สุจิตต์ วงษ์เทศ / เก็บกระดูกคนตาย ‘เก็บมิ่งสิงขวัญ’ ความสัมพันธ์ต่างมิติ

ช่องบรรจุอัฐิริมกำแพงโบสถ์วัดบ้านขาม ต.ขามสะแกแสง อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เก็บกระดูกคนตาย

‘เก็บมิ่งสิงขวัญ’

ความสัมพันธ์ต่างมิติ

 

เก็บกระดูกคนตายเป็นประเพณีเกี่ยวกับมิ่งและขวัญ หรือ “เก็บมิ่งสิงขวัญ” ตามความเชื่อในศาสนาผีสมัยดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วของคนในอุษาคเนย์

มิ่ง คือส่วนที่เป็นตัวตน (หรือรูปธรรม) ได้แก่ อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เรียกกระดูก หรือข้อ ซึ่งปกติห่อหุ้มด้วยเลือดและเนื้อ

ขวัญ คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตน (หรือนามธรรม) ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น แต่สิงในส่วนต่างๆ ของร่างกายของแต่ละคนซึ่งมากกว่า 1 และบางกลุ่มเชื่อว่ามี 80

คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เชื่อว่ามิ่งต้องสิงด้วยขวัญจะได้รับยกย่องเป็นฝ่ายดี เรียกผีขวัญ ถ้ามิ่งไม่สิงด้วยขวัญ จะถูกผลักเป็นฝ่ายร้าย เรียกผีดิบ

ประเพณีเก็บรักษากระดูกคนตาย เท่ากับมีขวัญของคนตายคงอยู่ตลอดไปเป็นผีขวัญ เสมือนยังไม่ตาย ตามความเชื่อคนตายขวัญไม่ตาย แต่เป็นผีขวัญคอยปกป้องคุ้มครองเครือญาติยังมีชีวิต สอดคล้องกับตำนานสร้างโลกและกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง บอกว่า “ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด” หมายถึงผีขวัญของคนตายกับคนไม่ตาย มีกิจกรรมพบปะสนทนากันได้ตลอดกาล

[อินเดียไม่มีประเพณีเก็บรักษากระดูกคนตาย เมื่อเผาศพแล้วโยนถ่านเถ้าอัฐิลงในคงคาน้ำ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุมีนักปราชญ์อธิบายว่าเป็นวรรณกรรมแสดงลักษณะผู้วิเศษ]

แจงรูป หรือแปรรูป กระดูกศพที่เผาแล้ว วางตําแหน่งกะโหลก, แขน, ขา เป็นรูปอย่างง่ายๆ คล้ายคนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (ซ้าย) ภาพสลักรูปผีขวัญบรรพชนบนหน้ากลองทองสําริด (มโหระทึก) ในพิธีศพ พบที่เมืองดงเซิน เวียดนาม

 

กระดูกคนตายถูกเก็บรักษาไว้

แจงรูป, แปรรูป หมายถึง ประเพณีเอาเถ้าถ่านและกระดูกศพที่เผาเสร็จแล้วบนกองฟอนมาจัดใหม่อย่างง่ายๆ เป็นรูปคน (หรือผีขวัญบรรพชนในศาสนาผี) ยุคอยุธยามีประเพณีแจงรูปบันทึกไว้ในคําให้การขุนหลวงหาวัด แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ หลังถวายพระเพลิงแล้วมี “แจงพระรูป” จากนั้นเก็บไว้ในผอบทอง ส่วนชาวบ้านรวบรวมกระดูกเหล่านั้นใส่ภาชนะเก็บไว้ในที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สร้างเสาไม้แกะสลักหรือหล่อซีเมนต์คล้ายเสมาหินเป็นที่บรรจุอัฐิ ตั้งไว้ในวัดหรือในป่าช้า

ผู้รู้ภาษาเขมรบอกว่า แปรรูป ในกัมพูชาหมายถึงพิธีเผาศพ แล้วนําอัฐิคนตายจัดเรียงใหม่เป็นรูปคนบนใบตอง ครั้งแรกหันหัวไปทางทิศตะวันตก แล้วอีกครั้งเปลี่ยนหันหัวไปทางทิศตะวันออก

[ในกัมพูชามีปราสาทแปรรูป อายุราวหลัง พ.ศ.1500 มีคําบอกเล่าเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าได้ชื่อจากชาวบ้านตั้งเอง เมื่อเห็นที่หน้าปราสาทมีก่อหินเป็นแท่นสี่เหลี่ยม คล้ายหีบหินใส่ศพ ชาวบ้านเลยเชื่อว่าเป็นที่แปรรูปงานทําศพ จึงเรียกตามความเชื่อด้วยภาษาปากว่า ปราสาทแปรรูป ต่อมาเมื่อตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญสมัยหลังจึงรู้ว่าไม่ใช่ที่ทําศพ แต่เป็นแท่นตั้งประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์]

รูปคนที่เอากระดูกศพเผาแล้วมาเรียงแจงรูปหรือแปรรูปนั้น ทําอย่างง่ายๆ เหมือนปั้นดินเหนียวเป็นตุ๊กตารูปคนกางขากางแขน คล้ายผีขวัญบรรพชน ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในที่ต่างๆ เช่น (1) สลักบนผิวนอกไหหิน ทุ่งไหหิน ในลาว และ (2) ลายสลักบนหน้ากลองทองสําริด (มโหระทึก) พบที่เวียดนาม

เสร็จจากแจงรูป หรือแปรรูป รวบรวมกระดูกและเถ้าถ่านทั้งหมดใส่ภาชนะเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในวัด, ในหอผี, ในปราสาทพระเทพบิดร

ชาวอีสานแต่ก่อนและชุมชนดั้งเดิมลุ่มน้ำโขง สร้างสถานที่คล้ายเสมาหินด้วยเสาไม้แกะสลัก หรือหล่อด้วยปูนซีเมนต์ เป็นที่บรรจุกระดูกและเถ้าถ่านตั้งไว้ในวัด หรือในป่าช้า ปัจจุบันสร้างสถูปเจดีย์ไว้ในวัด หรือทําช่องบรรจุไว้ตามกําแพงวัดก็มี

ภาพสลักรูปผีขวัญบรรพชนบนผิวนอกของไหหินใส่กระดูกคนตาย พบในทุ่งไหหิน เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ในลาว [ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2538)]

เชิญวิญญาณ

ปัจจุบันเมื่อมีคนตายที่ใดที่หนึ่งนอกบ้านเรือนที่เคยกินอยู่ในชีวิตประจำวัน พ่อแม่และญาติพี่น้องตลอดจนมิตรสหาย มักมีประเพณี “เชิญวิญญาณ” กลับบ้านเรือนเคยอยู่ อู่เคยนอน

วิญญาณเป็นความเชื่อทางพุทธจากอินเดีย หมายถึงสิ่งที่เชื่อกันว่ามีหนึ่งเดียวหรือดวงเดียวในร่างกายของทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ แต่บางทีเชื่อว่าตายแล้วสูญ คือวิญญาณคนนั้นดับไม่เหลืออีก และไม่เกิดอีก ใครเชิญไปไหนมาไหนไม่ได้อีก

ตายแล้วเกิด (ตายเกิด) หรือตายแล้วสูญ (ตายสูญ) เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนทุกวันนี้ก็มีอยู่ แล้วจะมีอีกในอนาคต จนได้ชื่อว่าเป็นปัญหาประจำโลกก็ได้ (จากหนังสือ ตายเกิด ตายสูญ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2541 หน้า 1)

พุทธศาสนาเชื่อใน “เวียนว่ายตายเกิด” โดยถือว่าตราบใดที่คนยังมีกิเลส มีตัณหา ตราบนั้นจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก (จากหนังสือ ตายแล้วเกิด ของ สุชีโว ภิกขุ มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 15 พ.ศ.2540 หน้า 1)

“ความเชื่อว่าวิญญาณหรือจิตมนุษย์เป็นอัตตา ที่เรียกกันว่าเป็นผี หรือเจตภูต หรือกายทิพย์ ที่ออกจากร่างกายซึ่งตายไปแล้วได้ เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า” จากคำบรรยายเรื่อง ความหมายที่ถูกต้องของคำว่าวิญญาณในพุทธศาสนา โดย เตชปัญโญ ภิกขุ (ที่มา : http://pantip.com/topic/31520938)