การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / POISON CITY เมืองพิษ (3)

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

POISON CITY เมืองพิษ (3)

 

ขึ้นเล่ม 2 อัลเฟรด เจ้าของและบรรณาธิการการ์ตูนญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาบินมาพบฮิบิโนะ นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นเจ้าของผลงาน “อสูรย่ำรัตติกาล” ที่ถูกเรียกคืนจากท้องตลาดเพราะมีเนื้อเรื่องรุนแรงและรูปภาพไม่เหมาะสม

“คณะปัญญาชนไม่ได้อ่านหนังสือที่พวกเขาสั่งริบด้วยซ้ำ” อัลเฟรดกระซิบบอกฮิบิโนะ

เดือนหนึ่งๆ มีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นวางแผงหลายร้อยเล่ม พวกเขาไม่มีทางอ่านทัน ที่แท้พวกเขามีคณะทำงานคณะหนึ่งช่วยอ่านแทน

คณะทำงานที่คอยอ่านหนังสือการ์ตูนก็มิได้อ่านอยู่ดี พวกเขาเพียงนับจำนวนหน้าที่มีรูปภาพรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภาพสื่อนัยทางเพศหรือความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ จากนั้นนับจำนวนหน้าเอา

ถ้าจำนวนหน้าที่มีรูปภาพไม่เหมาะสมมากเกินกว่าร้อยละ 20 หนังสือเล่มนั้นจะกลายเป็น “สื่อสิ่งพิมพ์ต้องสงสัย” แล้วค่อยเข้าสู่การพิจารณาของคณะปัญญาชนอีกทีว่าจะให้เป็นสื่อสิ่งพิมพ์อันตรายหรือไม่ต่อไป

อัลเฟรดแนะนำฮิบิโนะให้รวบรูปรุนแรงหลายๆ กรอบเข้ามาไว้ในหน้าเดียวกัน เพราะคณะทำงานมิได้นับจำนวนกรอบแต่นับจำนวนหน้า ด้วยวิธีนี้ฮิบิโนะอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีเล่าเรื่องอยู่บ้าง ครั้นฮิบิโนะทดลองทำดู เขาพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงมิได้อยู่ดี

ไม่เพียงทำให้เนื้อเรื่องไม่สนุกแต่เป็นวิธีแก้ปัญหาปลายเหตุที่ทรยศต่อตนเองเป็นอย่างมาก

เขาจึงเขียน “อสูรย่ำรัตติกาล” ในแบบที่ต้องการลงเว็บต่อไป

ถึงวันนี้ฮิบิโนะไม่เพียงมีรายได้ลดลงจนกระทั่งต้องตัดค่าจ้างผู้ช่วยลงหมึก ประหยัดค่าปลาสเตอร์แก้ปวดที่ใช้ปิดข้อมือและท้องแขนเวลาเขียนงานจนปวด รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนตัว แต่แล้วเขาก็ไปไม่รอด หนังสือ “อสูรย่ำรัตติกาล” ถูกคณะปัญญาชนตัดสินเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อันตรายในที่สุด

ตอนต้นเล่มสองนี้อัลเฟรดได้เปิดเผยบันทึกของคุณตาของตัวเองที่เป็นนักวาดการ์ตูนสยองขวัญ คุณตาของเขาเคยถูกเรียกตัวไปให้การต่อคณะกรรมาธิการสหรัฐ แล้วเปลี่ยนแนวจากการเขียนการ์ตูนสยองขวัญเป็นการ์ตูนแนวล้อเลียนซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร

เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงหลังการปฏิวัติ 6 ตุลาคม 2519 ที่ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์บ้านเราราบคาบอยู่หลายปีในเวลาต่อมา เนื้อหาภายในกลายสภาพเป็นเนื้อเรื่องเบาสมองไปเสียทั้งสิ้น

“อสูรย่ำรัตติกาล” ไม่เพียงถูกขึ้นบัญชีเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อันตราย แต่เป็นครั้งแรกที่นักเขียนถูกเรียกตัวไปพบคณะปัญญาชนอีกด้วย แม้แต่มัตสึโมโตะซึ่งเคยถูกปรับพฤติกรรมแล้วก็ไม่เคยต้องไปพบคณะปัญญาชนด้วยตนเอง

