The Leftover เติมชีวิตให้ของเหลือใช้ด้วยแรงบันดาลใจแห่งศิลปะ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ผลงานส่วนที่สองของนิทรรศการ The Leftover ของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ จัดแสดงในหอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) ที่ตั้งอยู่ห่างจากหอศิลป์ ARTIST+RUN ไม่ไกลเกินอึดใจ

หากเปรียบกับผลงานในนิทรรศการส่วนแรกที่แขวนแสดงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนผนังสีขาวสะอาดตา สมกับเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ

ผลงานที่จัดแสดงอย่างระเกะระกะแต่สนุกสนานในนิทรรศการส่วนนี้ก็ดูไม่ต่างอะไรกับสวนสนุกของศิลปินขี้เล่น

เพราะภายในห้องแสดงงานเต็มไปด้วยผลงานประติมากรรมสามมิติรูปม้านั่งหน้าตาประหลาดสารพัดรูปแบบที่ประกอบขึ้นจากเศษเหล็กเหลือใช้วางเกลื่อนกลาดไปทั่วพื้นห้องแสดงงานจนเกือบจะเกะกะ

หรือไม่ก็วางเรียงรายเป็นระเบียบบนโต๊ะเตี้ยยาวราวกับแท่นโชว์สินค้าสุดพิสดาร

บนผนังมีภาพวาดบนเศษวัสดุ และประติมากรรมลอยตัว ทำจากวัสดุเหลือใช้หลากหลายชิ้น เพดานเหนือทางเดินเข้าห้องแสดงงานยังมีประติมากรรมทำจากเศษเหล็กรูปห่วงกลมแขวนห้อยลงมาให้ผู้ชมอย่างเราต้องคอยเอี้ยวตัวหลบยามเดินเข้าไปดูงาน

ลึกเข้าไปเป็นประติมากรรมเหล็กดัดสูงใหญ่พันผ้าหลากสีและวัสดุสารพัดอย่าง ตั้งเอียงหมิ่นเหม่

แต่ก็ถูกฉุดรั้งเอาไว้ไม่ให้ล้มลงมาด้วยโซ่ที่ตรึงกับผนังอย่างน่าตื่นเต้นปนหวาดเสียว

ที่โดดเด่นเตะตาที่สุดเห็นจะเป็นรั้วตะแกรงเหล็กผืนใหญ่เต็มผนัง สูงจรดเพดาน ที่แขวนห้อยประติมากรรมจากเศษเหล็กเหลือใช้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนนับไม่ถ้วน

ดูๆ ไปก็คล้ายกับเครื่องมือหรืออาวุธเด็กเล่นยังไงยังงั้น

ไทวิจิตกล่าวถึงผลงานส่วนที่สองในนิทรรศการนี้ของเขาว่า

“จริงๆ งานเก้าอี้ชุดนี้ผมสามารถทำให้มีฟังก์ชั่นใช้งานได้จริงๆ มีสัดส่วนที่นั่งสบายได้ แต่ในงานคราวนี้เราไม่คิดไปถึงตรงนั้น แต่เน้นที่สภาวะโดยรวมของการดึงเอาศักยภาพ ไม่ใช่จากตัวข้าวของเหลือใช้อย่างเดียว แต่ดึงศักยภาพทางความคิด ศักยภาพในการทดลองแก้ปัญหา ขบคิด หาทางออกใหม่ๆ ในการทำให้สิ่งของเหลือใช้เหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ ใช้งานได้ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการใช้สอย แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดของตัวเราเอง ทำให้เรารู้สึกสนุกและท้าทายที่สามารถหยิบเอาข้าวของที่ไม่มีประโยชน์ในสายตาของคนทั่วไปมาทำให้มีศักยภาพขึ้นมาใหม่ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

“ส่วนผลงานที่เป็นประติมากรรมบนตาข่าย ผมตั้งชื่อว่า Classic Trap หรือ “กับดักอมตะ” ถ้าสังเกตจะเห็นว่าตัวประติมากรรมที่แขวนอยู่มีลักษณะเป็นเหมือนเครื่องมือเป็นอาวุธ เป็นปืนเป็นอะไร ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ หรือถ้าไม่ใช้อำนาจก็ใช้กลไก ใช้เล่ห์กล หลอกลวง โกหกปลิ้นปล้อนเพื่อพยายามหาวิธีที่จะทำให้ได้สิ่งนั้นมา

“ผมคิดว่า ถ้าคนเรามีความโลภ โกรธ หลง หรือมีอัตตา เราก็จะติดกับดัก ติดบ่วง ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ กับดักที่ว่านี้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เผลอๆ มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้วด้วยซ้ำ และมันไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่มนุษย์ยังคงยึดติดกับกิเลส ไม่มองโลกตามสภาพความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งความคิดของเราเอง ก็สามารถทำให้เราติดกับได้ ถ้าหากเราคิดว่าตัวเราดี คนอื่นเลว เราต้องทำลายมันซะ สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ซึ่งสุดท้ายก็อาจนำไปสู่สงครามได้

