หลังเลนส์ในดงลึก : “นอ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ระหว่างการคัดเลือกงานที่ทำไว้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในการทำหนังสือภาพ ซึ่งเป็นเรื่องราวของกวางผา

ทั้งหมดเป็นฟิล์มสไลด์

ผมพบรูปมากมายที่บันทึกไว้หลายรูป ลืมไปแล้วว่าเคยได้พบ บางรูปทำให้นึกถึงช่วงเวลานั้นๆ

นั่งก้มหน้า ส่องสไลด์ดูกับตู้ไฟ คล้ายกับว่าเวลาที่ผ่านไปแล้วย้อนกลับคืนมา

รูปแรดนอเดียว ที่พบในอุทยานแห่งชาติ คาซิลังก้า รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ยืนเคี้ยวหญ้าในทุ่งหญ้าตอนสายๆ ผมนึกถึงคำว่า “นอ”

และนึกถึงช่วงเวลาเริ่มต้นครั้งทำงานแรกๆ

ผมมักใช้วิธีเดินร่วมไปกับคนงานในหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งการเดินลาดตระเวนยังไม่ได้ใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมกับกรมป่าไม้ในยุคนั้น เริ่มต้นนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับการดูแลปกป้องชีวิตสัตว์ป่าและแหล่งอาศัยของพวกมัน

หลายครั้งในการเดินป่า มันเป็นเหตุการณ์อันน่าจดจำ

มีไม่น้อยที่เป็นบทเรียน

ที่สำคัญ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมรู้ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยอยากให้สัตว์ป่ามีชีวิตอยู่

โดยเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน

 

วันนั้น เป็นช่วงกลางฤดูฝน

จึงเป็นเรื่องปกติที่ฝนตกตลอดคืน จนกระทั่งรุ่งเช้าสายฝนยังโปรยปราย ท้องฟ้าขมุกขมัว กระแสน้ำในลำห้วยเพิ่มระดับ ไหลแรง ดอนทรายที่เมื่อวานโผล่พ้นน้ำ ถูกน้ำท่วมมิด สายฝนไม่หยุด วันนี้สิ่งที่ควรกระทำคือ อยู่ใต้ผ้ายางในแคมป์ แต่สมพงษ์ หัวหน้าชุด ไม่คิดเช่นนั้น เขาเร่งให้ลูกทีมประกอบอาหารเช้า และเตรียมสำหรับกลางวันด้วย

“เฮ้ย! โดนฝนไม่ละลายหรอกโว้ย” เขาพูดเมื่อเห็นน้องๆ ทำท่าอิดออด

“ไม่ใช่น้ำตาลซะหน่อย”

“ฝนตกๆ อย่างนี้ อย่าคิดว่าคนล่ามันไม่เข้า มันจะถือโอกาสเพราะคิดว่าเราคงไม่ออกเดินกัน” เขาให้เหตุผล

“คนล่าเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน มันล่าตามใบสั่ง มีวิธีการที่พัฒนาขึ้นเยอะ ดูอย่างพวกล่าแถวเมืองนอกที่ดูในสารคดีสิ มันเอาหนังตีนช้างมารองใต้รองเท้า อย่างนี้รอยตีนคนก็ไม่มีให้เห็น มีแต่รอยตีนช้าง”

สมพงษ์เล่าให้ลูกน้องฟัง

“ที่โน่นเขาใช้วิธีตัดนอแรด ไม่ก็งาช้างออก คนล่ามันจะได้ไม่ฆ่าแรด ฆ่าช้าง เรียกว่ายังไงก็รักษาชีวิตสัตว์ไว้ก่อน อยู่เป็นแรดนอด้วน ดีกว่าตายขึ้นอืด”

“ในป่าแถวนี้เมื่อก่อนเขาว่ามีแรดนะครับ” สมพงษ์หันมาพูดกับผม ถึงสัตว์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

“รุ่นพ่อก็ยังไม่ทัน ต้องรุ่นปู่โน่น เคยยิงได้”

แรดที่สมพงษ์พูดถึง คือแรดพันธุ์ชวา อันเป็นหนึ่งในห้าชนิดของแรดที่มีอยู่ในโลก

แรดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ตัวโตเต็มวัยสูงราวหกฟุต แรดชวาตัวผู้มีนอเหนือจมูก ยาวราวสิบนิ้ว และมีนอเดียว ส่วนตัวเมียนอจะเห็นเพียงเนื้อนูนๆ ขึ้นมาเท่านั้น

แรดกินใบไม้ รากไม้ อยู่ตามที่รกๆ ได้เพราะหนังหนา ชอบนอนแช่ปลักโคลน มีลูกยาก 4-5 ปีจะมีลูกสักตัว ตั้งท้องราว 8 เดือน ลูกอ่อนอยู่กับแม่ 2 ปี ถึงจะพึ่งพาตัวเองได้