 

ในเวลาเดียวกัน โทดะ อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งสายของอัลเฟรดในคณะปัญญาชนก็ลาออกจากคณะปัญญาชนเพราะไม่เห็นด้วยที่มีคำสั่งริบหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิคของญี่ปุ่นแต่มีรูปประกอบด้านเพศมากเกินไป

โทดะเดินทางไปพบคุณพ่อของอิซากะ เด็กหนุ่มที่ตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมเด็กชายคนหนึ่งหลังจากได้อ่านการ์ตูนบาปบริสุทธิ์ของมัตสึโมโตะ จนเป็นเหตุให้การ์ตูนบาปบริสุทธิ์ถูกริบและมัตสึโมโตะเข้ารับการปรับพฤติกรรม

ที่แท้แล้วไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่าอิซากะอ่านหนังสือบาปบริสุทธิ์ มีเพียงภาพถ่ายหนังสือบาปบริสุทธิ์วางอยู่ในห้องของเขาอย่างเรียบร้อยเท่านั้นเอง

ใครเป็นคนวาง

โทดะอ้างถึงหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องสำคัญ Fahrenheit 451 ของเรย์ แบรดเบอรี่ ที่เล่าเรื่องคำสั่งเผาหนังสือให้หมดของรัฐเผด็จการแห่งหนึ่ง ดูเหมือนว่าคณะปัญญาชนกำลังทำตัวแบบเดียวกันเสียแล้ว

หนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ปี 1951 เรื่อง Fahrenheit 451 มีตัวเอกชื่อกาย มอนแท็ก เขาเป็นพนักงานดับเพลิง แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมิได้มีหน้าที่ดับเพลิง พวกเขามีหน้าที่เผาหนังสือ รถดับเพลิงสีแดงที่เราคุ้นเคยมิได้บรรทุกน้ำแต่บรรทุกน้ำมันเพื่อฉีดใส่กองหนังสือแล้วเผาให้หมด เนื้อเรื่องดำเนินไปในลักษณะยามเฝ้าบ้านแล้วใครเฝ้ายาม กาย มอนแท็กจึงเริ่มอ่านหนังสือในวันหนึ่ง

แล้ววันกำหนดนัดก็มาถึง ฮิบิโนะเดินทางไปพบคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะตามนัด โปรดติดตามการไต่สวนอันเป็นจุดไคลแมกซ์

 

หลายครั้งที่เผด็จการมาในคราบปัญญาชน แม้กระทั่งเอ็นจีโอ พวกเขามาในนามของความหวังดี แต่พวกเขาเป็นเผด็จการทางปัญญาซึ่งมักลงเอยด้วยการยับยั้งอำนาจและความหวังดีของตนเองไม่อยู่ ในที่สุดจะมีผู้บริสุทธิ์ต้องเข้าคุก หายตัว ลี้ภัย หรือเสียชีวิตเพราะปัญญาของพวกเขา

โอซามุ ประธาณคณะปัญญาชนพูดว่า “อาจารย์โทดะ กรุณาใช้คำพูดให้ถูกต้องหน่อยนะครับ ไม่ใช่นักเขียนอันตราย แต่เป็นผู้รับการอบรมพิเศษ ไม่ใช่โปรแกรมปรับความประพฤติ แต่เป็นการอบรมพิเศษ อะไรๆ ที่เขียนกันเกินเลยเป็นฝีมือเขียนข่าวของสื่อ การอบรมพิเศษก็มิใช่กระบวนการล้างสมองประเภทจับมัดแล้วขืนใจ ที่แท้แล้วโปรแกรมไม่ต่างอะไรจากการอบรมพวกเมาแล้วขับเท่าไรนัก”

ฟังดูดีและน่าเลื่อมใสเป็นอันมาก

จากผลงานของ Tetsuya Tsutsui สำนักพิมพ์ SMM Publishing