E-DUANG : ช่องว่าง ระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ​ปัญหา วัฒนธรรม และความคิด

ปฏิกิริยาต่อการปรากฏขึ้นของ “มินิฮาร์ต” ปฏิกิริยาต่อการปรากฏขึ้นแห่ง “การปาด หยาดน้ำตา”ระหว่างแถลงข่าว

มิได้มาจาก “สื่อเก่า” หากแต่มาจาก “สื่อใหม่”

ยิ่งเมื่อมีการนำเอาไม่ว่ากรณี”มินิฮาร์ต” ไม่ว่ากรณี”การปาดหยาดน้ำตา”เข้าไปสู่กระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยิ่งสัม ผัสได้อย่างเด่นชัด

ระหว่างมุมมองของ “ส.ส.” กับ มุมมองของรัฐมนตรีที่ได้รับมอบ หมายให้มา “ตอบ”

เป็นเรื่องของคนละโลก เป็นเรื่องของคนละยุค

พูดกันคนละภาษา ให้ความสำคัญในประเด็นที่ไม่เหมือนกันสะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่างรุ่นอย่างเด่นชัด

เด่นชัดแม้กระทั่งเรื่องของ “หมา”

 

การหยิบยกเรื่องความกตัญญูของหมา การหยิบยกเรื่องความซื่อสัตย์ของหมา แล้วนำไปสู่การที่หมาไม่ได้บ้าโซเชียล ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับประเด็น”ชังชาติ”

เหมือนกับเป็นความคมคาย แต่ก็เป็นความคมคายบนพื้นฐานจุดยืนและความเชื่อแบบเก่า

ความเชื่อแบบ”ไอ้มอม”ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช

การนำเอาความล้ำเลิศของหมาจากมุมมองของคนเพื่อมาเปรียบ เทียบแล้วกดฝ่ายตรงกันข้ามกับตนให้อยู่ในภาวะต่ำทรามยิ่งกว่าหมาซึ่งเป็นสัตว์เดรฉาน

เป็นความนิยม เป็นความชมชอบในการอุปมาฉันใด อุปมัยฉันนั้นเพื่อยกตนให้เหนือกว่าคนอื่น เพื่อทำให้ปรปักษ์หรือศัตรูในทางการเมืองต่ำต้อยด้อยค่า

คำถามก็คือ คนอื่นจะรับรู้และคิดเหมือนกับตนหรือไม่

 

ปมปัญหาอันปะทุขึ้นในขณะนี้จึงเป็นอะไรไม่ได้นอกเสียจากปัญหาอันเกี่ยวกับวัย ปัญหาอันเกี่ยวกับรุ่น

เป็นเรื่องของคนในวัย ๕๐ ล่วง เป็นเรื่องของคนในวัย ๖๐ ล่วง

เมื่อมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับคนในวัยละอ่อนไม่ว่าจะต่ำกว่า ๓๐ ไม่ว่าจะเพิ่งเยาวเรศรุ่นเจริญศรี

ปราการที่ขวางกั้นระหว่าง ๒ ฝ่ายได้กลายเป็น “ช่องว่าง”

เป็นช่องว่างพลันที่ “มินิฮาร์ต” ปรากฏขึ้นอย่างขัดเจน เป็นช่องว่างพลันที่มี “การปาด หยาดน้ำตา”

อย่างนี้เองที่โบราณสรุปว่า พูดกันคนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง