วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองของผู้หญิงในฐานะจักรพรรดินีจีน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (ต่อ)

ครั้นเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นและทรงเรียกจั่งซุนอู๋จี้และคณะมาเข้าเฝ้าเพื่อขอความเห็น จั่งซุนอู๋จี้ซึ่งเป็นผู้ดีเก่าเช่นเดียวกับมเหสีหวังได้คัดค้านการเปลี่ยนตัวมเหสี ถึงแม้ถังเกาจงจะทรงให้เหตุผลว่ามเหสีหวังไม่สามารถให้โอรสแก่พระองค์ก็ตาม

ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะมาคัดง้างความเห็นของจั่งซุนอู๋จี้นี้ไปได้

จากเหตุนี้ การเปลี่ยนองค์มเหสีจึงกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาในราชสำนัก เพราะเสนามาตย์ในกลุ่มสามบูรพาที่ยืนอยู่ข้างอู่เจ้าเองก็ไม่ยอมเช่นกัน

ปัญหาดังกล่าวดำรงอยู่นานนับปีท่ามกลางการขับเคี่ยวด้วยวิธีการต่างๆ ระหว่างมเหสีหวังกับอู่เจ้า แต่ในขณะที่ความขัดแย้งของทั้งสองกำลังดำเนินไปอยู่นั้น ถังเกาจงก็ประชวรจนร่างกายอ่อนแอ ทำให้อู่เจ้าได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองแทนอยู่เนืองๆ พร้อมกันนั้นก็หาผู้ที่จะสนับสนุนตนให้เป็นมเหสีไปด้วย

ระหว่างที่ปัญหาตำแหน่งมเหสีดำรงอยู่เช่นนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาสามเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง

 

เหตุการณ์แรก ระหว่างที่ถังเกาจงประชวรอยู่นั้น ให้เป็นเวลาเดียวกับที่อู่เจ้าก็มีอาการเพ้อคลั่งโดยหาสาเหตุไม่ได้ หนึ่งในอาการเพ้อคลั่งคือการพร่ำรำพันถึงธิดาที่เสียชีวิตไป เหตุครั้งนี้ได้เกิดข่าวลือว่ามเหสีหวังทรงใช้คุณไสยกับถังเกาจงและอู่เจ้า

ข่าวลือนี้ทำให้ถังเกาจงทรงมีบัญชาให้ตรวจค้นห้องบรรทมของพระนาง แล้วก็พบว่าใต้แท่นบรรทมมีตุ๊กตาไม้สองตัวโดยมีตะปูตอกอยู่บนหัว

ตัวหนึ่งสลักชื่อของถังเกาจง อีกตัวหนึ่งสลักชื่อของอู่เจ้า

เมื่อถังเกาจู่ทราบความก็ทรงกริ้ว ส่วนมเหสีหวังซึ่งมิได้รู้เห็นในเรื่องดังกล่าวก็ไร้หลักฐานมาหักล้าง เช่นนี้แล้วความคิดที่จะถอดมเหสีหวังออกจากตำแหน่งของถังเกาจงจึงมั่นคงขึ้น

เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า การต่อสู้ขับเคี่ยวครั้งนี้มีการใช้เล่ห์เพทุบายในทุกทางไม่เว้นแม้แต่คุณไสย

เหตุการณ์ที่สอง มีขุนนางในกลุ่มสามบูรพาผู้หนึ่งชื่อหลี่อี้ฝู่ (ค.ศ.614-666) ได้มีความขัดแย้งกับจั่งซุนอู๋จี้ขึ้น จนถึงในช่วงเวลาดังกล่าว จั่งซุนอู๋จี้ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าได้ใช้อำนาจของตนลดตำแหน่งของหลี่อี้ฝู่โดยให้ย้ายไปต่างจังหวัด

ระหว่างที่คำสั่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของถังเกาจงอยู่นั้น หลี่อี้ฝู่ได้ไปปรับทุกข์กับเพื่อนขุนนางผู้หนึ่ง เพื่อนผู้นี้แนะนำให้เขาถวายฎีกาถึงถังเกาจงโดยเสนอความเห็นว่าควรตั้งอู่เจ้าให้เป็นมเหสีแทน และหลี่อี้ฝู่ทำตามคำแนะนำนั้น

