หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘คำตอบ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - กวางตัวผู้โตเต็มวัย คือเหยื่อของเสือโคร่ง แต่พวกมันก็โดนล่าโดยคน เพื่อเอาเขาบ้าง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘คำตอบ’

 

มีเรื่องจริงที่ผมบอกคนอื่นๆ เสมออย่างหนึ่งว่า อยู่ในป่า คนที่ทำงาน “ง่าย” ที่สุด คือผม เหตุผลคือ ผมทำหน้าที่แค่กดชัตเตอร์

ความหมายคือ ภาพสัตว์ป่าที่ผมบันทึกได้นั้น มีกลุ่มคนซึ่งทำงานยากอย่างยิ่ง ทำงานอย่างหนักมาเนิ่นนาน เพื่อปกป้องรักษาชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงแหล่งอาศัยของพวกมัน หลายคนเอาชีวิตเข้าแลก หลายคนบาดเจ็บ พิการ  หลายครอบครัว เด็กๆ กำพร้าพ่อ

ผมจะไม่มีโอกาสพบเจอสัตว์ป่า หากไม่มีคนเหล่านี้

เราเรียกพวกเขาว่า “พิทักษ์ป่า”

“ภาพ” สัตว์ป่าที่ผมกดชัตเตอร์ คือผลงานของพวกเขา ผมทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดออกมา

ผมทำงานในป่ามาไม่น้อยหรอก นานพอสมควร แต่เมื่ออยู่ในป่าร่วมกับคนเหล่านี้ หลายๆ คนทำให้ผมรู้สึกถึงความอ่อนด้อยแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การใช้ชีวิตในป่า จะหยิบจับอะไรดูเงอะงะไปหมด หรือการรู้จักสัตว์ป่าอย่างที่พวกมันเป็น

อีกประการที่ผมจะบอกคนอื่นๆ เสมอคือ

คนเหล่านี้เท่ และความเท่นี้ไม่ใช่เพราะชุดเครื่องแบบที่สวมใส่ แต่เท่มาจากข้างใน…

 

…ถ้าให้ชายหนุ่มวัยเบญจเพสที่ชื่อว่า ศุภฤกษ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก แต่งตัวธรรมดามายืนอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าหรูในกรุงเทพมหานคร

คงไม่มีใครดูออกหรอกว่า นี่คือชายหนุ่มที่เกิดในหมู่บ้านจะแก หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ต่อให้มีคนไปพูดจาด้วยก็เถอะ เขาจะสนทนาด้วยภาษาไทยภาคกลางชัดเจน ไม่ติดสำเนียง “กะเหรี่ยง” อย่างที่พวกตลกชอบเอามาล้อเลียนแต่อย่างใด

นอกจากหน้าตาคมสัน รูปร่างล่ำสัน เขายังมีกิริยาเรียบร้อย มีความสามารถหลายอย่าง รวมทั้งเรียนหนังสือถึงระดับ ปวส.

ศุภฤกษ์ คือหนึ่งใน “คนรุ่นใหม่” ของหมู่บ้านจะแก ในป่าทุ่งใหญ่ มีคนแบบเดียวกับศุภฤกษ์ไม่น้อย

คนที่เลือกกลับมาอยู่ในป่า

ไม่ใช่อยู่ในป่าเพราะหมดสิ้นหนทางไป…

 

ช่วงหนึ่ง ศุภฤกษ์ประจำอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าลูกไม้แดง หรือที่เรียกกันตามความคุ้นชินว่า เซซาโว่

เขาทำหน้าที่พนักงานวิทยุสื่อสาร ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่าย ชื่อว่า สถานีเขาพระฤๅษี สัญญาณวิทยุจากสถานีนี้ครอบคลุมไปทั่วป่าด้านตะวันตก จึงต้องใช้พนักงานที่สื่อสารได้ชัดเจน คล่องแคล่ว มีไหวพริบและถ่ายทอดข้อความต่างๆ ได้อย่างแม่นยำถูกต้อง

ศุภฤกษ์มีคุณสมบัติเช่นนี้ครบ เขาทำหน้าที่สลับกับหัวหน้าหน่วยคือ ชัยพร

ทำหน้าที่นี้อยู่หนึ่งปี เขาขอลาไปสมัครเป็นทหาร อยู่ในกรมทหารปีครึ่ง ก็กลับมาทำงานใหม่

พ้นจากทหาร ศุภฤกษ์ดู “แมน” มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“ไม่ลำบากหรอกครับ สนุกดี” เขาเล่า

“ฝึกเสร็จแล้วผมถูกส่งไปอยู่แถวชายแดน จังหวัดประจวบฯ ครับ”

