Paradise Go Go Bar ภาพชีวิตของผู้คนในย่านราตรี

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในวันสุดท้ายของเดือนแห่งความรักนี้ มีงานนิทรรศการหนึ่ง เราอยากเชิญชวนผู้อ่านให้ไปดูชมกัน นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

Paradise Go Go Bar

นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของตะวัน วัตุยา ศิลปินหนุ่มหน้าหยกชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล

ตะวันเริ่มต้นการเป็นศิลปินอาชีพด้วยการวาดภาพสีน้ำมันและสีอะครีลิก สีสันจัดจ้าน ฝีแปรงหยาบกระด้าง เร่าร้อนรุนแรง

ก่อนที่จะหันเหมาวาดภาพสีน้ำ ด้วยฝีแปรงเลื่อนไหล ฉับไว ไร้กรอบและกฎเกณฑ์

ผลงานของตะวันถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาพบเห็นจากสิ่งรอบตัวทั่วไปอย่างสื่อสิ่งพิมพ์, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต, ข่าวสาร, เหตุบ้านการเมือง, ประเด็นอื้อฉาวในสังคม ไปจนถึงเรื่องราวบันเทิง มโนสาเร่ สัพเพเหระ

หรือแม้แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่แสร้งว่ารังเกียจเดียดฉันท์ (แต่จริงๆ แล้วแอบชอบกันทั้งนั้นแหละ!) อย่างเรื่องเซ็กซ์

สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในลีลาตลกร้าย แสบสัน จนสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ

ตะวันยังหลงใหลการวาดภาพพอร์ตเทรต ด้วยเหตุที่เขาชอบสังเกตผู้คนรอบตัว และใช้ทักษะการวาดสีน้ำอันแม่นยำฉับไว เก็บเอาภาพใบหน้าของผู้คนที่เขาสนใจเหล่านั้นเอาไว้ราวกับจะเป็นการสำรวจตรวจสอบ หรือบันทึกความทรงจำ ทั้งภาพของเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เขารู้จักมักคุ้นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคม (ทั้งไทยและเทศ) อย่างศิลปิน, ดารา, นักร้อง, เซเลบ, ซุป”ตาร์, นักกีฬา, ตำรวจ, ทหาร, นักการเมือง หรือผู้คนที่เขาพานพบระหว่างเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งชาวบ้านร้านตลาด กรรมกรก่อสร้าง

ไปจนถึงคนชายขอบของสังคมอย่างผู้ต้องหา, อาชญากร, นักโทษการเมือง, คนพลัดถิ่น, ผู้ลี้ภัย และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

ตะวันไม่ได้วาดภาพของพวกเขาเหล่านั้นออกมาอย่างประณีตเหมือนจริงเป๊ะๆ หากแต่จับเอาบุคลิกเฉพาะตัวของผู้คนเหล่านั้น และสิ่งรอบตัวถ่ายทอดอย่างอิสรเสรี เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก

ในนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ ตะวันเข้าไปสำรวจเบื้องลึกของสถานบันเทิงยามราตรีอันเลื่องชื่ออื้อฉาวของเมืองไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง “พัฒน์พงศ์” (อยากรู้ว่ามีชื่อขนาดไหนลองไปถามฝรั่งชื่อทอมดูได้ว่า “แวร์ยูโก ลาสไนต์?”) ที่มีภาพจำในหมู่บุคคลผู้มีศีลธรรมอันดีว่าเป็นย่านอโคจรที่ไม่ควรย่างกรายเข้าไป

ที่สำคัญ ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของตะวันไม่ได้จัดแสดงอยู่ในหอศิลป์สีขาวสะอาดตาหรือสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติที่ไหน

หากแต่ถูกจัดแสดงอยู่ในพื้นที่กึ่งอะโกโก้บาร์ กึ่งแกลเลอรี่ บนอาคารพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ หรือพัฒน์พงศ์มิวเซียม (Patpong Museum) (ที่ถ้าคุณลองไปเยี่ยมเยือนแล้วจะประหลาดใจว่ามีอะไรให้รับรู้ดูชมมากกว่าเรื่องเซ็กซ์แต่เพียงท่าเดียว)

นอกจากจะมีผลงานที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตในมุมโลกีย์ของพัฒน์พงศ์อย่างเปิดเผยจะแจ้งอย่างที่เรามาดหมายว่าจะได้เห็นแล้ว

ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานชุดหลักที่ตะวันใช้เทคนิควาดภาพสีน้ำอันเชี่ยวชาญของเขาบันทึกภาพใบหน้าของเหล่าบรรดาคนทำงานกลางคืนในย่านนี้ออกมาในรูปลักษณ์อันปกติสามัญ

และจัดแสดงในรูปแบบที่ดูไม่ต่างอะไรกับภาพถ่ายพนักงานดีเด่นในบริษัทหรือร้านรวงทั่วไป

ภาพวาดของตะวันแสดงให้เราได้เห็นว่า โดยเนื้อแท้แล้วผู้คนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรผิดแผกแตกต่างจากคนทำมาหาเลี้ยงชีพในยามกลางวันอย่างเราๆ ท่านๆ เลยแม้แต่น้อย

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากที่สองปีก่อน ที่เราแสดงนิทรรศการในบาร์เอสเอ็ม (S&M) ที่พัฒน์พงศ์ เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเพียงแค่คืนเดียว ทีนี้เราได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าของบาร์ และได้เห็นวิถีชีวิตของพนักงานในนั้น เราก็ขอเขาเล่นๆ ว่า ขอไปวาดภาพพอร์ตเทรตของพนักงานในนั้นได้ไหม เพราะปกติเราจะตามวาดรูปพอร์ตเทรตของคนที่เราสนใจเป็นโครงการะยะยาว เขาก็ยังไม่ได้ตอบตกลงอะไร”

“จนเมื่อกลางปีที่แล้ว อยู่ๆ เขาก็ให้คนติดต่อเรามาว่า เขาอยากให้เราไปวาดภาพพอร์ตเทรตของพนักงานที่นั่น แล้วเขาก็จะขอซื้อภาพที่เราวาด เราก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะลำพังตัวเราเองก็คงไม่มีโอกาสเข้าไปเห็นข้างในนั้นได้อยู่แล้ว ก็ตกลงทำ เราก็เข้าไปวาดภาพพนักงานทุกคนที่ทำงานในบาร์นั้น เขาก็ซื้อภาพเราไปจำนวนหนึ่ง”

“แต่หลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนพื้นที่ในบาร์นั้นกลายเป็นแกลเลอรี่ แล้วก็เปิดพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ขึ้นมา เขาก็ถามเราว่า เราอยากเอางานชุดนี้ไปแสดงในแกลเลอรี่ของเขาไหม เราก็คิดอยู่สักพักก็ตกลง แต่เราก็ขอเขาเข้าไปวาดภาพพอร์ตเทรตเพิ่มอีกสองวัน เพราะตอนแรกเราวาดแต่ภาพของพนักงานหญิงในบาร์ เราก็อยากจะวาดภาพของพนักงานเกย์ เลดี้บอย รวมถึงพนักงานชายในนั้นด้วย เพราะเราอยากให้งานมีความหลากหลายขึ้น เพื่อแสดงภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ที่ทำงานอยู่ในพัฒน์พงศ์”

“เราแสดงภาพพอร์ตเทรตของพนักงานบาร์เหล่านี้ในแง่มุมที่เขาเป็นคนจริงๆ เวลาที่เราวาดภาพเขาคนละ 15 นาที เป็นเวลาที่เราใช้ร่วมกับพวกเขาจริงๆ เราให้เขาเขียนชื่อตัวเองลงในภาพด้วย เพราะมันเป็นเรื่องจริงไง บางคนนี่ยังไม่ได้แต่งหน้าแต่งตัวทำงานด้วยซ้ำ แต่บางคนก็แต่งหน้าแต่งตัวทำงานมาเต็มยศเลย ภาพวาดของเราเหมือนเป็นการบันทึกว่า ณ วันนี้ เดือนนี้ เขามีหน้าตาเป็นแบบนี้ แต่พอเวลาผ่านเวลาไป หน้าตาเขาจะเปลี่ยนเป็นยังไงก็ไม่มีใครรู้”

“พอเราได้ไปวาดภาพพนักงานเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มาทำงานแบบนี้จะรังเกียจงานของตัวเอง บางคนเขาก็แฮปปี้กับสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยอะไร”

ศิลปินหนุ่มกล่าวถึงนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ของเขา

หากใครมีโอกาส ลองเปิดตา เปิดใจ เข้ามาชมนิทรรศการศิลปะที่แสดงในสถานบันเทิงยามราตรีของตะวันในครั้งนี้ ไม่แน่ คุณอาจก้าวข้ามอคติหรือความรู้สึกในแง่ลบ และค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจของย่านราตรีอย่างพัฒน์พงศ์มากกว่าที่เคยรู้สึกและเข้าใจก็เป็นได้

นิทรรศการ Paradise Go Go Bar โดย ตะวัน วัตุยา จัดแสดงที่พัฒน์พงศ์มิวเซียม โดยจะมีปาร์ตี้เปิดนิทรรศการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 ตั้งแต่เวลาสองทุ่มถึงเที่ยงคืน และจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1-7 มีนาคม 2020 เวลาห้าโมงถึงสามทุ่ม

หมายเหตุ เปิดให้เข้าชมเฉพาะผู้ชมที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น