ว่ากันว่า แรดอายุยืนถึง 50 ปี

นอแรด ได้ชื่อว่าเป็นของพิเศษ นำมาเข้าเครื่องยารักษาโรคสารพัด

นี่จึงเป็นสาเหตุให้พวกมันโดนไล่ล่าจนหมดสิ้น

แรดในป่าเมืองไทย ที่คาดว่าเคยมีอยู่ คือแถบป่าทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งป่าห้วยขาแข้ง

“กระซู่ล่ะครับ ต่างกับแรดไหม” แป๊ะ ชายหนุ่มที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียง 2 เดือน ถาม

“ดูเผินๆ ก็เหมือนแรดนั่นแหละ” ผมตอบ

“กระซู่มีสองนอ แต่นอเป็นคล้ายๆ เนื้อนูนขึ้นมาเท่านั้น ไม่เป็นแท่งสูงแบบแรด ตัวเล็กกว่า หนังเรียบๆ ไม่เป็นปุ่มปม ป่าที่กระซู่อยู่มักจะรกทึบ และอยู่ในระดับความสูงมากกว่าแรด”

ท่ามกลางสายฝนในป่าทึบ เราคุยกันถึงชีวิตที่ “เคยมี” ในที่ที่เรากำลังอยู่

“ในป่าทางใต้ เขตชานแดนติดต่อกับมาเลย์ มีนักวิจัยเขาตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ได้รูปกระซู่เป็นหลักฐานยืนยันการยังมีอยู่ของกระซู่แล้ว” ผมเล่าให้พวกเขาฟัง

นั่นเป็นช่วงแรกๆ ที่ผมพยายามไล่ตามหาสิ่งที่เคยมี

ก่อนจะเริ่มเข้าใจว่า นั่นไม่ต่างกับการวิ่งไล่ตามเงาของตัวเอง

ซึ่งไม่มีวันทัน

สายฝนไม่เบาบาง เราเริ่มออกเดิน

พวกเขาเอาเศษผ้ายางอุดปลายกระบอกปืน ถุงยาเส้นใส่ถุงพลาสติก

ด่านมุ่งไปทางทิศตะวันตก การเดินตอนนั้นใช้ความชำนาญในการจดจำทิศทาง ไม่ได้ใช้เครื่องมืออย่างจีพีเอสเหมือนทุกวันนี้

ด่านห่างลำห้วยไปเรื่อยๆ บนพื้นมีรอยวัวแดงโทนเดินย่ำทับรอยคุ้ยดินจนร่วนซุยของหมูป่าฝูงใหญ่

เดินไปได้ราวๆ หนึ่งชั่วโมง สมพงษ์หยุดพัก

แป๊ะกับยงค์ช่วยกันขึงผ้ายางกันฝน สมพรหยิบถุงยาเส้นขึ้นมามองหน้าลูกพี่เป็นเชิงขออนุญาต สมพงษ์พยักหน้า

บนพื้นเป็นใบไม้หนานุ่ม ผมนั่งขัดสมาธิใต้ผ้ายาง ไหล่ด้านหนึ่งเบียดแป๊ะ อีกด้านเบียดสมพงษ์

ฝนช่วยให้ริ้น และคุ่น จางลง แต่ยุงดูจะเพิ่มมากขึ้น

ยุงรุมตอม กัดเจ็บ ควันยาเส้นป้องกันได้บ้าง ทากคืบคลานเข้ามาไต่ขึ้นขา ผมจับมาใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้หมุนๆ ทากเป็นก้อนกลมและดีดไปห่างๆ

“อะไรๆ ก็สู้นะครับ แต่ทากนี่ยอม” แป๊ะสาละวนอยู่กับการดีดทากไปห่างๆ พลางทำหน้าเบ้

“อย่างนี้ไปเดินป่าทางใต้คงวิ่งป่าแตก” ผมแกล้งชวน

“ไปด้วยกันไหม ตามกระซู่กัน”

“เชิญพี่ตามสบายครับ” เขาตอบเสียงเข้ม

การพบกระซู่และร่องรอยของมันในผืนป่าชายแดนคือเรื่องน่ายินดี

“เราเอาปืนยิงยาสลบยิงและชิงตัดนอมาก่อนที่มันจะถูกฆ่าดีไหม?”

แป๊ะพูดราวกับว่ากระซู่หาพบเจอได้ง่ายๆ

“ไม่ดีว่ะ” สมพงษ์พูดโดยเร็ว

“เป็นกระซู่ แต่ไม่มีนอ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” เขาพูดอย่างที่รู้สึก

การรักษาชีวิตแรด ด้วยวิธีตัดนอ ดูคล้ายจะเป็นวิธีที่คนจะได้ชีวิตแรดไว้

แต่สำหรับแรด หรือกระซู่

การอยู่โดยไร้นอที่เคยมี ชีวิตอาจไม่มีความหมายแต่อย่างใด

อีกนั่นแหละ สำหรับบางคน เรื่องเช่นนี้อาจไม่มีความหมาย