เขาพูดภาษากะเหรี่ยง และภาษาพม่าได้ จึงรับหน้าที่เป็นล่าม

แม้จะออกมาจากกรมแล้ว แต่ศุภฤกษ์ยังติดระเบียบเวลาพูดกับหัวหน้า หรือผู้อาวุโส เขายืนตรง มือแนบลำตัว ตอนเดินป่าก็แต่งตัวเต็มยศ อุปกรณ์ต่างๆ ครบ บางทีบนหมวกก็เอาใบไม้มาเสียบเพื่อพรางอีกด้วย

เขาเป็นที่รักของเพื่อนๆ เป้ถูกเพื่อนแอบเอาก้อนหินมาใส่ไว้บ่อยๆ…

 

สมัยอยู่ในกรม ศุภฤกษ์ได้รับสิทธิพิเศษกว่าเพื่อนๆ นิดหน่อย คือได้วันพักมากกว่า คนอื่นได้ 7 วัน เขาได้ 14 วัน

“นายเห็นว่าบ้านไกลครับ เดินทางกว่าจะถึงบ้านก็ 4 วันแล้ว ขากลับอีก 4 วัน เลยวันลา เขาเลยให้หยุดเพิ่ม” เขาบอกเหตุผล

หมู่บ้านจะแกของศุภฤกษ์นั้น ในช่วงฤดูฝน คล้ายถูกตัดออกจากโลกภายนอก รถไปไม่ถึง ต้องใช้วิธีเดินด้วยเท้าเท่านั้น

“มีครั้งหนึ่ง เดินตากฝน ลุยโคลน ใบลาเปียกยุ่ย เจอสารวัตรทหารที่ บ.ข.ส. เมืองกาญจน์ เขาขอตรวจใบลา เลยเจอข้อหาไม่รักษาของ โดนวิ่งรอบ บ.ข.ส. 20 รอบ อายสาวๆ มากเลยครับ” เขาเล่าขำๆ

ตอนฝึก เขาถูกทดสอบจิตใจหลายอย่าง

“ครูฝึกเรียกผมไอ้บ้านนอกตลอด วันหนึ่งผมชักโมโห บอกครูฝึกว่า ถึงบ้านนอก แต่ก็มีการศึกษานะครับ ก็โดนสิ วิดพื้นหลายยก” เขาเล่า

 

ศุภฤกษ์มีพี่น้อง 9 คน ซึ่งคือเรื่องปกติของคนในหมู่บ้าน แต่ละบ้านมีลูก 8-9 คน

เขามีพี่สาวสองคน เรียนจบปริญญาตรี

“คนหนึ่งเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนที่ไทรโยคครับ กำลังทำเรื่องขอย้ายมาอยู่โรงเรียนบ้านหินตั้ง ที่จะแก”

“พ่อหาเงินส่งลูกเหนื่อยแย่เลย” ผมพูด

“ไม่เหนื่อยหรอกครับ พวกผมเรียนโดยได้ทุนทุกคน”

ความสามารถอีกอย่างของศุภฤกษ์คือ นวดแผนไทย เพื่อนยกหน้าที่หมอนวดให้

“เคยไปอบรมที่นครสวรรค์ครับ” เขาบอก

เพื่อนๆ เรียกศุภฤกษ์ว่า มหา เพราะเคยบวชหลายพรรษา และ ชอบใช้เวลาสวดมนต์เสียงดังนานๆ…

 

ครั้งหนึ่ง ศุภฤกษ์ร่วมทางมากับผมและอดิเทพ เราอยู่ในป่าร่วมสองสัปดาห์

เขาทำให้วงสนทนาข้างกองไฟของเรามีเรื่องราวใหม่ๆ บ้าง

เมื่อเข้าเมือง เขามีโทรศัพท์รุ่นล่า และใช้เวลาอยู่กับ “โลกเสมือน”

แต่ขณะอยู่ในโลกจริงๆ ในป่า เขามีทักษะแบบเดิมๆ ในการดำรงชีวิต

 

ศุภฤกษ์ภูมิใจในความเป็นกะเหรี่ยง

ภูมิใจที่ได้ทำงานในป่า

มีคนถามเขาบ่อยๆ ว่า อย่างเขา ทำไมไม่เข้าไปหางานทำในเมือง ทำไมเลือกอยู่ในป่า ชีวิตน่าจะดีกว่า

ศุภฤกษ์ตอบเหมือนกับอีกหลายๆ คนตอบ เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้

“ที่นี่เป็นบ้านของผมครับ”

สำหรับผม นี่คือ เป็น “คำตอบ” ที่เท่

เพราะมันเป็นคำตอบที่เดินทางออกมาจากหัวใจ…