รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ปีเตอร์ ยาค็อบ 145 ปีแห่งความสัมพันธ์อันราบรื่นไทย-ฮังการี (1)

เอกอัครราชทูตปีเตอร์ ยาค็อบ

สถานเอกอัครราชทูตฮังการีแห่งใหม่ อยู่ที่ชั้นที่ 14 ของอาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ใจกลางเมือง แยกถนนวิทยุ-เพลินจิต ซึ่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคารผสมผสานระดับสูงสุดแห่งแรกของประเทศไทย

สถาปัตยกรรมภายในสถานเอกอัครราชทูตนั้นออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่งดงาม ทันสมัย โดยสถาปนิกชาวฮังการี

“ผมมีความสุขมากที่ได้ทำงานภายในอาคารสวยงามแห่งนี้ ซึ่งเน้นพื้นที่สีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบประหยัดพลังงานและน้ำ อีกทั้งอยู่ใกล้กับสถานทูตอื่นๆ ด้วย”

“ที่ตั้งของอาคาร นับว่ามีส่วนสำคัญในการปฏิบัติงาน เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาติดต่อ การที่สถานทูตตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ทำให้ผมได้ใช้รถไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรในบางครั้ง แต่หากเดินทางโดยใช้รถของสถานทูตยามที่การจราจรติดขัดก็ไม่มีปัญหา ผมสามารถทำงานภายในรถได้เสมอ ทั้งการใช้โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต หรืออี-เมล”

นี่คือการกลับมาประเทศไทยเป็นครั้งที่สองของ ดร.ปีเตอร์ ยาค็อบ (H.E. Dr. P?ter Jakab) ครั้งนี้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ สถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2014

จากครั้งก่อนที่เคยเป็นรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ระหว่างปี ค.ศ.2007-2011 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับนักการทูตที่จะได้กลับมาประจำทำงาน ณ ประเทศเดิมถึงสองครั้ง

ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยคุณสมบัติหลายประการ นับตั้งแต่การปฏิบัติงานที่โดดเด่นในช่วงแรก มีความรู้และคุ้นเคยกับประเทศไทยอย่างกว้างขวาง มีเพื่อนสนิทมิตรสหายมากมาย สามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ดี

ที่สำคัญคือ มีจิตใจที่ผูกพันกับประเทศไทยอย่างมาก

สะพานเชน (Chain bridge)สะพานแขวนเชื่อมระหว่างฝั่งบูดาและฝั่งเปสต์ครั้งที่ยังแบ่งเป็นสองเมือง

เอกอัครราชทูตปีเตอร์ ยาค็อบ เล่าประวัติความเป็นมา

“ผมเกิดเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1969 ในกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) เมืองหลวงของฮังการีที่ได้ชื่อว่า ไข่มุกแห่งแม่น้ำดานูบ (Pearl of the Danube) สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Budapest University of Economic Sciences ปี ค.ศ.1998 และปริญญาเอกสาขาการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural Communication) จาก E?tv?s Lor?nd University ที่นครบูดาเปสต์ ปี ค.ศ.2006”

“ผมเติบโตในฮังการีโดยไม่เคยออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเลย จนกระทั่งเริ่มทำงานที่กระทรวงต่างประเทศในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2003 จึงนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงมากสำหรับผม ที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศบ้านเกิดในดินแดนต่างประเทศในปัจจุบัน”

“เนื่องจากประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ สวยงาม มีชื่อเสียง ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก และมีความปลอดภัย ผมกับเพื่อนๆ จึงเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1993 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ประธานาธิบดีของเราได้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ครั้งนั้นพวกเราสนุกและมีความสุขมาก”

“ในขณะนั้นผมเป็นเพียงนักท่องเที่ยวธรรมดา ยังไม่ได้เข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มาทำงานที่ประเทศไทยในกาลต่อมา”

 

ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ไทยและฮังการีมีประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสฮังการีในปี ค.ศ.1897

ซึ่งขณะนั้นออสเตรียและฮังการียังเป็นประเทศเดียวกันเรียกว่า จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ทรงใช้เวลาห้าวัน ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย (Vienna, Austria) และอีกห้าวัน ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี (Budapest, Hungary) ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน ทรงศึกษาดูงาน ณ เมือง B?bolna และ Kisber เพื่อเรียนรู้การเกษตรของฮังการี ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเวลานั้น และนำไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรไทย

ทว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังมีค่อนข้างน้อยในช่วงสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในที่สุด ประเทศไทยและฮังการี ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1973

ฮังการีจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ปี ค.ศ.1978 ส่วนไทยจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ปี ค.ศ.1989

 

การเยือนครั้งสำคัญ พระราชวงศ์ฝ่ายไทยที่เสด็จฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ปี ค.ศ.1989 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี ค.ศ.1994 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ปี ค.ศ.2000, 2005 และ 2006

บุคคลสำคัญฝ่ายฮังการีที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ประธานาธิบดี อาร์ปาด เกินซ์ (?rp?d G?ncz) ปี ค.ศ.1993 และ 1999 และประธานาธิบดี ลาสโล โชลยม (Laszlo Solyom) ปี ค.ศ.2009

แม้ไทยเพิ่งจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮังการีปี ค.ศ.1973 แต่ความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์กลับยาวนานกว่าศตวรรษ

การมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศของ นายยานอช์ มาร์ตอนยิ (J?nos Martonyi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม ค.ศ.2012 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับสยาม และ 100 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนทางการทูต จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสยาม

“ผมขอกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของเรานั้น เริ่มจากวันที่มีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีทางการค้าและการเดินเรือ (Treaty of Amity, Trade and Navigation) ระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและราชอาณาจักรสยามในปี ค.ศ.1872 ดังนั้น ในความเป็นจริง ไทยและฮังการีจึงมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากนับถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 145 ปี”

เอกอัครราชทูตปีเตอร์ ยาค็อบ กล่าว

 

“สมัยก่อน คณะผู้แทนทางการทูตปฏิบัติงานในสำนักงานผู้แทนทางการทูต (Legation) ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่เรียกว่า สถานทูต (Embassy) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูตที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1913 โดย นายรูดอล์ฟ โวเดียเนอร์ ฟอน มาโกลด (Rudolf (Rezs?) Wodianer von Magl?d) ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูต ในปีเดียวกัน”

“สำนักงานผู้แทนทางการทูตของฮังการีในขณะนั้น ตั้งอยู่ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ และมีแผ่นสลักเป็นอนุสรณ์อยู่ในโรงแรม มีพิธีเปิดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการี ปี ค.ศ.2012”

“ปัจจุบัน สถานทูตฮังการีมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 16 คน เป็นนักการทูตชาวฮังการี 8 คน ซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วย และมีเจ้าหน้าที่คนไทยอีก 8 คน”

นอกเหนือจากภาษาฮังการีและไทยแล้ว เอกอัครราชทูตยาค็อบสามารถพูดภาษาอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และสเปน และสมรสแล้วกับ นางคริสตีน่า ซาโบ (Mrs. Krisztina Szab?) มีบุตรสาว 1 คน อายุ 4 ขวบ

“เรามีโอกาสมาใช้ชีวิตที่นี่อย่างมีคุณค่า ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ได้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น และผมสามารถขับรถได้เองโดยไม่มีปัญหา เพราะรู้จักถนนหนทางและสถานที่ต่างๆ”

“ผมจึงคิดว่า เราโชคดีมากๆ ที่ได้กลับมาอยู่ที่เมืองไทยอีกครั้ง เสมือนหนึ่งได้กลับมาบ้านหลังที่สองของเรา”