลัดพรากจากแม่ เราจึงใช้คำว่า separation ในช่วงหลัง เด็กที่ยังเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered) สามารถกังวลหรือกลัวการไปโรงเรียนได้ทุกคน นั่นคือกลัวพลัดพรากจากแม่ซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับเขา ที่ศูนย์กลางของบ้าน และศูนย์กลางของจักรวาล

เด็กจะพร้อมแยกตัวจากไปเมื่อแม่มีอยู่จริง – Being There – อยู่ที่นั่นเสมอ

เด็กพร้อมหรือไม่พร้อมแยกตัว แม่มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน หากเด็กคนหนึ่งจะกังวลหรือกลัวการพลัดพรากก็เพราะเขาเป็นเช่นนั้นเองโดยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกี่ยวกับโรงเรียนแน่ เพราะโรงเรียนประเทศไทยพรากลูกๆ ไปจากแม่ๆ เร็วมาก เร็วเสียจนเรียกได้ว่าผิดปกติและสร้างความผิดปกติทั่วทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ สร้างความเสียหายต่อจิตใจและก่อพยาธิสภาพทางจิตให้เด็กไทยมากมายในอนาคต

ในทางจิตวิทยา ตุ๊กตาเป็นที่สิงสู่ของแม่ เด็กหลายคนไม่พร้อมพรากจากแม่เป็นเรื่องปกติ ที่เขาทำคือนำ “แม่” ไปไว้ “ในตุ๊กตา” แล้วนำตุ๊กตาไปไหนๆ ด้วยกันรวมทั้งไปโรงเรียน เพื่อให้แม่อยู่ที่นั่น – Being There – กับเขาตลอดเวลา มิได้พรากจากกัน นั่นคือที่บอนนี่ขอ แต่พ่อแม่ไม่ให้

วู้ดดี้ให้ แม้ว่าจะไม่ใช่กงการของเขา ก็เขาเป็นตุ๊กตาของบอนนี่นี่นา ความมีอยู่จริงของเขาและคุณค่าของเขาอยู่ที่เขาจะทำอะไรให้บอนนี่ได้มากน้อยเพียงใด จะเห็นว่าเขาเป็นตุ๊กตาที่มีพัฒนาการมาไกลมาก จากเรื่องความหมายของตัวเองในภาค 1 วันนี้เขามาถึงพัฒนาการเรื่องความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ กับพร้อมจะทำความดีโดยไม่มีสิ่งตอบแทน (empathy& altruism)

วู้ดดี้จึงเกาะกระเป๋าของบอนนี่ไปที่โรงเรียนแล้วก็เป็นไปตามคาด แม้ว่าครูของเวนดี้จะสวยและใจดีเพียงใดก็ไม่สามารถลบความกังวลและเศร้าสร้อยของบอนนี่เมื่อแม่ถอยจากไป วู้ดดี้รู้งานอยู่แล้วจึงเอาส้อมใช้แล้วทิ้งกับเศษขยะในถังผงข้างตัวบอนนี่มาประดิษฐ์ตุ๊กตาหน้าตาและรูปร่างน่าทุเรศให้แก่บอนนี่ตัวหนึ่ง

บอนนี่สร้างความผูกพัน (bonding) กับตุ๊กตาที่มาจากขยะทันที ตั้งชื่อให้ว่าฟอร์กกี้

 

หนังสนุกสนานตรงที่ฟอร์กกี้มาจากกองขยะ เขาไม่สามารถพลัดพรากจากถังขยะที่เขาอยู่เช่นกัน เขาจึงเพียรพยายามหนีจากบอนนี่กลับไปอยู่ในกองขยะเช่นเดิมเสมอ สร้างภาระให้แก่วู้ดดี้ที่ต้องไปเอาเขากลับมาจากกองขยะแล้วสั่งสอนเขาเรื่องความหมายและคุณค่าของตนเองในฐานะ “ตุ๊กตาของบอนนี่”

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ คุณค่ามิใช่เรื่องที่วู้ดดี้จะใช้วาจาสร้างขึ้นมาได้ เป็นฟอร์กกี้ต้องทำเอง ทำแล้วจึงจะเห็นความหมายและคุณค่าของตนเอง คือ self-value

เนื้อเรื่องของหนังจะอยู่ที่ประเด็นนี้มากกว่าครึ่งเรื่อง ไม่เพียงบัซไลต์เยียร์จะได้ติดตามวู้ดดี้มาประกอบภารกิจสำคัญนั่นคือเอาฟอร์กกี้กลับไปให้บอนนี่ วู้ดดี้ยังได้พบโบอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ชะตาชีวิตของเธอระหกระเหินผ่านเจ้าของหลายคนก่อนที่จะไปลงท้ายที่ร้านขายของเก่า แล้วเป็นอิสระจากร้านขายของเก่าอีกที

หรือว่าการเป็นตุ๊กตาหลงทาง เป็นตุ๊กตาในกองขยะ จะดีกว่าเป็นตุ๊กตาที่มีเจ้าของ