ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การประท้วงก็กลายเป็นหน้าที่”
ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน
หากสำรวจภาพรวมจากปี 2019 จะเห็นได้ว่ามีการประท้วงใหญ่เกิดในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่งหากเน้นเฉพาะการประท้วงใหญ่ที่เป็น “mass protest” แล้ว จะเห็นได้ว่าในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน และสาธารณรัฐเช็ก ในละตินอเมริกา ได้แก่ โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ชิลี และโบลิเวีย ในตะวันออกกลาง ได้แก่ แอลจีเรีย ซูดาน อิรัก อิหร่าน และเลบานอน
ในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย และฮ่องกง
ซึ่งในหลายประเทศที่เผชิญกับการประท้วงนี้ ระบอบการปกครองเดิมได้ถูกโค่นล้มลงใน 5 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย แอลจีเรีย เลบานอน อิรัก และซูดาน
ภูมิภาคละตินอเมริกา
การเมืองในละตินอเมริกาในปี 2019 เป็นเรื่องน่าสนใจที่เกิดการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศ และน่าสนใจในอีกมุมที่การประท้วงเช่นนี้ไม่นำไปสู่การรัฐประหารเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960
ซึ่งอาจอธิบายในด้านหนึ่งได้ว่า กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในละตินอเมริกา (Democratic Consolidation) ประสบความสำเร็จ
ที่อย่างน้อยเห็นได้ชัดว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การยึดอำนาจของฝ่ายทหาร
และผู้นำทหารตลอดรวมถึงผู้นำในปีกขวาทั้งหลายก็ไม่ได้ฉวยโอกาสที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
โบลิเวีย
การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในโบลิเวียเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการต่อต้านประธานาธิบดีโมราเลส (President Evo Morales) ที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 14 ปี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากชนพื้นเมือง แต่เขาอยู่ในอำนาจนานเกินไป อันทำให้หลายฝ่ายไม่ยอมรับ
แต่เขาก็พยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปด้วยการโกงการเลือกตั้ง การประท้วงจึงเกิดและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง
จนกลายเป็นแรงกดดันทั้งจากปีกประชาสังคมและจากผู้นำทหาร ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีก้าวลงจากอำนาจ
ในที่สุดเขาตัดสินใจที่จะยุติบทบาทด้วยการลาออกในวันที่ 10 พฤศจิกายน และเดินทางไปลี้ภัยที่เม็กซิโก
รัฐบาลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจใหม่มาจากฝ่ายค้านที่เป็นปีกอนุรักษนิยม
สิ่งที่เกิดขึ้นที่โคลอมเบียถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “กระแสการประท้วง” ที่กำลังพัดกระจายไปทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในเอกวาดอร์และชิลี
ดังได้กล่าวแล้วว่าการเปลี่ยนอำนาจในครั้งนี้ไม่ได้ใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่ได้ยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จริง
ประธานาธิบดีอเนซ (President Jeanine Anez) ยังเผชิญกับการประท้วงที่เกิดในเมืองหลวงและหลายเมืองใหญ่ของประเทศ เพราะผู้สนับสนุนโมราเลสยังต้องการให้เขากลับสู่ตำแหน่งอีกครั้ง
ขณะเดียวกันการประท้วงเช่นนี้ยังนำไปสู่การปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน
ซึ่งการประท้วงดังกล่าวจะมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตทางการเมืองของโบลิเวียในปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมราเลสจะมีโอกาสหวนคืนสู่ตำแหน่งได้จริงเพียงใด และเมื่อต้องเผชิญกับการประท้วงไม่ต่างกัน ปีกอนุรักษนิยมจะอยู่ได้นานเพียงใด
และรัฐบาลอนุรักษนิยมจะฟื้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร
ภูมิภาคตะวันออกกลาง
หากดูจากการประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางแล้ว จะเห็นได้ว่า “คลื่นอาหรับสปริงลูกที่สอง” ที่เกิดจากปี 2018 ต่อเนื่องเข้าปี 2019
ยังคงเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
แอลจีเรีย
ในตอนต้นปี 2019 กระแสการประท้วงใหญ่ในตะวันออกกลางที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกิดขึ้นที่แอลจีเรีย
รัฐบาลของประธานาธิบดีบูเตฟลิกา (President Abdelaziz Bouteflika) ที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึง 20 ปี ถูกกดดันจากการชุมนุมของประชาชนที่ต่อต้านประธานาธิบดีที่ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสมัยที่ 5 ทั้งที่เขามีปัญหาสุขภาพอย่างมาก และมีอายุมากถึง 82 ปี
อีกทั้งเขาไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะมาเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยเฉพาะนับตั้งแต่เขามีอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ในปี 2013
