ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / DARK WATERS ‘ภัยมืด’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

DARK WATERS

‘ภัยมืด’

 

กำกับการแสดง Todd Haynes

นำแสดง Mark Ruffalo Anne Hathaway Tim Robbins Bill Camp Bill Pullman

 

หนังเริ่มเรื่องด้วยฉากหนุ่มๆ สาวๆ หลบลี้จากอารยธรรมเมืองไปเที่ยวป่าเขาลำเนาไพร และเมื่อเห็นท้องน้ำใสไหลเย็นทอดตัวอยู่เบื้องหน้า ก็อดไม่ได้ที่จะกระโจนลงเล่นสรงสนานสำราญกาย ดำผุดดำว่ายสำเริงสำราญ

ไม่ได้ตระหนักหรือสำเหนียกว่ามีภัยมืดแผ่ล้อมรอบกายแบบไม่มีทางหนีรอดไปไหนได้

สักประเดี๋ยวก็มีเรือแล่นมาห้ามปรามไม่ให้เล่นน้ำเหมือนจะเป็นเรื่องของการรุกล้ำที่ส่วนบุคคล

ทว่าพนักงานประจำเรือถือเครื่องมือบางอย่างฉีดพ่นลงบนพื้นน้ำที่เต็มไปด้วยหย่อมฝ้าฟ่องลอยฟ่องที่พื้นผิว

น่ากลัวจังค่ะ

 

นี่คือความหมายของชื่อเรื่องว่า Dark Waters หรือท้องน้ำดำมืด…ภัยมืดที่แฝงอยู่รอบตัวเราอย่างที่ไม่มีทางหลบหลีกพ้น

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีภัยอะไรบ้างที่แฝงเร้นอยู่ในสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศและน้ำที่เราดื่มและใช้ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์ทำให้แปดเปื้อนขนาดที่ธรรมชาติก็ปรับสมดุลคืนให้ไม่ทัน

เรื่องของเรื่องคือ โรเบิร์ต ไบลอตต์ (มาร์ก รัฟฟาโล) เป็นทนายความประจำสำนักทนายความในเมืองซินซินเนติ หนึ่งในลูกความสำคัญของสำนักทนายความคือบริษัทดูปอนต์ซึ่งผลิตสารเคมีสำคัญอุตสาหกรรมต่างๆ

อยู่มาวันหนึ่งก็มีชาวไร่ในเวสต์เวอร์จิเนีย ชื่อวิลเบอร์ เทนนันต์ (บิล แคมป์) มาหาเขาอย่างเต็มไปด้วยความโกรธแค้น พร้อมกับหอบกล่องใบโตบรรจุหลักฐานหลายหลากมากมายเป็นวิดีโอและเอกสาร

วิลเบอร์ต้องการให้เขาเป็นตัวแทนฟ้องร้องบริษัทดูปอนต์ที่เป็นต้นเหตุสร้างความเสียหายในระดับมหันตภัยแก่สภาพแวดล้อมและไร่ปศุสัตว์ของเขาโดยเฉพาะ

โรเบิร์ตเป็นทนายความเล็กๆ ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนของบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของสำนักงาน เขาแทบจะบอกปัดชาวไร่คนนั้นไปในทันที แต่เนื่องจากเป็นคนรู้จักของญาติผู้ใหญ่ของเขาเองที่แนะนำมาให้ โรเบิร์ตจึงรู้สึกสมควรต้องไปเยี่ยมเยียนด้วยตนเองสักหน่อย

สภาพในไร่ที่เขาเห็นด้วยตา เป็นประจักษ์พยานให้แก่ความเสียหายระดับมหากาฬที่เกิดแก่ไร่ปศุสัตว์ของวิลเบอร์

วัวจำนวนกว่าร้อยตัวล้มตายลงด้วยความตายที่น่าอเนจอนาถภายในช่วงเวลาไม่กี่วัน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าแหล่งน้ำที่วัวกินนั้นมีสารพิษปนเปื้อนขนาดฆ่าคนตายได้ ขนาดวัวที่มีน้ำหนักมากกว่ามนุษย์ไม่รู้กี่เท่ายังล้มตายได้ขนาดนั้น

และมูลดินจำนวนมากที่กองเป็นภูเขาเลากาบนที่ดินข้างเคียงซึ่งเพิ่งขายให้แก่บริษัทดูปอนต์ ก็เป็นหลักฐานชัดแจ้งอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

โรเบิร์ตจึงเริ่มทำการสืบสวนเข้าไปในกรณีนี้ และได้พบความจริงที่น่าอกสั่นขวัญหนีที่สุดที่ถูกปกปิดไว้โดยบริษัทเคมียักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ ดูปอนต์พัฒนาสารเคมีตัวหนึ่งขึ้นมา ชื่อ PFOA-C8 ซึ่งเป็นกรดชนิดหนึ่ง ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โดยหลักๆ ก็คือเป็นวัสดุที่ใช้เคลือบรถถังให้แข็งแกร่งและทนทานไม่เป็นสนิม

นอกจากนั้น กรดตัวนี้ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสำหรับครัวเรือน

ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นกระทะเทฟล่อน ซึ่งเป็นกระทะเคลือบวัสดุน็อนสติก ใช้ทอดใช้ผัดได้โดยอาหารไม่ติดกระทะ

และ PFOA-C8 ถูกเรียกขานกันด้วยคุณลักษณะที่มองได้ว่าเป็นการเชิญชวนให้ซื้อหามาใช้ คือ เป็นสารเคมีที่จะคงทนไปชั่วนิรันดร์กาล (forever chemical)

