ล้านนาคำเมือง “ผีบ้าต๋าวอด”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผีบ้าต๋าวอด”

บางท้องถิ่นเรียกว่า ผีต๋าวอด ทั้งสองคำนี้อาจตีความได้สองความหมาย

ประการแรก ตีความตามความเชื่อเดิม ผีตาวอดไม่ใช่คนธรรมดา หากเป็นคนครึ่งผี หรืออมนุษย์จำพวกยักษ์ ตาของมันที่ดูเหมือนว่าจะบอด ไม่มีแววตา แต่ในความเป็นจริงสามารถมองเห็นได้ดี ผีตาวอดมักจะสะพายย่ามขนาดใหญ่ หรือมีถุงแบกไปไหนมาไหนด้วยเสมอ

ประการที่สอง คำว่า “ผีบ้าตาวอด” แบ่งได้เป็นสองคำ คือ “ผีบ้า” แปลว่าคนบ้า คนเสียสติ ส่วนคำว่า “ตาวอด” แปลว่าตาบอด

คนล้านนาใช้คำว่า “ไฟตา” แสดงถึงคุณภาพของการมองเห็น และเรียกคนสายตาเสื่อม มองเห็นไม่ถนัด ว่า “คนเสียไฟตา” เมื่อตาเสื่อมจนถึงขั้นบอด จึงเรียกว่า “ตาวอด” แปลว่าตาดับ มองไม่เห็นแล้ว

ดังนั้น คำว่า “ผีบ้าตาวอด” จึงได้แก่คนตาบอด ที่มีอาการงุ่มง่ามเหมือนคนบ้า มีบุคลิกน่าสังเวชแก่ผู้พบเห็น และน่าสะพรึงกลัวสำหรับเด็ก

 

เด็กๆ ล้านนาในสมัยก่อน มักจะได้ยินเรื่องเล่าทำนอง “ผีตาวอด” จะมาลักตัวเด็กที่ชอบเล่นอยู่ตามลำพัง ผู้ใหญ่มักจะขู่ว่า หากต้นทองกวาว หรือต้นงิ้วหลวงชายทุ่ง ออกดอกสีสด และมีดอกร่วงใต้ต้นเมื่อถึงฤดูแล้ง เมื่อนั้นผีตาวอดจะออกอาละวาด เด็กคนไหนออกไปเก็บดอกไม้เล่นตามลำพังจะถูกผีตาวอดจับตัวไป เอาปูนขาวยัดปากเพื่อไม่ให้เด็กร้องขอความช่วยเหลือ แล้วจะเอายัดใส่ถุงแบกขึ้นบ่าไป

เด็กที่ถูกจับไปจะกลายเป็นเครื่องเซ่นสังเวย จะถูกโกนหัว โกนคิ้ว จากนั้นผีตาวอดจะขัดสีฉวีวรรณร่างกายของเด็กด้วยใยบวบจนผิวถลอก แล้วทาขมิ้นให้เหลืองอร่ามทั่วตัว เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารจนอิ่มหนำ จากนั้นจะถูกลอบฆ่า แล้วผลักตกลงไปในหลุมบูชายัญ ที่เรียกว่า “ขุมเงิน ขุมคำ”

นิยายปรัมปราเช่นนี้ มักจะถูกใช้ในการปรามเด็กไม่ให้เล่นซน ไม่ให้หนีออกไปเล่นไกลหูไกลตา หรือไม่เช่นนั้นก็จะใช้ขู่เด็กดื้อ

โดยเนื้อหาแล้ว เรื่องราวของ “ผีบ้าตาวอด” เป็นการสอนเด็กให้ระมัดระวัง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะนั่นอาจจะเป็นผีบ้าตาวอดที่จะมาลักพาตัวเด็กไป และจะไม่มีโอกาสกลับมาอีก

ปัจจุบันเรื่องราวของผีบ้าตาวอดที่เด็กในสมัยก่อนหวาดกลัว อาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

แต่ข่าวคราวการลักพาตัวเด็กกลับมีให้ได้ยินเป็นประจำ สังคมสมัยใหม่คงต้องหาวิธีอื่นมาสอน หรือเตือนเด็กๆ ให้รู้จักระวังตัวเอง แทนการใช้เรื่อง “ผีบ้าตาวอด” แบบคนล้านนาโบราณ