การประท้วงใหญ่เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง
จนในที่สุดผู้นำทหารบกถอนการสนับสนุนรัฐบาล และประกาศว่าเขาไม่มีความพร้อมของร่างกาย และต้องออกจากตำแหน่ง “ทันที”
ซึ่งประธานาธิบดีได้ลาออกในวันที่ 2 เมษายน แต่กระนั้นการประท้วงก็ไม่ได้ยุติลง และผู้ประท้วงต่างรู้สึกว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย เพราะผู้ที่มีอำนาจจริงที่อยู่เบื้องหลังได้แก่ฝ่ายทหาร
อีกทั้งมวลชนบนถนนมองว่ารัฐบาลใหม่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และคอร์รัปชั่นไม่ต่างจากรัฐบาลเดิม
ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 60 บอยคอตการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคม
และผู้ชนะการเลือกตั้งก็เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลเดิมมาก่อน
แม้การประท้วงที่แอลจีเรียยังไม่จบ แต่การประท้วงที่ครั้งนี้ก็โค่นรัฐบาลเผด็จการที่สำคัญชุดหนึ่งของตะวันออกกลางลงได้
ซูดาน
คลื่นอาหรับสปริงลูกที่สองเกิดขึ้นอีกครั้งที่ซูดาน การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาเชียร์ (President Omar al-Bashir) ที่เป็นหนึ่งในรัฐบาลเผด็จการที่มีอายุยืนนานชุดหนึ่งในตะวันออกกลางที่อยู่ในอำนาจนานถึง 30 ปีนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2018
และเป็นดังคาดที่รัฐบาลอำนาจนิยมจะใช้มาตรการปราบปรามเป็นเครื่องมือ
ในที่สุดบาเชียร์ก็ถูกกดดันให้ลงจากอำนาจในต้นเดือนเมษายน 2019 แต่การประท้วงก็ไม่ได้สิ้นสุดลง จนในเดือนสิงหาคมผู้นำทหารจึงยอมที่จะให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และยอมให้ประเทศถูกปกครองโดยพลเรือน
ดังนั้น รัฐบาลพลเรือนของซูดานจึงถือกำเนิดขึ้นในเดือนกันยายน และเป็นรัฐบาลแรกหลังระบอบบาเชียร์ เขาถูกคุมขังพร้อมกับลงโทษ 2 ปีในคดีคอร์รัปชั่นในวันที่ 14 ธันวาคม
และการไต่สวนยังย้อนกลับไปถึงการรัฐประหาร 1989 ที่ทำให้บาเชียร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ… ไม่มีนิรโทษกรรมสำหรับนักรัฐประหารที่ซูดาน และคดีนี้มีโทษถึงประหารชีวิต
จึงน่าสนใจว่าคดีนี้จะปิดลงในปี 2020 ด้วยการประหารชีวิตผู้นำรัฐประหารหรือไม่
เลบานอน
ตัวอย่างของการประท้วงใหญ่อีกกรณีได้แก่ กรณีของเลบานอน เพราะปกติเรามักจะได้ข่าวเรื่องของเลบานอนที่เป็นเรื่องสงคราม
แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องของการประท้วงใหญ่ ที่ทำให้ในที่สุดแล้ว ประธานาธิบดีฮาริรี่ (President Saad al-Hariri) ต้องยอมลาออก
การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในตอนกลางเดือนตุลาคม 2019 และขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว
เป้าหมายคือการต่อต้านชนชั้นนำที่เป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น การบริหารที่ผิดพลาด อันนำประเทศไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และเป็นภาวะที่เลวร้ายที่สุดในช่วงหลายทศวรรษ
การประท้วงในส่วนหนึ่งจึงเป็นผลโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งการประท้วงที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็น “ม็อบเศรษฐกิจ” ที่ประชาชนเป็นจำนวนมากมีความรู้สึกร่วม และพร้อมที่จะออกมาบนถนน
ในที่สุดมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีศาสตราจารย์ Hassan Diab อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แต่การประท้วงไม่ว่าจะเป็นในเบรุตหรือในเมืองหลักอื่นๆ ก็ไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด ประชาชนเป็นจำนวนมากรู้สึกว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็มาจากกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่คอร์รัปชั่น
และประเด็นของนายกรัฐมนตรียังเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคง เพราะการล้มลงของรัฐบาลผสมเดิมนั้น ทำให้กลุ่มติดอาวุธของชาวชีอะห์คือกลุ่มฮิซบุลลอฮ์หมดอำนาจในรัฐบาลตามไปด้วย กลุ่มนี้จึงหันกลับมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใหม่
แต่ปัญหาที่ยุ่งยากเกิดจากการที่แม้ Diab จะเป็นสุหนี่ แต่เขากลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนกลุ่มนี้
ฉะนั้น การเมืองเลบานอนในปี 2563 จึงเป็นที่จับตามองว่ากระแสการประท้วงใหญ่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และรัฐบาลใหม่จะอยู่ได้จริงเพียงใดในอนาคต
อิรัก
อีกมุมหนึ่งของการประท้วงในตะวันออกกลางคือ การต่อสู้เรียกร้องในอิรักที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2019 จนทำให้นายกรัฐมนตรี Adel Abdul Mahdi ต้องลาออกในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
