ต่างประเทศ : “เหตุกราดยิง” เราเรียนรู้อะไรได้จากสหรัฐอเมริกา

เหตุกราดยิงที่ห้างเทอร์มินอล 21 ห้างใจกลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนไทยมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในรอบหลายปี

การฆาตกรรมหมู่ที่นับว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง หากไม่นับการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุกราดยิงในเมืองใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับทั้งประชาชนที่ประสบเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รัฐบาล รวมไปถึงสื่อมวลชน

นอกจากการเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ประเทศไทยยังสามารถเรียนรู้ได้จากชาติที่มีประสบการณ์ที่มีเหตุกราดยิงเกิดบ่อยครั้งและมีมานานหลายสิบปีแล้วเพื่อเพิ่มโอกาสป้องปรามเหตุที่อาจเกิดซ้ำได้ในอนาคตอย่างสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาก็คือ ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า “เหตุกราดยิงนั้นสามารถแพร่ระบาดได้” ในแบบที่คล้ายคลึงกับโรคระบาด และอธิบายกระบวนการแพร่ระบาดเอาไว้ให้เราได้ศึกษาด้วย

 

มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตเคยทำการวิจัยเอาไว้ในช่วงปี 2015 โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการก่อเหตุสังหารหมู่โดยนับเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 คน ไม่ว่าจะอาวุธชนิดใดก็ตาม ระหว่างปี 2006-2013, เหตุกราดยิงในโรงเรียนระหว่างปี 1998-2013 รวมถึงเหตุกราดยิงที่มีผู้ถูกยิงอย่างน้อย 3 คนระหว่างปี 2005-2013

เชอร์รี่ ทาวเวิร์ส นักวิจัยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต ใช้เวลาตลอดชีวิตการทำงานศึกษารูปแบบการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงอย่างอีโบลา ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิด พบหลักฐานว่าเหตุกราดยิงนั้นมีรูปแบบการแพร่ระบาดในลักษณะเดียวกัน

“สิ่งที่เราเจอนั่นก็คือเหตุฆาตกรรมหมู่ ซึ่งมีการเสียชีวิตอย่างน้อย 4 คนขึ้นไปนั้น มีหลักฐานพบว่าสามารถแพร่ระบาดได้ เช่นเดียวกันกับเหตุกราดยิงในโรงเรียน” ทาวเวิร์สระบุ

นักวิจัยด้านการป้องกันเหตุรุนแรงพบว่า มีผู้ก่อเหตุจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการกราดยิงในที่สาธารณะหรือเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นก่อนหน้า นอกจากนั้น ยังส่งสัญญาณเช่นการโพสต์ข้อความชื่นชมผู้ก่อเหตุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังพบด้วยว่าการรายงานเหตุกราดยิงทั้งผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ต่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ผู้ที่มีโอกาสก่อความรุนแรงลุกขึ้นมาก่อเหตุได้มากขึ้นในอนาคต

 

ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างคริสโตเฟอร์ ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ มือปืนกราดยิงในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เหตุที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน เมื่อปี 2015 ว่า ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ เคยอัพโหลดวิดีโอเหตุกราดยิงโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุกในรัฐคอนเน็กทิคัต เมื่อปี 2012 มาก่อน ทั้งคู่มีความเชื่อมโยงบางอย่างร่วมกัน เช่น การอาศัยกับแม่ด้วยกันทั้งคู่ การชื่นชอบในอาวุธปืน รวมไปถึงทั้งคู่มีอาการแอสเปอร์เกอร์เหมือนกันด้วย

ขณะที่มือปืนแซนดี้ฮุกเองก็ค้นคว้าเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในโคโลราโด ในปี 1999 ที่มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และเหตุกราดยิงในนอร์เวย์ เมื่อปี 2011 ที่คร่าไป 77 ก่อนก่อเหตุด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบด้วยว่า การแพร่ระบาดของการกราดยิงนั้น “เกิดขึ้นต่อเนื่องตามกัน” ในลักษณะเดียวกันกับการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี 1997 ถึง 2013 ยังพบด้วยว่าช่วงเวลาที่อาจเกิดเหตุสังหารหมู่หรือกราดยิงขึ้นซ้ำนั้น มีโอกาสสูงสุดหลังเหตุการณ์แรกถูกเผยแพร่ผ่านสื่อไปแล้ว “สองสัปดาห์”

แน่นอนว่าหลายภาคส่วนของสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันเหตุสังหารหมู่หรือเหตุกราดยิงดังกล่าวหลายๆ แนวทางด้วยกัน

เช่น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขอความร่วมมือกับสื่อในการรายงานข่าวเหตุกราดยิงอย่างมีมาตรฐาน แบบเดียวกับการรายงานข่าวฆ่าตัวตาย

เช่น การไม่เอ่ยชื่อ ไม่เผยแพร่รูปผู้ก่อการ ไม่ใช้คำอ้างอิงถึงมือปืนด้วยคำที่อาจถูกมองว่าดูเท่ เช่น “หมาป่าเดียวดาย” เป็นต้น

 

มาตรการเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้รับความร่วมมือในช่วงแรก แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นในปัจจุบัน

เจ.เรด เมลอยย์ นักจิตวิทยานิติวิทยาศาสตร์ในซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระบุว่า อีกหนึ่งวิธีที่สามารถใช้ได้ผลเช่นเดียวกับการป้องกันเหตุก่อการร้ายก็คือ “see something, say something” หมายถึง ถ้าเห็นอะไรผิดปกติก็จงแจ้งเบาะแส นั่นเพราะผู้ก่อการส่วนใหญ่มักส่งสัญญาณให้เห็นถึงความต้องการที่จะก่อเหตุ ไม่ว่าจะด้วยการโพสต์ผ่านโลกออนไลน์ หรือในบทสนทนาในชีวิตจริง

เมลอยย์ระบุว่า อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำก็คือการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น หน่วยบังคับใช้กฎหมาย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านสุขภาพจิต เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม และประเมินว่าบุคคลที่มีปัญหาที่มีโอกาสที่จะเดินไปสู่เส้นทางของความรุนแรง

สิ่งนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในนครลอสแองเจลิส ในการหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในหลายคดี เช่น หลังเหตุการณ์กราดยิงโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก เจ้าหน้าที่ได้รับเบาะแสและเข้าตรวจสอบเด็กชายวัย 16 ปีที่ชื่นชอบเกี่ยวกับการประกอบระเบิดจากสารเคมี และเคยพูดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้ว่า “ผมต้องกำจัดคนเลวๆ ออกจากโลกใบนี้”

โดยเจ้าหน้าที่ยังเรียกสอบแม่ของเด็กวัยรุ่นรายนี้ให้ดูแลลูกซึ่งมีความชื่นชอบหลงใหลในอาวุธปืน สามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้

และการสืบค้นยังพบประวัติเกี่ยวกับการกราดยิงในโรงเรียนในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากด้วย

ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกายังบอกด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรต้องทำก็คือการทำความเข้าใจกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจในเรื่องของ “กฎหมายสิทธิส่วนบุคคล” ที่ยกเว้นเอาไว้ในกรณีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยสาธารณะ” เนื่องจากความกังวลในข้อกฎหมายดังกล่าวนำไปสู่การปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่สำคัญได้เช่นกัน

หลังจากนี้ก็อยู่ที่ว่า ประเทศไทย สังคมไทย และรัฐบาลไทยจะได้บทเรียนอะไรจากเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนี้บ้าง เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาไม่ช้าก็เร็ว