ผลคือ เมื่อถังเกาจงได้เห็นฎีกาก็พอพระทัย พระองค์ไม่เพียงทรงยับยั้งคำสั่งย้ายหลี่อี้ฝู่เท่านั้น หากยังประทานไข่มุกหนึ่งถังตวงให้เขาอีกด้วย ส่วนอู่เจ้าที่รู้เรื่องนี้ก็พอใจหลี่อี้ฝู่เช่นกัน และหาทางเลื่อนเขาให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น

ผลที่พลิกผันนี้เป็นที่รับรู้ทั่วราชสำนัก และส่งผลให้เสนามาตย์บางคนเลือกอยู่ข้างอู่เจ้าอย่างเปิดเผย และหนึ่งในนั้นคือสี่ว์จิ้งจง

 

เหตุการณ์ที่สาม หนึ่งในสี่แกนนำของกลุ่มด่านเทือกเขาหล่งผู้หนึ่งคือหลี่ซื่อจี ผู้มีสกุลเดิมว่าสีว์ และมีอีกชื่อหนึ่งว่าหลี่จี (ค.ศ.594-669) หลี่ซื่อจีมีภูมิหลังเป็นสามัญชน เข้าร่วมกบฏโค่นราชวงศ์สุยตั้งแต่เป็นมานพน้อย ต่อมาได้อยู่ในกลุ่มของหลี่ซื่อหมิน

จนเมื่อถังตั้งวงศ์แล้วหลี่ซื่อจีก็ได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพในมณฑลเหอเป่ยกับซันตง จากนั้นก็เติบโตในสายทหารมาโดยตลอด จนถึงในยุคถังเกาจงจึงได้เป็นหนึ่งในสี่มหาอำมาตย์ที่มีจั่งซุนอู๋จี้เป็นผู้นำ

ในระหว่างที่เกิดปัญหาตำแหน่งมเหสีนั้น ถังเกาจงทรงให้หลี่ซื่อจีมาเข้าเฝ้าแล้วถามเขาเกี่ยวกับปัญหานี้ เขาทูลตอบว่า ปัญหาการแต่งตั้งมเหสีเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไยถังเกาจงต้องหารือคนนอกด้วยเล่า

ด้วยความยินดีในคำทูลของหลี่ซื่อจี ถังเกาจงจึงมีบัญชาให้สี่ว์จิ้งจง (ค.ศ.592-672) มาเข้าเฝ้าเพื่อถวายความเห็นในเรื่องดังกล่าวบ้าง สี่ว์จิ้งจงจึงถวายความเห็นว่า

“ชั้นแต่ชาวนาชราเก็บเกี่ยวธัญญาหารได้เพิ่มจากที่เคยขึ้นมาสิบหู ก็ยังคิดเปลี่ยนภริยา จักรพรรดิจักตั้งมเหสีองค์ใหม่ไยจึงต้องไปถามหาความเห็นชอบจากผู้อื่นหรือคำแนะนำคัดค้านที่สิ้นคิดของบุคคลเหล่านั้นด้วยเล่า”

การที่หลี่ซื่อจีซึ่งสังกัดกลุ่มด่านเทือกเขาหล่งมีความเห็นตรงข้ามกับผู้นำของตนเช่นนี้นั้น แท้จริงแล้วมิใช่เป็นเพราะเขาทรยศต่อกลุ่มของตนไม่ แต่เป็นเพราะภูมิหลังที่เป็นสามัญชนที่ไต่เต้าในระบบราชการด้วยตนเองเช่นเดียวกับกลุ่มสามบูรพา ประการหนึ่ง และเป็นเพราะมีเส้นทางชีวิตราชการในสายทหารมาตลอด อีกประการหนึ่ง

ได้ทำให้เขามีความเห็นโน้มเอียงไปข้างเดียวกับสามบูรพา จนทำให้ถังเกาจงทรงมีความมั่นใจในอันที่จะเปลี่ยนมเหสีมากขึ้น

ดังนั้น พอถึงเดือนสิบของ ค.ศ.655 ก็มีราชโองการให้ถอดมเหสีหวังและสนมเซียวออกจากตำแหน่งลงเป็นสามัญชน จากนั้นก็คุมขังทั้งสองด้วยข้อหาวางยาพิษจักรพรรดิ โทษนี้รวมไปถึงญาติวงศ์ทั้งหมดของทั้งสอง จากนั้นจึงเนรเทศญาติวงศ์เหล่านี้ไปยังดินแดนที่เต็มไปด้วยภัยร้ายในทางภาคใต้

เมื่อหมดอุปสรรคแล้วถังเกาจงก็สถาปนาอู่เจ้าขึ้นเป็นมเหสีในเดือนปีเดียวกันนั้นเอง

 