การประท้วงนี้มีศูนย์กลางอยู่กับเรื่องทางเศรษฐกิจ และเป็นประเด็นที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก
แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้วิธีปราบอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่ามีผู้ชุมนุมมากกว่า 450 คนถูกยิงเสียชีวิต
และมีจำนวนผู้บาดเจ็บมากกว่า 20,000 คน
ข้อเรียกร้องทั้งในอิรักและในเลบานอนมีความคล้ายคลึงกันคือ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลของชนชั้นนำที่คอร์รัปชั่นออกไป (อิรักเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก จากการจัดอันดับของ The Transparency International)
อีกทั้งผู้ประท้วงต้องการปรับรื้อระบบทางการเมืองของประเทศที่พวกเขามองว่าเป็นระบบที่ทำให้ประชาชนยากจน และระบบนี้เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเข้ามาแสวงประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และในสายตาของมวลชนบนถนน ชนชั้นนำที่คอร์รัปชั่นเหล่านี้เป็นตัวแทนของระบอบเผด็จการ และเป็นต้นตอของความยากจน
การประท้วงในอิรักจึงเป็นอีกส่วนที่สะท้อนให้เห็นถึง “ม็อบเศรษฐกิจ” และการประท้วงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า อิรักที่เคยสงบมากว่าสองปีหลังจากการแตกของฐานที่มั่นหลักของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) แล้ว รัฐบาลเพิ่งจะมาเผชิญกับการประท้วงขนาดใหญ่ในช่วงปลายปี 2019
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลที่แบกแดดมีปัญหาประการสำคัญว่า จะจัดตั้งผู้นำรัฐบาลสายชีอะห์ที่ได้การสนับสนุนจากอิหร่าน (ซึ่งส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้อยู่ในรัฐสภา) หรือจะตั้งผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นสุหนี่ ปัญหาเช่นนี้ทำให้การตัดสินใจเลือกของประธานาธิบดีอิรักเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย
และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังอาจเป็นชนวนของการประท้วงในปี 2020 อีกทั้งทำอย่างไรที่รัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
การประท้วงขึ้นสู่กระแสสูง!
ละตินอเมริกา
หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นในปี 2019 มีลักษณะเป็น “ม็อบเศรษฐกิจ” มากขึ้น
เช่น ในเอกวาดอร์มีอาการคล้ายในโบลิเวีย และการประท้วงที่โบลิเวียเป็นตัวอย่างของการเรียกร้องของประชาชนในปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ประท้วงในโบลิเวียชนะเช่นไร ในเอกวาดอร์ก็ชนะเช่นนั้น จนรัฐบาลต้องยอมยุติการขึ้นราคาพลังงาน (ผลจากแรงกดดันของไอเอ็มเอฟ)
การประท้วงใหญ่ในชิลีที่เริ่มจากการประกาศขึ้นค่าโดยสารระบบสาธารณะในตอนกลางเดือนตุลาคม และได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การประท้วงต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างมาก จนมีผู้เสียชีวิตถึง 26 คน และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
แต่ผลจากการประท้วงนี้ทำให้รัฐบาลต้องหันมาทำแผนลงทุนใหม่เพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การประท้วงที่ชิลีสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็น “เชื้อเพลิง” ที่พร้อมจะจุดไฟแห่งการประท้วงได้ง่ายๆ และจุดเริ่มต้นของการประท้วงอาจจะไม่ใช่เรื่องทางการเมืองโดยตรง
ยุโรป
การประท้วงของกลุ่ม “แจ๊กเก็ตเหลือง” ที่ฝรั่งเศสเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของ “ม็อบเศรษฐกิจ”
และการประท้วงที่เริ่มในปี 2018 ต่อเนื่องในปี 2019 และตามมาในปี 2020 ด้วยการประท้วงของสหภาพขนส่ง และต่อมาด้วยการประท้วงเรื่องเงินบำนาญ
การประท้วงใหญ่ในสเปนในปี 2019 ยังคงเป็นเรื่องการเรียกร้องเอกราชของชาวคาตาลาน ที่ยังไม่อาจจบลงได้โดยง่าย
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงใหญ่ในสาธารณรัฐเช็ก ที่มวลชนเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้นำ
เอเชีย
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงเป็นคำยืนยันที่ชัดเจนของพลังประชาชนบนถนน และเป็นความท้าทายมากที่สุดที่รัฐบาลปักกิ่งต้องเผชิญกับ “โจทย์ฮ่องกง”
นับตั้งแต่การรับมอบเกาะนี้จากอังกฤษในปี 1997 และมีการประท้วงขนาดใหญ่ในอินเดียเกิดจากประเด็นทางกฎหมายที่ไม่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิม จนกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลเดลี
การประท้วงใหญ่ในเอเชียมีการเมืองเป็นประเด็นหลัก
ในขณะที่ในยุโรป ละตินอเมริกา และตะวันออกกลางมีเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ
ถ้าเช่นนั้นในปี 2020 จะมีรัฐบาลใดถูกโค่นด้วยพลังประชาชนบนถนน
หรือรัฐบาลใดต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอันเป็นผลจากแรงกดดันด้วยพลังมหาชน?