“มหาสมุทรและสุสาน” หนังไทยที่ดีทีสุดแห่งปี : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (9)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความชุด “ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม” แปดตอนที่ผ่านมาเขียนเรื่องไกลสังคมไทยเพื่อชักชวนให้ผู้อ่านสนุกสนานไปกับการเดินทางของความคิดซึ่งอาจช่วยให้แต่ละท่านได้ “เคล็ดวิชา” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอ่านสังคมไทย

วันนี้จะขอสลับพูดถึงหนังไทยเรื่องซึ่งมั่นใจว่ามีโอกาสจะเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดในปี 2559

และเป็นหนังที่ยั่วให้คิดในแง่ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม

“มหาสมุทรและสุสาน” มีชื่อเสียงหอมกรุ่นในหมู่คนรักหนังมานานปี

แน่นอนว่าความเป็นงานของ พิมผกา โตวิระ ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ หญิงที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2541 มีส่วนช่วยให้นี่เป็นหนึ่งในงานที่ผู้นิยมหนังคุณภาพรอคอยมากที่สุด

และเมื่อหนังไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังโตเกียวและเทศกาลหนังฮ่องกงในปี 2558 ขณะที่ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ตากล้องของหนังได้รางวัล Asian New Talent Award จากเทศกาลหนังเซี่ยงไฮ้ 2559

หนังเรื่องนี้ก็ขึ้นแท่นหนังที่ต้องดูทันที

ไม่เป็นความลับต่อไปแล้วว่า “มหาสมุทรและสุสาน” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ The Island and Funeral มีโครงเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของสองพี่น้องและเพื่อนอีกคนไปหาป้าที่ปัตตานี

แต่ด้วยเหตุที่สังคมไทยในเวลานี้ใช้คำว่า “สปอยล์หนัง” กันอย่างฟุ่มเฟือย จึงขอเล่าโครงเรื่องแบบสั้นๆ ต่ออีกนิดเพื่อป้องกันไม่ให้นักเลือกดูหนังผ่านเรื่องย่อเข้าใจผิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะเป็นแค่การเดินทางของหนึ่งหญิงสองชายไปเยี่ยมป้าเท่านั้นเอง

ในเรื่องเล่าที่เปิดเผยกันทั่วไป “มหาสมุทรและสุสาน” พูดถึงหญิงสาวชาวมุสลิมชื่อ “ไลลา” ซึ่งขับรถไปหาป้าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานที่ปัตตานี คณะผู้ร่วมทางกับไลลาคือน้องชายและเพื่อนของน้อง

ตัวละครทั้งสามออกจากกรุงเทพฯ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพฯ กำลังตึงเครียดในปี 2553 แต่ความเป็นคนเมืองหลวงทำให้พวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับชายแดนใต้น้อยมาก ระหว่างทางพวกเขาพบทหารอีสานที่ถูกส่งมาประจำการในภาคใต้

คนกรุงเทพฯ ขอทหารให้นำทางไปบ้านป้า จากนั้นพวกเขาไปต่อในเดินทางไกลแสนไกลซึ่งไม่มีใครคุ้นเคย

ด้วยเรื่องย่อที่เล่าได้จำกัดเพื่อป้องกันข้อหาจากกลุ่มต้านการสปอยล์หนังจนต้องเขียนถึงหนังแบบที่ทำให้คนอ่านซึ่งไม่ได้ดูหนังเสียประโยชน์เช่นนี้ เราอาจพูดได้คร่าวๆ ว่า “มหาสมุทรและสุสาน” ขับเคลื่อนเรื่องผ่าน “ความไม่รู้” ของตัวละครสี่คนกับพื้นที่ซึ่งตัวละครทั้งสี่มีความรู้ความเข้าใจน้อยมาก

ตัวละครสามคนอยู่ในภาวะของการเดินทางระหว่าง (in between) พื้นที่คุ้นเคยไปสู่พื้นที่ซึ่งไม่รู้จัก

ส่วนตัวละครอีกรายข้ามพ้นขั้นตอนนั้นไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่รู้จักแล้วอย่างสมบูรณ์

ผู้อ่านที่ถี่ถ้วนคงสังเกตได้ไม่ยากว่าเรื่องย่ออันแสนจำกัดนั้นพูดถึงการเดินทางของตัวละครทั้งหมดสองครั้ง

ครั้งแรกคือจากกรุงเทพฯ ไปปัตตานี

และครั้งที่สองคือจากปัตตานีไปบ้านป้า

การเดินทางในสภาวะระหว่าง (in between) จึงเกิดขึ้นสองครั้ง เช่นเดียวกับพื้นที่ไม่คุ้นเคยซึ่งมีอยู่สองครั้งด้วย