เหตุการณ์ที่จบลงเช่นนี้ทำให้นักวิชาการจีนที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สุย-ถังวิเคราะห์ว่า แม้จะเห็นได้ชัดว่าประเด็นการแย่งชิงตำแหน่งมเหสีจะเป็นเรื่องระหว่างมเหสีหวัง สนมเซียว และอู่เจ้าที่ต่างขับเคี่ยวกันก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงแล้วยังเป็นการต่อสู้ของสองกลุ่มทางการเมืองเช่นกัน คือกลุ่มสามบูรพากับกลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง ที่มีพัฒนาการทางอำนาจ ภูมิหลัง ตลอดจนทัศนะต่อสังคมชนชั้นที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง

และเมื่อการขับเคี่ยวและต่อสู้ดังกล่าวจบลงดังที่เห็น บาทก้าวแรกทางอำนาจของอู่เจ้าก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น

 

บทบาทในฐานะมเหสี

หลังก้าวขึ้นเป็นมเหสีองค์ใหม่ได้ประมาณหนึ่งเดือน อู่เจ้าหรือมเหสีอู่ก็เริ่มบทบาทแรกด้วยการกำจัดเสี้ยนหนามทางอำนาจของพระนาง บุคคลแรกก็คือ อดีตมเหสีหวังและอดีตสนมเซียว โดยมเหสีอู่ทรงให้ตัดแขนขาของทั้งสองแล้วนำไปกักขังในไหสุรา เมื่อทั้งสองตายไปในไหนั้นแล้วก็ให้ตัดศีรษะเสีย

การกำจัดเสี้ยนหนามด้วยวิธีที่เหี้ยมโหดเช่นนี้นักวิชาการในปัจจุบันเห็นว่าไม่น่าจะจริง เพราะเป็นการนำเอาพฤติกรรมของอดีตมเหสีของฮั่นเกาตี้ (ราชวงศ์ฮั่น) ที่กำจัดสนมคนโปรดของฮั่นเกาตี้ด้วยวิธีเดียวกันมาใส่ให้กับมเหสีอู่

และที่บันทึกเช่นนี้ก็ด้วยอคติที่มีต่อมเหสีอู่ที่เป็นอิสตรี

แต่ที่เป็นข้อเท็จจริงคือ ทั้งสองได้ถูกนำตัวไปจองจำหลังจากถูกถอดให้เป็นสามัญชน จนครั้งหนึ่งถังเกาจงทรงไปเยี่ยมทั้งสองที่หน้าห้องขัง แต่พอความนี้รู้ถึงมเหสีอู่ก็ทรงกริ้ว จากนั้นจึงได้สั่งให้ประหารทั้งสองในที่สุด

เมื่อขจัดเสี้ยนหนามนี้ไปแล้ว เป้าหมายที่มเหสีอู่จักต้องกำจัดต่อไปก็คือ เสนามาตย์ในกลุ่มด่านเทือกเขาหล่ง

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า มเหสีอู่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองในช่วงที่ถังเกาจงประชวรอยู่เนืองๆ นั้น ครั้นพอได้เป็นมเหสีอย่างเป็นทางการแล้วบทบาทที่ว่าก็ยิ่งทวีมากขึ้น และเพื่อการกำจัดเสนามาตย์ที่เป็นปฏิปักษ์ มเหสีอู่มิได้ใช้วิธีเผชิญหน้าโดยตรง หากแต่ใช้วิธีที่สอดรับกับความคิดทางการเมืองของพระนาง

นั่นคือ การสนับสนุนให้มีการสอบบัณฑิต

วิธีนี้ทำให้มีบัณฑิตที่เป็นสามัญชนได้เข้ามาเป็นเสนามาตย์ในราชสำนักมากมาย เสนามาตย์เหล่านี้ย่อมยืนอยู่ข้างมเหสีอู่ไปโดยปริยาย

———————————————————————————————————
(1) หู เป็นหน่วยตวงในยุคโบราณของจีน แต่เดิม 1 หูเท่ากับ 10 โต่ว (ถังจีน) ต่อมาลดเหลือ 5 โต่ว เนื่องจาก 1 โต่วเท่ากับ 10 ลิตร จำนวน 10 หูจึงเท่ากับ 500 ลิตร หรืออาจเทียบได้เท่ากับ 500 กิโลกรัมในบางมาตรา ทั้งหมดนี้เป็นค่าโดยประมาณการ