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์

“การทำงานชุดนี้เป็นการทดลองหาทางออกจากกับดักเหล่านี้ของผม และถ้างานเหล่านี้ส่งผลในแง่ดีต่อผู้อื่นได้ด้วย ผมก็จะดีใจมาก แต่ที่แน่ๆ คือผมได้ใช้สิ่งของไร้ค่า เหลือทิ้ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือเงื่อนไขอันใดก็ตาม นำมาทำออกมาให้มีคุณค่าทางความงาม ทางความคิด ผมก็รู้สึกว่าตัวเองประสบผลสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว

“อย่างน้อยที่สุดผมก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้และได้ใช้ประโยชน์จากมัน ในการทำให้สภาพแวดล้อมในบ้านของผมน่าอยู่ มีประโยชน์ใช้สอย และทำให้ผมใช้ชีวิตได้อย่างสุขสงบ”

สิ่งที่น่าสนใจประการสุดท้ายของนิทรรศการ The Leftover ครั้งนี้คือ ผู้ที่มารับบทบาทเป็นภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงานในนิทรรศการนี้ก็คือศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักในระดับสากล และเป็นผู้ก่อตั้งหอศิลป์เว่อร์ อย่างฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช

และเขาผู้นี้นี่เองที่เป็นคนออกแบบและกำหนดสภาพแวดล้อมในการแสดงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอศิลป์เว่อร์ ให้มีความสนุกสนาน โดดเด่น แหวกขนบการแสดงงานทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

“เราเห็นงานของ “พี่มอ” (ชื่อเล่นของไทวิจิตที่เรียกกันในหมู่คนรู้จักและคุ้นเคย) มานานแล้ว โดยเฉพาะงานที่เขาทำเป็นเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของการเป็นแค่งานศิลปะ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เราก็เลยอยากให้คนได้เห็นงานของเขาในมุมอื่นๆ นอกจากงานภาพวาดนามธรรมที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย

อีกอย่าง ตอนเราไปสตูดิโอของเขา เราก็เห็นเขาเอาวัสดุเหลือใช้เก็บตกจากที่ต่างๆ มาทำเป็นงาน ซึ่งเราคิดว่าในยุคสมัยนี้ที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ แบบนี้ น่าจะมีอะไรสักอย่างที่กระตุ้นให้เราคิดสักหน่อยว่าสิ่งที่เราทิ้งๆ กันอยู่นั้นส่งผลอย่างไรบ้าง

สำหรับพี่มอ นอกจากเขาจะไม่ทิ้ง เขายังเอาของเหลือทิ้งเหล่านี้มาทำให้เป็นอะไรที่มีประโยชน์ขึ้นมา ไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม เราเองเคยพูดเอาไว้นานแล้วว่า สถานที่ที่เก็บขยะได้ดีที่สุดก็คือ “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นที่รีไซเคิลสิ่งของได้ดีที่สุด

เพราะว่าเป็นที่นอกจากจะเก็บข้าวของแล้ว ยังให้ประโยชน์ในแง่ของการศึกษาได้ด้วย เหมือนเป็นพื้นที่ให้คนได้มานั่งพิจารณาสิ่งของเหล่านั้นว่าคืออะไร

เราเองก็พยายามจะทำให้ศิลปะไม่ได้เป็นของสูงนะ เราไม่ต้องการให้ศิลปะเป็นสิ่งที่กราบไหว้บูชา เราต้องการให้มันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ให้ใกล้ตัวคน

ที่เราจัดแสดงงานในหอศิลป์เว่อร์แบบนี้ เพราะเราต้องการทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเวลาไปบ้านและสตูดิโอของพี่มอที่มีข้าวของเหล่านี้ที่เขาทำเอาไว้ ทั้งเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ วางและแขวนอยู่ทั่ว ม้านั่งที่วางไว้ทั่วหอศิลป์ บางชิ้นคนก็สามารถใช้งาน ด้วยการหย่อนก้นลงนั่งพักได้

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการทำลายความเป็น White Cube (ห้องสี่เหลี่ยมสีขาว) ของหอศิลป์ ด้วยการวางอะไรเกะกะให้ผู้ชมสะดุดและหยุดคิดสักหน่อย ว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่โล่งว่างกว้างขวางและสะดวกสบายเสมอไป”

ฤกษ์ฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

เล่าให้ฟังกันขนาดนี้แล้ว ต้องขอบอกว่ามิตรรักแฟนศิลปะทุกคนไม่ควรพลาดนิทรรศการครั้งนี้ด้วยประการทั้งปวง

นิทรรศการ The Leftover จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม – 14 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN และหอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์เว่อร์