สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยลายสือไทย สุโขทัยโมเดล การศึกษาเพื่อสุขภาวะ (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ลายสือไทยใครก็รู้สื่อคู่ชาติ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกไว้

เป็นต้นกำเนิดของอักษรไทย

ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใช้จนปัจจุบัน

สมาคมลายสือไทยได้รักษา

โดยเล็งเห็นคุณค่ามหาศาล

จึงส่งเสริมเผยแพร่มานานวัน

สมบัติครั้งบรรพกาลไม่สูญไป

เครือข่ายครูรางวัลทรงคุณค่า

องค์สมเด็จเจ้าฟ้าทรงตั้งไว้

จัดกิจกรรมนำสุขด้วยลายสือไทย

ให้รู้ว่าสุโขทัยเมืองร่มเย็น

ครูอาวุโส พิธีกรอาสาสมัครหลังเกษียณร่ายบทกลอนที่เตรียมสคริปต์ลายมือเขียนมาอย่างดีจบลง การแสดงของชมรมดนตรีไทยประจำโรงเรียน เริ่มขึ้นโดยนักเรียนและครู

ชุดแรก รำไทย ชุดต่อมา ร่ายสักวายกยอพ่อขุนราม ตามด้วย เดี่ยวระนาดเอก ของนักเรียนผู้ชนะเลิศรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กิจกรรมความสามารถทางดนตรีและศิลปะ ระดับ ม.3 หมาดๆ จากเวทีการแข่งขันที่พัทยา

มือระนาดสมาธิแน่วนิ่ง ใจจดอยู่บนรางไม้ กับปลายนิ้วที่พรมไปบนราง สะกดทุกคนให้นิ่งเงียบกับเสียงรัวตามจังหวะ

สมาธิดีขนาดนี้จะเป็นผลดีต่อการเรียนของเด็กน้อยแค่ไหน ผมนึกในใจระหว่างรอพิธีการจะเริ่มต้น เสียงปรบมือดังก้องห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อเช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2559

คุณปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ประธานงานวันนั้นเดินทางมาตั้งแต่เช้า รอฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการเปิดโลกสุขภาวะดีมีสุขตามรอยลายสือไทยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดย ดร.ปรีชา แก้วกอ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล อย่างใจจดใจจ่อด้วยความชื่นชม

ครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ผอ.เขตประถมศึกษา ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เทศมนตรี อัยการประจำจังหวัด ฯลฯ มากันคึกคัก

พวกเขารวมตัวกันในนามสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย มาเกือบยี่สิบปี พากันมาร่วมกิจกรรมตามโครงการเป็นครั้งที่สาม ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยพลาด มาเป็นกำลังใจทุกครั้งตั้งแต่หนแรก

ครั้งนี้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกันสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะโดยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นกำลังหลัก

เปิดเวทีพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระดับครูขวัญศิษย์ ครูผู้เชี่ยวชาญลายสือไทย และปราชญ์ท้องถิ่น มาเล่าขานสิ่งที่พบ ศึกษาค้นคว้า ถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งที่พวกเขาร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณภาพ ประสานการอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีให้ดำรงเป็นสมบัติของชาติและอนุชนรุ่นลูกหลาน เหลนสืบไปให้นานเท่านาน

การจัดการศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อความเจริญงอกงามทางปัญญา ส่งเสริมสุขภาวะพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพจิต สุขภาพกายโดยมีศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นสื่อกลางการเรียนรู้

โรงเรียนและสมาคมลายสือไทย จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากหลักศิลาจารึกลายสือไทยเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะมาแล้ว 2 รุ่นให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สอนหรือปฏิบัติหน้าที่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

 

“การที่โรงเรียน เครือข่ายครูรางวัลเจ้าฟ้าฯ สมาคมลายสือไทย ร่วมกันจัดกิจกรรม แสดงนิทรรศการ จัดการเผยแพร่ความรู้ ทำให้ผมมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมดีๆ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เฉพาะจังหวัดสุโขทัยของเราเท่านั้น แต่เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมด้วย เป็นนวัตกรรมที่น่าชื่นชม เห็นความตั้งใจ การมีสุขภาวะดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ นักเรียน ครูมีส่วนร่วมกิจกรรม ผมต้องหาเวลามาร่วมให้ได้ รายการอื่นมอบให้รองผู้ว่าฯ ไปแทน”

“ขณะนี้รัฐบาลมอบให้ทุกจังหวัด กลุ่มจังหวัดช่วยกันคิดและเสนอโครงการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด นอกจากด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การค้าการลงทุนแล้ว ด้านสังคมเราควรทำอะไร มรดกโลกสุโขทัยได้มาเพราะลายสือไทย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทำให้เรามีสุภาวะดีได้อย่างไร เป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีวัฒนธรรมที่ดีงามมาแต่โบราณ”

“สุดท้ายแล้วไม่ว่าการพัฒนาด้านใดก็ตามไปจบที่ความสุขของคน ความยั่งยืนอยู่ตรงไหน การศึกษาลายสือไทยจากหลักศิลาจารึกตอบโจทย์ได้ พวกเราอยากทำโครงการอะไรในกลุ่ม 5 จังหวัด ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ถอดบทเรียนโครงการที่ทำ ขยายผลจากองค์ความรู้ไปสู่จังหวัดข้างเคียง ร่วมกันคิดเสนอมา”

ผู้ว่าฯ ปิติ ฝากการบ้านไว้ด้วยความปีติ ก่อนขอตัวไปปฏิบัติภารกิจต่อ

 

มอบเวทีให้เครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นักการศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ในฐานะศึกษาธิการจังหวัด เลขานุการกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย เปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยน

เริ่มตั้งแต่ คุณครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระดับครูขวัญศิษย์ ผู้หลงใหลในการศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงลึก ถอดความ ดึงสาระจากศิลาจารึกออกมาด้วยความวิริยะอุตสาหะ ความรักในความรู้ จนได้ชื่อเป็นครูเชี่ยวชาญลายสือไทย

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเชิญชวนเพื่อนครู และผู้สนใจทั่วไป มาร่วมอิ่มเอมในความสุขที่เกิดจากการศึกษาลายสือไทยจากหลักศิลาร่วมกัน เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ

ก้าวข้ามความขัดแย้งข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าด้วยหลักศิลาจารึกจริงหรือปลอม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ที่เกิดขึ้นมากว่า 20 ปีที่ รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์เปิดประเด็น เสนอมุมมองใหม่ตั้งแต่ปี 2532 ทำให้เกิดการสันดาปทางความคิด อภิปรายกันมาจนถึงวันนี้

ครูผู้เชี่ยวชาญลายสือไทย เธอเป็นใคร เธอทำอะไร และสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย มีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ ต้องติดตาม