แต่เมื่อคิดในทางกลับกัน สารเคมีชั่วนิรันดร์นี้ก็ชวนสยดสยองอย่างยิ่ง หากมันเข้าไปอยู่ในระบบร่างกายของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าจะคงทนอยู่ตลอดไปและหากสะสมเป็นปริมาณมากก็ออกฤทธิ์เป็นอันตรายได้

นี่คือเนื้อหาอันน่ารบกวนใจเป็นอย่างยิ่งที่หนังกระตุ้นให้เกิดสำหรับตาสีตาสาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของภัยมืดโดยไม่รู้ตัว หรือไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยซ้ำ

ที่น่าแค้นเคืองไปยิ่งกว่านั้น คือมีหลักฐานว่าบริษัทดูปอนต์รู้มานานแล้วว่าสารนี้เป็นพิษและก่ออันตรายร้ายแรงแก่มนุษย์และสัตว์ ขนาดที่พนักงานบริษัทที่ตั้งท้องได้รับการย้ายไปทำงานแผนกอื่น เนื่องจากเกิดกรณีการแท้งลูกบ่อยครั้ง และลูกที่เกิดออกมาก็พิกลพิการ เป็นต้น

ยังไม่นับผลระยะกลางและระยะยาวคือมะเร็งชนิดต่างๆ

 

วิลเบอร์ เทนนันต์ ชาวไร่ปศุสัตว์ต้นเรื่อง และภรรยากำลังเป็นมะเร็งอยู่ด้วย เขาบอกว่าเขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายจากการฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เขาต้องการเปิดโปงให้สาธารณชนรู้และต้องการให้คนผิดถูกลงโทษอย่างสาสม

แต่ความสาสมของความผิดที่ระบบความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญอเมริกันจะให้ได้ มีแค่โทษฐาน “ความผิดในการปฏิบัติการ” (malfeasance) ไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาด “ฆาตกรรม” (homicide)

ถ้าดูจากการที่รู้ว่าผลิตผลของอุตสาหกรรมในบริษัทนั้นไม่ใช่เพียงแค่ไม่ปลอดภัย แต่ยังก่ออันตรายร้ายแรงถึงชีวิตแก่ผู้อื่นได้ ความผิดเพียงปฏิบัติการผิดพลาดนั้นยังนับว่าน้อยนิด เมื่อเทียบกับผลร้ายแรงที่ก่อแก่มวลมนุษย์ในระดับกว้าง

ซึ่งจะให้นึกไปว่าเป็นการสังหารหมู่แบบผ่อนส่งก็ไม่ผิดนัก

 

หนังเกี่ยวกับคดีความที่ฟ้องร้องต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมาก มีมามากมายหลายเรื่องแล้ว

ที่นึกออกก็มี Erin Brockovich (จูเลีย โรเบิร์ตส์, อัลเบิร์ต ฟินนีย์) The Insider (รัสเซล โครว์, อัล ปาชิโน) A Civil Action   (จอห์น ทราโวลตา, โรเบิร์ต ดูวัลล์)

หนังเหล่านี้ให้ความพอใจแก่คนดูทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อกรอย่างไม่ย่อท้อกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีบารมีและอำนาจเงินตราล้นเหลือ จึงเรียกขานกันว่าเป็นเรื่องของเดวิดกับโกไลแอธ

คดีความบางครั้งก็เอาชนะกันด้วยปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไป และบางครั้งก็เป็นเรื่องของการประนอมยอมความกัน ต่อรองโทษหนักเบา ค่าเสียหายมากน้อย ฯลฯ ที่ทำให้เห็นว่าสังคมที่เราอยู่นี้ไม่ได้ทรงความเที่ยงธรรมเที่ยงแท้หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมตามถ้อยกระทงความ

ความหนักแน่นของ Dark Waters นอกจากจะเป็นการต่อกรของคนตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าท้าทายยักษ์ใหญ่และระบบอันฟอนเฟะจนเอาชนะได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังอยู่ที่การได้ตระหนักในภัยร้ายแรงที่แทรกซึมอยู่ในโลกอันสวยงามของเรานี้อย่างที่เราแทบหมดหนทางต่อสู้ป้องกันตัวเอง

“สารเคมีนิรันดร์” นี้ใช่ว่าจะมีแต่บนอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว ซึ่งต่อให้เราไม่ได้ซื้อหามาใช้ในบ้าน แต่ก็จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่เรากินนอกบ้านจะไม่มีปนเปื้อน และจากไมโครพลาสติกที่ลงไปอยู่ในระบบร่างกายของเราไม่รู้ว่าเท่าไรต่อเท่าไร นี่ยังไม่พูดถึงท่อน้ำกินน้ำใช้ที่ต้องเคลือบวัสดุคงทนเพื่อให้ใช้งานได้นาน

สรุปว่าผู้บริโภคคือเหยื่อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เสียแหละมาก แต่ที่น่าตกใจก็คือ ผู้ผลิตพยายามปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ เพื่อผลกำไรมหาศาลของตนเพียงอย่างเดียว

ข้อความท้ายเรื่องบอกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของมนุษยชาติบนโลกนี้มีสารนี่ปนเปื้อนอยู่ในร่างกายและจะคงอยู่ตลอดไป

นี่เป็นหนังที่สมควรดูอย่างยิ่งค่ะ

…โรเบิร์ต ไบลอตต์ ทนายความที่ได้ชื่อว่าเป็นฝันร้ายของดูปอนต์…