แต่ยิ่งกว่านั้นคือแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับพื้นที่ทั้งสองครั้งนั้นคล้ายคลึงกัน

อย่างที่กล่าวไปแล้ว หนังพูดถึงตัวละครสี่รายซึ่งทุกรายมี “ความไม่รู้” เกี่ยวกับชายแดนใต้เหมือนกัน

ผู้อ่านที่ช่างจินตนาการจึงน่าจะคาดเดาได้ว่าเมื่อตัวละครที่เต็มไปด้วย “ความไม่รู้” เดินทางสู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก “ความหวาดระแวง” ต่อทุกอย่างในพื้นที่ย่อมเกิดตามมา

พูดอีกแบบก็ได้ว่าความไม่รู้เป็นฉากหลังที่ให้กำเนิดความหวาดระแวงซึ่งเป็นบรรยากาศหลักของหนังเรื่องนี้

งานหลักของหนังจึงได้แก่การทำให้ผู้ชม “รู้สึก” ถึงความลึกลับของดินแดนจนถูกสะกดด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา

“มหาสมุทรและสุสาน” เรียกร้องการทำงานด้านภาพที่ต้องขับดันความลึกลับและความหวาดระแวงในหนังให้ผู้ชมรู้สึกไปด้วยอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับเรียกร้องความสามารถกำกับจังหวะและบรรยากาศของหนังให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปกับความหวาดระแวง ความกลัว และความอีดอัดที่ตัวละครต้องเดินทางจากพื้นที่คุ้นเคยไปพื้นที่ซึ่งไม่รู้จัก

ผลก็คือการกำกับฯ และภาพเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้

โดยเฉพาะงานภาพของพุทธิพงษ์ซึ่งถือว่าโดดเด่นระดับเป็นนักแสดงหลักของภาพยนตร์อีกราย

คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจถ้าจะบอกผู้อ่านต่อไปว่า “มหาสมุทรและสุสาน” เป็นหนังโครงเรื่องเรียบง่ายซึ่งมีศักยภาพสุดสูงในการสะกดผู้ชมให้อยู่ในภวังค์ของความลึกลับและความอยากรู้ไปตั้งแต่ต้นจนจบ

หนังซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Island and Funeral” จึงเป็นหนังที่สนุก ดูง่าย ไม่น่าเบื่อ ไม่มีอะไรเป็นกำแพงกั้นหนังกับผู้ชม

ยกเว้นภาพลักษณ์ของหนังที่ดูอินดี้จนผู้ชมบางกลุ่มอาจหวาดกลัว

ซึ่งนั่นไม่ใช่ความผิดของหนัง แต่เป็นผลผลิตของสังคมที่ผู้ชมมีทางเลือกในการดูหนังน้อยเกินไป

ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบทโดยผู้กำกับฯ และ ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์และวัฒนธรรมแถวหน้าของประเทศ บทสนทนาในฉากเปิดเรื่องจึงสะท้อนสปิริตทุกอย่างของหนังได้ดีที่สุด ผู้ชมจะได้ยินเสียงโต้เถียงของหญิงชายเรื่องการหลงทางซึ่งต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายว่าดูแผนที่ผิด ตัวละครจะเริ่มลงจากรถไปถามทางจากคนพื้นที่ ขณะที่กล้องจะทำให้เห็นชายวัยรุ่นอีกคนดูแผนที่จากโทรศัพท์แต่ไม่ได้อะไร และในที่สุดกล้องจะเคลื่อนสลับจากซ้ายไปขวาเพื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความหลงทางอย่างสมบูรณ์

ขณะที่ฉากเปิดอัดแน่นด้วยภาพซึ่งสื่อสารให้ผู้ชมเห็นความไม่รู้สภาพด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ แสนยานุภาพของบทจะปรากฏเต็มที่ในฉากถัดไปที่ตัวละครแสดงความไม่รู้เกี่ยวกับปัตตานีถึงขั้นแม้แต่ความทรงจำเรื่องป้าซึ่งอยู่ที่นั่นก็ไม่ตรงกัน ยิ่งกว่านั้นคือหนังใช้เด็กกรุงเทพฯ หน้าโง่แสดงความไม่รู้เรื่องปัตตานี เพื่อเปิดทางให้นักแสดงนำหญิงแสดงความต่างระหว่างหญิงมุสลิมกรุงเทพฯ กับหญิงมุสลิมปัตตานีออกมาเต็มที่

ไม่ต้องพูดถึงการแต่งกายแบบเปิดเนื้อเปิดตัวที่ไม่มีทางพบได้ในบริเวณปัตตานี

ถึงจุดนี้เราอาจพูดได้ว่า “มหาสมุทรและสุสาน” พูดถึงความไม่รู้ของตัวละครต่อปัตตานีสองระดับ

ระดับแรก คือความไม่รู้ทางภูมิศาสตร์แผนที่

ระดับที่สอง คือความไม่รู้ทางอัตลักษณ์แทบทุกด้านจากภาษาสู่ศาสนาและวัฒนธรรม

ตัวละครชายซึ่งเป็นลูกอีสานอาชีพทหารประจำการในปัตตานีคือตัวละครที่ถ่ายทอดภาวะนี้ได้ดีที่สุด

ไม่มีใครรู้ว่าเขาชื่ออะไร มาจากไหน และหนังโหดร้ายถึงขั้นแทบไม่ให้เขาปฏิสัมพันธ์กับใครด้วยซ้ำ

ทหารลูกอีสานในชายแดนใต้คือตัวละครที่ต่อไม่ติดกับพื้นที่และวัฒนธรรมรอบข้างจนอยู่ในสภาวะไร้ตัวตนระดับที่เดินไปมาหน้ามัสยิดกลางปัตตานีด้วยความแปลกแยกแบบคนไม่รู้อะไรทั้งนั้น

แม้แต่ความเป็นทหารของเขาก็เป็นสิ่งที่หนังให้ผู้ชมอนุมานเองจากการเห็นเขาช่วยทหารแบกของไปมา

ทำไมความเป็นทหารและความเป็นคนอีสานถึงต่อติดไม่ได้กับอัตลักษณ์-ภาษา-ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ซึ่งหนังเรียกว่า “ปัตตานี”?

ตัวละครอีกรายซึ่งเหมือนทหารอีสานในแง่ต่อกับพื้นที่ไม่ติดคือวัยรุ่นกรุงเทพฯ หน้าทรง โจ๊ก โซคูล ยุคก่อนวิวัฒนาการ แต่ขณะที่ลูกอีสานอยู่ร่วมกับพื้นที่อย่างถ่อมเจียมและแปลกแยก หนังกลับนำเสนอนายคนนี้ในสภาพแชตกับใครก็ไม่รู้ที่กรุงเทพฯ ทั้งวันทั้งคืนราวโลกมีแต่การต่อติดกับกรุงเทพฯ เท่านั้น, ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับปัตตานีนอกจากคลิปข่าวและ “ข้อมูล” จากโซเชียลมีเดีย, มโนระแวงและต้องการออกจากปัตตานีขั้นคนวิกลจริต รวมทั้งไม่มีอาการอยากต่อติดกับปัตตานีให้เห็นแม้เสี้ยววินาที

พูดให้เป็นรูปธรรม ตัวละครรายนี้คิดแต่เรื่องจะถูกคนปัตตานีฆ่า ถูกวางระเบิด ถูกลอบยิง ถูกหลอก ถูกจับถ่วงน้ำ ฯลฯ เข้าขั้นขี้ขลาดตาขาวและวิตกจริตจนสร้างความน่ารำคาญแก่ผู้ชมตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงการหลุดปากดูถูกเพื่อนคนมุสลิมอย่างไม่รู้ตัว

ทำไมคนกรุงเทพฯ ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างหมอนี่กลับไม่รู้อะไรถึงขั้นไม่อยากต่อติดกับปัตตานีแม้แต่นิดเดียว?

“มหาสมุทรและสุสาน” มีแกนกลางอยู่ที่ “ความไม่รู้” ซึ่งแตกยอดไปสู่ความกลัว ความหวาดระแวง และภาวะวิตกจริตจนสนุก

นี่คือหนังที่พลังของบทและการถ่ายภาพเจิดจ้าราวนักแสดง การตอกย้ำ “ความไม่รู้” คือเสน่ห์ของภาพยนตร์และสารที่คนทำหนังสื่อสารกับสังคมผ่านเรื่องนี้

ผู้ชมที่เชื่อมโยงสารเรื่อง “ความไม่รู้” ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะเห็นต่อไปว่าหนังพูดเรื่องที่ใหญ่กว่าการเดินทางของตัวละครสี่ตัว

สำหรับผู้ชมที่เชื่อมโยงเรื่องนี้ไม่ได้ “มหาสมุทรและสุสาน” คือตัวอย่างของหนังดีที่สนุกและตื่นเต้นจนการไม่ดูอาจเทียบได้กับอาชญากรรมทางความสุนทรีย์