สุรชาติ บำรุงสุข : เจาะเวลาหาอดีต! ถอดชนวนสงคราม 2519

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ขอพวกเราจงอย่าแก้ความกระหายเสรีภาพด้วยการดื่มน้ำจากถ้วยแห่งความขมขื่นและความเกลียดชัง
-ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, จูเนียร์-

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ได้จัดฉายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในวันที่ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังจากที่รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และนำไปสู่การปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังจากกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งหมด

ในฐานะผู้ต้องหาคดีนี้ ผมและเพื่อนๆ 6 ตุลาฯ ทุกคนต้องขอขอบคุณหอภาพยนตร์ที่ได้ตัดสินใจนำแผ่นวีซีดีที่เป็นดังบันทึกแนบท้ายของหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์ ออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้

แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพบันทึกดังกล่าวอาจจะดูเป็น “เรื่องเก่า” สำหรับผู้คนในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยภาพต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นบนจอภาพยนตร์นั้นก็บ่งบอกถึงความพยายามที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งชุดใหญ่ที่สังคมไทยต้องเผชิญในกรณี 6 ตุลาฯ

แม้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า เรื่องราวเหล่านี้เก่าเกินไปกับโลกปัจจุบันก็ตาม แต่หากคิดอย่างคนที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์มีบทเรียนสำหรับคนรุ่นปัจจุบันเสมอแล้ว การเอา “เรื่องเก่า” กลับมาชวนคุยใหม่ มักจะมีมุมมองให้เราได้คิดเสมอ

วันนี้จึงอยากจะลองชวนท่านผู้อ่านร่วมย้อนรำลึกอดีตร่วมกัน

สงครามและการฆ่า!

การฆ่าเป็นวาทกรรมหลักของการสงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทุกสงครามมีการฆ่ากันระหว่างคู่กรณีเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ หรืออาจกล่าวได้ว่า การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเป็นวิถีหลักของการต่อสู้ในการสงคราม และก็มักจะเป็นเช่นนี้เสมอในสงครามที่เกิดขึ้น

ถ้าการต่อสู้เช่นนี้อยู่ในบริบทของสงครามระหว่างรัฐแล้ว การนิยามตัวตนของผู้ที่เราเรียกว่าเป็น “ข้าศึก” อาจจะง่ายขึ้น โดยเราสามารถสร้างวาทกรรม จินตนาการ และทรรศนะต่อภัยคุกคามจากฝ่ายที่เรากำหนดให้เป็นข้าศึก หรือสร้างภาพให้เห็นว่าคนเหล่านั้นเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ฝ่ายเราจะต้องต่อสู้และทำลายล้าง และเชื่อในนิยามง่ายๆ ว่า ชัยชนะคือการทำลายฝ่ายข้าศึกให้หมดไป

ซึ่งก็อาจเปรียบได้ว่า ชัยชนะในสงครามได้มาด้วยการทำลายกองทัพของข้าศึกให้หมดสภาพไป

ซึ่งชุดวิธีคิดเช่นนี้สามารถนำมาใช้อธิบายได้อย่างไม่ซับซ้อนภายใต้เงื่อนไขของสงครามที่รัฐเป็นคู่กรณี

แต่ความยุ่งยากเกิดขึ้นในอีกบริบทหนึ่ง เมื่อสงครามไม่ใช่อยู่ในระดับของการต่อสู้ระหว่างรัฐ หากแต่เป็นบริบทของการต่อสู้ระหว่างรัฐกับกลุ่มการเมืองภายใน อันทำให้นักทฤษฎีการสงครามบางส่วนเรียกสภาพเช่นนี้ว่า “สงครามภายใน”

และการสงครามชุดนี้มีธรรมชาติและคุณลักษณะหลายประการที่แตกต่างไปจาก “สงครามระหว่างรัฐ” หรืออาจจะเรียกว่า “สงครามภายนอก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐต่อสู้กับข้าศึกที่มีฐานะเป็น “คนภายในรัฐ”

พวกเขาเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้วาทกรรมของ “คนนอก” ที่เป็นข้าศึกจากภายนอกรัฐแต่อย่างใด ประเด็นเบื้องต้นของความเป็น “คนนอก” กับ “คนใน” เช่นนี้มีนัยอย่างสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐในการทำสงครามกับฝ่ายตรงข้าม

สภาพเช่นนี้นำไปสู่คำถามพื้นฐานประการสำคัญก็คือ ผู้มีอำนาจในรัฐจะใช้กองทัพและพลังอำนาจทางทหารที่มีอยู่ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามได้มากน้อยเพียงใด

แม้ผู้นำบางคนอาจจะมีความคิดอย่างสุดโต่งว่าในการต่อสู้เช่นนี้รัฐมีความชอบธรรมในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกับทฤษฎีใดๆ ที่จะใช้กำลัง “ปราบปราม” ฝ่ายตรงข้ามอย่างสุดขั้ว หรือมีนัยของการใช้กำลังอย่างไม่มีข้อจำกัด

แต่นักการทหารที่ไม่หลงระเริงกับ “อำนาจปืน” มักจะตระหนักเสมอว่า “กำลังมีความจำกัดในตัวเองเสมอ”

รัฐไม่สามารถใช้กำลังอย่างที่รัฐต้องการได้โดยไม่มีข้อจำกัด แม้ในทฤษฎีของสงครามเบ็ดเสร็จจะสร้างความเชื่อให้กับนักปฏิบัติบางคนว่า เขาสามารถใช้กำลังได้อย่างเต็มที่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กำลังมีข้อจำกัดในตัวเองอย่างมากทั้งในทางการเมือง กฎหมาย ศีลธรรม และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่ใครยังเชื่อว่ากำลังเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อจำกัดแล้ว ก็เท่ากับเป็นเพียง “ความไร้เดียงสา” ในการสงครามเท่านั้นเอง!

