เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : คนหนังสือพิมพ์ตาย… เสรีภาพหนังสือพิมพ์ไม่ตาย

อดีตของคนทำงานหนังสือพิมพ์เริ่มต้นจากความสนใจในหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ให้สัมภาษณ์ ธนัชพงศ์ คงสาย ไว้ในหนังสือ “คือ… คนหนังสือพิมพ์” ว่า

ประมาณปี 2496 หรือ 2497 ตอนที่เรียนชั้นประถม 3-4 ได้อ่านข่าวไฟไหม้เมืองพิษณุโลกครั้งใหญ่ ในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย จึงร่วมกับเพื่อนรับบริจาคเสื้อผ้าและเงิน เพื่อส่งไปช่วยผู้ประสบภัย เรี่ยไรเงินมาได้ 80-100 บาท ซึ่งสมัยนั้นเป็นจำนวนเงินที่สูง มีมาสเซอร์คนหนึ่งที่ช่วยบริจาคเงินพูดสัพยอกว่า เงินนี่จะถึงมือคนที่โดนไฟไหม้หรือเปล่า อย่าเอาไปกินอะไรหมดนะ

ทำให้รู้สึกติดค้างอยู่ในใจ แม้จะรู้ว่าเป็นการพูดล้อเล่น

ตอนนั้นบ้านอาจารย์ป๋องอยู่แถวเฉลิมกรุง เวลาไปโรงเรียนต้องเดินผ่านสี่กั๊กพระยาศรี ถนนเฟื่องนคร เพื่อมาขึ้นรถ แถวนั้นเป็นดงหนังสือพิมพ์ มีโรงพิมพ์หลายโรงตั้งอยู่ มีผู้แนะนำให้ส่งสิ่งของ เงินบริจาคผ่านหนังสือพิมพ์ อาจารย์ป๋องจึงถือกล่องบริจาคไปให้หนังสือพิมพ์ 2500 รายวัน ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานมอญ

มีการถ่ายรูปตอนมอบของให้ พอวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ 2500 รายวันก็ลงข่าวและรูปการบริจาคเงินของนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นข่าวเล็กๆ

“ผมก็ซื้อมาฉบับหนึ่ง เอาไปให้มาสเซอร์ดู เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าอำนาจหนังสือพิมพ์หรือของสื่อสามารถปกป้องเราได้ ให้ความเป็นธรรมกับเราได้”

 

ผมจำได้ว่า ปีที่กัมพูชาเรียกร้องเขาพระวิหารผ่านศาลโลก มีการขอให้คนไทยร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 บาท เพื่อเป็นทุนให้อาจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นทนายไปต่อสู้ในศาลโลก ผมยังขอรับบริจาคเงินเพื่อนๆ ในห้องคนละ 1 บาท ไปส่งให้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ที่ถนนสีลม เพื่อร่วมเป็นทุนต่อสู้กับกัมพูชา

นอกจากนั้น พงษ์ศักดิ์ยังเคยเขียนบทความลงพิมพ์หนังสือในห้องเรียนเรื่องอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่เพิ่งเปิด มีแสตมป์เป็นรูปอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ เขียนว่า “พระเจ้ากรุงธนบุรี” เรื่อง “ทำไมพระเจ้าตากสินถึงไม่ได้เป็นมหาราช” ตอนเรียน ม.5 ยังเขียนบทความเรื่อง “ทำไมโรงเรียนเซนต์ฯ ไม่มีห้องสมุด” พิมพ์เป็นโรเนียว แจกให้เพื่อนอ่าน มีความตอนหนึ่งว่า

“ด้านหลังสมุดรายงานผลการเรียนของนักเรียนบอกว่า มีทุกอย่าง เราก็บอกว่า ห้องสมุดสำคัญนะ โรงเรียนวัดราชสิงขรยังมีเลย”

ความช่างสงสัย ชอบตั้งคำถามว่า ทำไม เป็นคุณสมบัติที่คนจะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมี

ด้วยความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ในวัยเด็ก ตอนนั้นโรงเรียนฝรั่งหยุดวันพฤหัสบดี อาจารย์ป๋องไปเป็นสมาชิกสโมสรปรียา แห่งนิตยสารดรุณสาร ที่ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งทำหนังสือหลายฉบับ และเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร (ท่านเพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้วยอายุ 105 ปี)

“ก็ไปยืนเกาะโต๊ะอาจารย์ ดูท่านทำงาน หยิบโน่น หยิบนี่ เดินส่งต้นฉบับบ้าง เวลาท่านว่างก็คุย ฟังท่านสอน ฟังท่านอธิบาย ก็เป็นเด็กโรงพิมพ์ทั้งวันพฤหัสบดี”

พงษ์ศักดิ์บอกว่า “ท่านเป็นอาจารย์ เป็นครูหนังสือพิมพ์คนแรก ท่านเขียนหนังสือดี เป็นผู้ใหญ่ เราก็เขียนหนังสือตามผู้ใหญ่ ท่านให้ตอบจดหมายแทน เป็นปฏิคม แต่ก็ต้องตอบแบบผู้ใหญ่นะ ท่านคงเห็นมีแวว ก็ช่วยกิจกรรมสโมสรปรียา นิตยสารดรุณสารตลอดมา ทำมาเรื่อย มันก็ไปได้แบบเด็กๆ”

เมื่อจบมัธยมปลายจึงสอบเข้าเรียนในแผนกวารสารศาลตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมัครเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วย โดยสมัครเป็นช่างภาพที่หนังสือพิมพ์หลักเมือง หัวหน้ากองบรรณาธิการ สำราญ เทศสวัสดิ์ มอบหมายให้เป็นฝ่ายตรวจปรู๊ฟ และขยับขึ้นเป็นนักข่าวอาชญากรรมในปีนั้น

 

ช่วงที่ผมและคนรุ่นราวคราวเดียวกันใกล้เคียงกันเกิดและเริ่มเจริญวัยเป็นยุคกลางของสงครามโลกครั้งที่ 2 นักข่าวนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนยุคนั้นเป็นนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ ต่อต้านสงคราม ทั้งบางคนยังร่วมต่อต้านญี่ปุ่นด้วยการเข้าร่วมกับ “เสรีไทย” เมื่อเจริญเติบโตถึงยุคสมัยหนึ่งเริ่มรู้จักกับข่าวหนังสือพิมพ์ เริ่มรู้จักชื่อนักหนังสือพิมพ์บางคน

คนหนึ่งที่มารู้จักชื่อเสียงภายหลัง คือ “อารีย์ ลีวีระ”

หนังสือ วันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 “ครูนักข่าว” มีเรื่องราวงของ “อารีย์ ลีวีระ” ชื่อเรื่อง “คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย”

 

อารีย์ ลีวีระ เป็นอดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 สมัย (2491-2494) เมื่อสำเร็จการศึษาจากมหาวิทยาลัยเอหมึง (อามอย) ประเทศจีน ได้รับปริญญาทางอักษรศาสตร์ กลับมาเมืองไทยใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาสอนนักเรียนที่โรงเรียนเผยอิง ขณะมีอาชีพครู ด้วยใจรักทางหนังสือพิมพ์จึงใช้เวลาว่างเขียนบทความสารคดี ข่าว ให้หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับ

เริ่มเข้าสู่วงการน้ำหมึกประจำหนังสือพิมพ์ “หมินก๊กยิเป้า” ระหว่างนั้นได้พยายามเผยแพร่วัฒนธรรม วรรณคดีไทยจีนให้ผู้อ่านมีความเข้าใจตรงกัน

ต่อมาและต่อมา ร่วมกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์จีนชื่อ “เสียนจิงสีเป้า” โดยอารีย์เป็นผู้อำนวยการ ในที่สุดต้องขายกิจการ และรามือจากวงการ

หลังจากนั้น เข้าร่วมทำหนังสือสยามสมัยรายสัปดาห์ ขณะสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น จึงร่วมขบวนการ “เสรีไทย” และออกหนังสือพิมพ์ “ไทยฮั้ว เซียนเป้า” เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามจึงร่วมทุนกับญาติซื้อกิจการบริษัทไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งสยามนิกร ซึ่งในที่สุดเหลือเพียงสยามนิกรฉบับเดียว และไม่นานจากนั้นจึงออกหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย เป็นหนังสือพิมพ์กรอบเช้าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2489 มีผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรใช้ชื่อย่อว่า “ข.ท.อ.”

วันที่ 9 มีนาคม 2496 ซึ่งเป็นวันฌาปนกิจ “มนัส วิจารณ์ภูธร” นักข่าวหัวเห็ดของสยามนิกร อารีย์ได้บันทึกด้วยสายเลือดของคนฐานันดร 4 ว่า “…คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย”

บันทึกในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 ช่วงท้ายว่า

“วันที่ 9 มีนาคม 2496 วงการนักข่าวก็เศร้าสลดเมื่อ “อารีย์” ถูกคนร้ายบุกเข้าไปยิงสิ้นชีวิตด้วยวัยเพียง 40 ปี ขณะที่ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ที่บ้านพักหนองแก หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์”

อารีย์ ลีวีระ ตาย แต่พิมพ์ไทย สยามนิกร และไทยพาณิชยการ ไม่ตายอย่างที่นักการเมืองผู้นั้นหวัง