จิตต์สุภา ฉิน : โซเชียลมีเดียกับนิสัยการกินที่เราไม่รู้ตัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

มีผลวิจัยชิ้นหนึ่งที่ต่อให้เขาไม่ได้รายงานผลนี้ออกมา ฉันก็พอจะรู้อยู่แล้วแหละว่ามันเป็นเรื่องจริง

แต่ก็ดีที่ได้รู้ว่ามีอะไรยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวฉันอยู่บ่อยครั้ง

ฉันมักจะได้ไอเดียอาหารที่อยากกินมาจากบนหน้าเฟซบุ๊กนี่แหละ

ไม่ใช่ร้านอาหารเก๋ๆ ฮิปๆ หรือร้านกาแฟตกแต่งสวยร้านใหม่ที่จะมีบรรดาสื่อไลฟ์สไตล์หรืออินฟลูเอนเซอร์มาเขียนแนะนำหรอกนะคะ

แบบนั้นไม่ค่อยจะดึงดูดความสนใจของฉันเท่าไหร่ ด้วยความที่ฉันเป็นมนุษย์ที่ยึดติดอยู่กับพฤติกรรมแบบเดิมๆ กินร้านเดิมๆ ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับการลองของใหม่อะไรขนาดนั้น

แต่ที่ฉันหมายถึงคือการได้ไอเดีย “ประเภทของอาหาร” ที่จะกินในมื้อต่อไปต่างหาก

 

เมื่อไหร่ที่เพื่อนแชร์ภาพไปกินชาบู ฉันไม่สนหรอกว่าฉันจะต้องไปกินชาบูร้านเดียวกัน

แต่ชาบูนี่แหละได้กลายเป็นเมนูที่เข้าไปฝังอยู่ในสมองแล้วอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับเบอร์เกอร์ พาสต้า ข้าวหน้าหมูทอดทงคัตสึ ซูชิ ปลาดิบ ฯลฯ ทั้งที่ก่อนหน้าจะเห็นโพสต์ต่างๆ เหล่านั้นฉันไม่ได้อยากกินอาหารทั้งหมดที่ว่ามาเลย

แต่เห็นภาพแค่ภาพเดียวก็มากเพียงพอที่ฉันจะสะกิดคนข้างๆ แล้วบอกว่า “วันนี้ไปกิน (ใส่ชื่อเมนูอาหาร) นะ”

ให้เขาต้องงงอยู่เสมอว่าฉันไปได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

 

ผลการวิจัยจาก Aston University ที่เก็บข้อมูลจากนักศึกษากว่า 369 คน ด้วยการเริ่มจากข้อมูลดัชนีมวลกายของแต่ละคน ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันว่ากินผัก ผลไม้ ขนมที่ให้พลังงาน หรือพวกน้ำหวานต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

และให้ประเมินด้วยว่าเพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กของแต่ละคนกินอาหารประเภทเดียวกันนี้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน

จากข้อมูลที่เก็บมาได้ทั้งหมดก็พบว่า ถ้าอาสาสมัครคิดว่าเพื่อนบนเฟซบุ๊กตัวเองกินผักผลไม้เป็นปริมาณแค่ไหน พวกเขาก็จะกินเพิ่มขึ้นไปกว่านั้นอีกหนึ่งส่วนห้าของทั้งหมด

หรือสรุปสั้นๆ ก็คือ ถ้าเราคิดว่าเพื่อนบนเฟซบุ๊กเรากินผักผลไม้ เราก็มีแนวโน้มจะกินผักผลไม้เพิ่มขึ้นด้วย

นั่นแปลว่าถ้าเรามีเพื่อนที่กินแต่ของที่เฮลตี้บนหน้าเฟซบุ๊ก เราก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ที่เรากินในแต่ละวันไปด้วยนั่นเอง

แต่แน่นอนว่าถ้าโซเชียลมีเดียให้ผลทางนี้ มันก็ต้องให้ผลอีกทางด้วยเหมือนกัน

ทีมนักวิจัยทีมนี้ยังพบอีกว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะกินอาหารที่ไม่เฮลตี้ ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยวหรือน้ำหวานเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจากทุกๆ สามส่วนของขนมและน้ำหวานที่พวกเขาคิดว่าเพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กก็กินด้วย

แปลว่าท้ายที่สุดแล้วเรามักจะกินอาหารเหล่านี้เข้าไปมากกว่าเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเราเสียอีก

 

นักวิจัยเขาอธิบายว่า ภาพความรับรู้ว่าเพื่อนกินอะไรบ้างนั้นก็มาจากการได้เห็นโพสต์ที่เพื่อนโพสต์เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคกัน ทำให้เรามีภาพรวมๆ อยู่ในหัวว่าเพื่อนแต่ละคนมีสุขภาพโดยรวมเป็นอย่างไรบ้าง

ซึ่งทีมนี้เขาก็บอกว่าการศึกษานี้นับเป็นหลักฐานแรกที่บ่งชี้ว่าแวดวงบนโซเชียลมีเดียของเราส่งผลต่อนิสัยในการเลือกกินอาหารของเราอย่างไรบ้าง

ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เรามีแนวโน้มที่จะเลือกอาหารไปในแบบเดียวกับที่เราเห็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กกิน โดยที่เราอาจจะไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมของเรานั้นได้รับอิทธิพลมาจากไหน

ดังนั้น ถ้าเราเชื่อว่าเพื่อนเรากินผักและผลไม้เยอะ เราก็มีแนวโน้มที่จะกินผักและผลไม้บ้าง

แต่ถ้าเราเห็นภาพเพื่อนมีความสุขไปกับการขบเคี้ยวขนมโรยน้ำตาลหรือดูดชานมไข่มุกหวานหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่บ่อยๆ

มันก็จะเหมือนเป็นการ “ให้ใบอนุญาต” กับเราว่า อ้าว เราก็กินได้นี่นา แล้วก็ปล่อยให้ตัวเองกินโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ

 

ฉันลองสังเกตตัวเองก็พบว่ามีบ้างที่ฉันรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน เช่น ถ้าฉันเห็นเพื่อนซื้อชานมไข่มุกประเภทที่แค่เห็นก็อ้วนแล้วมา ฉันอาจจะเดินไปสั่งแบบเดียวกันบ้างแต่ลดความหวานลงเพื่อให้ฉันรู้สึกผิดน้อยลง ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าไม่ได้เห็นโพสต์นั้นฉันก็อาจจะไม่ได้อยากกินเลยตั้งแต่แรกก็ได้

การค้นพบครั้งนี้นำไปต่อยอดได้ว่า ถ้าโซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลต่อการเลือกกินของเราได้จริงๆ เราก็น่าจะสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการเตือนกันและกันให้กินเฮลตี้มากขึ้น

เราอาจจะเริ่มจากการตั้งกลุ่มกันสักกลุ่มและกำหนดกติกาว่าจะโพสต์เฉพาะอาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้นเพื่อให้มันเป็นแรงจูงใจให้เพื่อนคนอื่นๆ เห็นแล้วอยากทำตามบ้าง

หรือในวงกว้างกว่านั้น หน่วยงานสาธารณสุขหรือแบรนด์ด้านสุขภาพทั้งหลายก็อาจจะเพิ่มความถี่ของการโพสต์ภาพอาหารสารพัดประโยชน์ลงไปบ่อยๆ เพื่อให้ผู้ติดตามได้เห็นภาพนี้และฝังเข้าไปใต้จิตสำนึกเพื่อที่มื้อหน้าจะได้ตัดสินใจเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าให้พวกเราแห่กันเข้าไปประณามหยามเหยียดคนที่โพสต์ภาพอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนะคะ

เพราะไม่ว่าคนอื่นจะเลือกกินอะไร สุดท้ายมันก็คือไลฟ์สไตล์ของเขา ทางเลือกของเขา

การไปคอมเมนต์ใต้ภาพเค้กช็อกโกแลตที่ชุ่มฉ่ำของเพื่อนว่า “อ้วน” หรือ “ระวังอ้วนนะ” นี่เป็นการเสียมารยาทที่สุดอย่างหนึ่งไม่ว่าคุณจะสนิทกับคนคนนั้นแค่ไหน

และเป็นการเชื้อเชิญให้เจ้าของภาพได้สิทธิในการตอบกลับมาว่า “กินอยู่ที่ร้าน ไม่ได้กินอยู่บนหัวใคร”

 

ให้มองการวิจัยนี้เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้ในการสร้างพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้นให้กับตัวเราเองได้ หรือใช้เพื่อแทรกซึมสร้างพฤติกรรมการกินที่ดีให้กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่กำลังโตและต้องการสารอาหารที่เป็นประโยชน์

เลือกติดตามเพื่อนที่กินเฮลตี้และแชร์เฮลตี้ให้มากขึ้น อย่างน้อยๆ ถ้าเราไม่ได้กินตามในทันทีทันใด แต่เราได้มีมันฝังเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึก แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ดังนั้น ในยุคที่โซเชียลมีเดียส่งผลต่อทุกพฤติกรรมของเราไม่เว้นแม้แต่การกิน การจะบอกว่า You are what you eat อาจจะยังไม่ครอบคลุมพอ แต่ต้องบอกว่า

You eat what (you think) your friends on Facebook eat เพิ่มเข้าไปด้วย