AFP PHOTO / STF

ฆ่า “คอมมิวนิสต์” ไม่บาป!

ในสภาวะที่รัฐไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังจากการเจรจาที่ปารีสในปี 2515 อันเป็นผลจากการปรับนโยบายของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ต้องตัดสินใจลดบทบาททางทหารของสหรัฐในสงครามเวียดนาม

จากช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มเห็นถึงความพยายามของสหรัฐที่จะพาตัวเองออกจากสงคราม ประกอบกับการต่อต้านสงครามในสังคมอเมริกันที่ขยายตัวมาก

ท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ การเมืองไทยเองก็เดินไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลทหารที่เคยดำรงอยู่อย่างยาวนานในการเมืองไทยถูกโค่นลงด้วยพลังอำนาจของนักศึกษา-ประชาชน พวกเขาไม่ได้ถูกโค่นด้วยการรัฐประหารเช่นในอดีต

ผลเช่นนี้ทำให้กระแสเสรีนิยมไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสนี้มีกระแสสังคมนิยมไหลติดตามมา ซึ่งก็เป็นทั้งผลจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2514 และมาจากกระแสของปัญญาชนตะวันตกที่มีทรรศนะต่อต้านระบบทุนนิยม

และก็ไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าในที่สุดแล้ว กระแสทั้งสองชุดนี้ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของขบวนการทางสังคมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น

ถ้าชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดากลุ่มที่มีอำนาจในสายอนุรักษนิยมจะรับความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมไม่ได้เพียงใด พวกเขาก็จะยิ่งรับไม่ได้กับความคิดสังคมนิยมมากขึ้นไปอีก

อาการรับไม่ได้ในทางการเมืองเช่นนี้ยังถูกสำทับด้วยสถานการณ์ของ “ความกลัว” ที่เกิดจากการพังทลายของระบบการปกครองแบบนิยมตะวันตกในอินโดจีนในปี 2518

กล่าวคือ รัฐบาลในอินโดจีนทั้งสามประเทศคือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ทยอยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน…

ความฝันด้านความมั่นคงว่ารัฐไทยจะมีแนวกันชนในลาวและในกัมพูชาอย่างน้อยก็เพื่อขวางกั้นการขยายตัวของอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากเวียดนามกลายเป็น “ฝันสลาย” ที่ไม่อาจกลับคืนมา

โดมิโนทั้ง 3 ตัวล้มในอินโดจีน ถ้าเป็นไปอย่างที่ผู้นำสหรัฐยุคหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อโดมิโนล้มในอินโดจีนแล้ว โดมิโนตัวที่ 4 ก็จะล้มลงที่ไทย… ถ้าตัวแบบของการนำเสนอภาพลักษณ์เปรียบเทียบด้านความมั่นคงในยุคสงครามเย็นนี้เป็นจริงแล้ว โดมิโนที่กรุงเทพฯ ก็อาจล้มลงในเวลาอีกไม่นานนัก!

คำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จของปีกอนุรักษนิยมและเสนานิยมที่ชัดเจนก็คือ สงครามภายในของไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดทั้งกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท และกับการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษา-ประชาชนในเมือง

และในการจัดการเช่นนี้ จะต้องมีกระบวนการสร้างให้คู่ต่อสู้ของรัฐกลายเป็น “คนนอก”

ดังจะเห็นได้ว่าขบวนนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จีนบ้าง หรือคอมมิวนิสต์เวียดนามบ้าง

หรือที่สุดโต่งก็คือผู้นำนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็น “ญวน” แม้กระทั่งผู้ร่วมชุมนุมก็ถูกระบายสีให้เป็น “ญวน”

ดังนั้น จึงอาจจะไม่แปลกที่มีข้อเสนอเชิงวาทกรรมว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

 AFP PHOTO

ความสุดโต่งช่วยให้ข้าศึกชนะ!

กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้ามรัฐเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดสิ่งสำคัญก็คือ “ความชอบธรรมในการฆ่า” เพราะถ้าบอกว่าพวกเขาเป็น “คนไทย” แล้ว จะมีคำถามต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

ดังนั้น คอมมิวนิสต์จึงถูกนิยามให้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไทย (หรือเป็น “un-Thai”) ดังนั้น ผู้ที่ถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงไม่มีความเป็นคนไทยโดยนิยามในตัวเอง

และขบวนนักศึกษาก็ตกอยู่ภายใต้การโฆษณาโจมตีทางการเมืองเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วาทกรรมของความเกลียดชัง (hate speech) ใส่ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรง ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ

ฉะนั้น เมื่อชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำสายอนุรักษนิยมเชื่อว่า การป้องกันไม่ให้โดมิโนล้มที่กรุงเทพฯ จะต้อง “ล้อมปราบ” เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา-ประชาชนในเมือง

และภายใต้ความกลัวเช่นนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจครั้งสำคัญในการเมืองไทยคือ เปิด “เวทีฆ่า” ใจกลางเมืองหลวง (อดนึกเปรียบเทียบถึงการตัดศีรษะของ “หกสุภาพบุรุษนักปฏิรูป” กลางตลาดกรุงปักกิ่ง หลังจากความล้มเหลวในงานปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสู ก่อนการปฏิวัติซินไฮ่ไม่ได้!)

การฆ่าคือการส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนสำหรับผู้เห็นต่างจากรัฐ พร้อมกันนี้ก็มีการจับกุมผู้นำนักศึกษาและประชาชนรวม 19 คน

สัญญาณเช่นนี้บ่งบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐไทยพร้อมที่จะต่อสู้กับสงครามภายในด้วยมาตรการสุดโต่งเพื่อหยุดยั้ง “ความน่ากลัว” นานาประการที่กำลังเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในภูมิภาคและในประเทศ และยังเชื่ออีกว่าจะเป็นหนทางของการนำ “ความสงบเรียบร้อย” กลับมา แต่ดูเหมือนผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทางตรงข้าม สงครามในชนบทขยายตัวมากขึ้น

การจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการหลังการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับการออกนโยบายแบบขวาจัด กลับกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” อย่างดีให้แก่การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

สงครามภายในของ พคท. ทำท่าจะถูกยกระดับขึ้นจริงๆ และหลายๆ ฝ่ายก็เริ่มกังวลมากขึ้นว่า โอกาสที่โดมิโนจะล้มลงที่กรุงเทพฯ อาจจะกลายเป็นเรื่องจริงในเร็ววัน

พร้อมกันนี้จำเลยทั้ง 19 คนก็กลายเป็น “ภาระทางการเมือง” ที่รัฐบาลไทย (และในความหมายคือประเทศไทย) ต้องแบกเอาไว้ และภาระเช่นนี้ก็ดูจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลใหม่ของสหรัฐที่นำโดยประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ หันไปใช้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็น “ธงนำ” ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

และแน่นอนว่า ไทยก็ตกอยู่ในบัญชีลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในขณะนั้น… เกียรติภูมิของประเทศถูกประจานด้วยคดีผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ

AFP PHOTO / AFP FILES

ถอดชนวน-ยุติศึก

คําถามทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการแรกหลังจากปี 2519 จึงมิใช่การเอาชนะสงครามของ พคท. หากแต่จะทำอย่างไรที่จะพาประเทศออกจากสถานการณ์สงคราม

แต่ถ้าจะคลายปมสงครามให้ได้ ก็จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่เป็น “การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์” ซึ่งในขณะนั้นจึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการตัดสินใจนิรโทษกรรมจำเลยคดี 6 ตุลาฯ เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลได้ภาพลักษณ์ทางบวกในเชิงนโยบาย หากยังจะทำให้เกิดการลดความขัดแย้ง โดยรัฐบาลได้ส่งสัญญาณของการประนีประนอมทางการเมือง

(ถ้าจะเปรียบกับภาษาในปัจจุบันก็คือการส่งสัญญาณของ “การปรองดอง”) และหวังว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติให้ได้มากที่สุด (หรือในปัจจุบันคือกระบวนการสร้าง “ความสมานฉันท์”)

การตัดสินใจของท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์ จึงมีนัยสำคัญของการ “ปลดชนวนสงคราม” หลังการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 และทั้งยังเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 ในเวลาต่อมาอีกด้วย

แม้การตัดสินใจครั้งนี้จะต้องเผชิญกับ “แรงเสียดทาน” ของกระแสขวาจัดที่ยังต้องการให้คุมขังผู้นำนักศึกษาประชาชนต่อไป และเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดอาการไม่เกรงกลัวรัฐบาลและหันกลับมาเคลื่อนไหวอีก

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็พิสูจน์อย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในคดี 6 ตุลาฯ ของนายกฯ เกรียงศักดิ์ เป็นนโยบายที่ถูกต้อง แม้จะต้องใช้ความกล้าหาญและความอดทนของผู้นำทหาร “สายพิราบ” และต้องควบคุมไม่ให้ทหาร “สายเหยี่ยว” ออกมาก่อเหตุรุนแรง จนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศออกจากสถานการณ์สงครามไม่ได้ ซึ่งก็จะจบลงด้วยการล้มลงของโดมิโนที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน

ดังนั้น เรื่องราวที่หอภาพยนตร์นำมาให้พวกเราดูในวันนั้น จึงไม่ใช่แต่เพียงการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต หากแต่ยังเป็น “บทเรียนและข้อคิด” ทางประวัติศาสตร์ที่มีนัยอย่างสำคัญกับความเป็นไปของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย!