ย้อนรอย วิวาทะ คึกฤทธิ์ กับ ท่านพุทธทาส ปมแห่ง “นิพพาน”

ความเห็น “แย้ง” ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ ถือได้ว่าเป็นความเห็น “แย้ง” อันมีลักษณะยุคสมัย

เพราะว่าต่างก็เป็นคนระดับ “หัวแถว”

ความรับรู้ทางด้านพระพุทธศาสนาก็มิได้อยู่ในลักษณะ “ธรรมดา” แม้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นฆราวาส แต่ก็เป็นฆราวาสที่มีความเข้าใจอย่างลุ่มลึกในเรื่องของพระพุทธศาสนา

สัมผัสได้จากงานเป็นเล่มในชื่อ “ห้วงมหรรณพ”

ใครที่ติดตามในเรื่องของ “จิตว่าง” ที่นำเสนอเป็นลำดับย่อมประจักษ์ในบทสรุปและมุมมองที่แตกต่างกัน ดำเนินไปในลักษณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทักท้วง รั้งดึง

เมื่อ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ประมวลเอาความเห็น “ต่าง” มาจัดเข้าเป็นระบบจาก “จิตว่าง” มาถึง “นิพพาน” ก็เป็นไปอย่างมีการจัดหมวดหมู่ มองเห็นเด่นชัดระหว่างทัศนะ “ดั้งเดิม” กับทัศนะ “ใหม่”

เด่นชัดยิ่งว่า ท่านพุทธทาสภิกขุ พยายามที่จะขยาย “พรมแดน” ความรับรู้ ความเข้าใจในเรื่องของ “นิพพาน” ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

ตรงนี้แหละที่กระทบเข้ากับแนวคิด “ดั้งเดิม”

จึงเกิดการเรียงแถวกันมาโต้แย้งอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ และยิ่งช่วยทำให้ความเข้าใจในเรื่อง “จิตว่าง” และ “นิพพาน” มากด้วยความมีชีวิตชีวา

จำเป็นต้องอ่าน

 

ทัศนะของท่านพุทธทาสที่ว่า “นิพพาน” ใช้ได้กับชีวิตคนเราทุกคนนั้นขัดกันอย่างชัดเจนกับทัศนะดั้งเดิมของชาวพุทธไทยที่เห็น ความพยายามเพื่อบรรลุความหลุดพ้นอันสูงสุดเป็นเรื่องของพระภิกษุที่ได้พัฒนาจิตอย่างล้ำลึกแล้วเท่านั้น

สเลเตอร์ ได้สรุปทัศนะดั้งเดิมที่ถือเอาโดยปริยายว่า ฆราวาสทั่วไปไม่สามารถบรรลุ “นิพพาน” ได้

โดยตั้งข้อสังเกตว่า

“พระอริยบุคคลเท่านั้นที่สามารถบรรลุ “นิพพาน” ได้ พระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะสามารถรู้เรื่อง “นิพพาน” ได้”

เจน บุนนาค เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้

โดยกล่าวว่า “ตามหลักคำสอนดั้งเดิมในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแล้ว พระภิกษุเท่านั้นสามารถหวังได้ว่าจะบรรลุ “นิพพาน” ได้ ส่วนฆราวาสหรือผู้ครองเรือนที่ยังคลุกคลีอยู่กับโลกแห่งวัตถุนั้นย่อมไม่อาจคิดหวังเรื่องนี้ได้”

ในบริบทของการติติงทัศนะท่านพุทธทาสที่เห็นว่าคนเราทุกคนอาจบรรลุ “นิพพาน” ได้นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สนับสนุนทัศนะดั้งเดิมของชาวพุทธไทยที่เห็นว่า ฆราวาสกับบรรพชิตมีบทบาทต่างกัน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

“พระพุทธศาสนามีธรรมะอยู่ 2 ระดับซึ่งก็ตั้งขึ้นโดยอิงสัจจะ 2 อย่างที่แตกต่างกันและมุ่งสู่เป้าหมายที่แตกต่างกัน ทั้ง 2 ฝ่ายไม่เหมือนกันเลย ธรรมะ 2 ระดับดังกล่าวนี้ก็คือ “โลกิยธรรม” (ธรรมที่ควรแก่โลก) กับ “โลกุตรธรรม” (ธรรมของผู้อยู่เหนือโลก) ซึ่งเป็นธรรมะที่ต่างกันจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมะคนละระดับหรือเป็นธรรมะคนละส่วนกัน

แต่ธรรมะทั้ง 2 นี้อยู่ในศาสนาเดียวกันและเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยกัน”

 

ท่านพุทธทาสไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่า คนเราต้องกลายเป็นพระอริยบุคคลหรือพระอรหันต์ก่อนที่จะบรรลุ “นิพพาน”

แต่ท่านปฏิเสธทัศนะที่ว่า คนเราจำเป็นต้องบวชเป็นพระภิกษุเสียก่อนจึงจะเป็นอริยบุคคลได้

ท่านเชื่อว่า ฆราวาสอาจบรรลุ “นิพพาน” ได้ยากกว่าพระภิกษุ แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังมุ่งที่จะล้มเลิกความแตกต่างระหว่างพระภิกษุกับฆราวาส เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสหรือความหวังที่จะเข้าถึงสิ่งสูงสุดในศาสนาได้อย่างเท่าเทียมกัน

ท่านกล่าวว่า “พระอรหันต์นั้นมีภาวะเลยพ้นความเป็นพระหรือฆราวาสไปแล้ว”

นั่นคือ ท่านปฏิเสธทัศนะที่ว่าผู้บรรลุนิพพานต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น โดยชี้ว่าความเป็นพระอรหันต์เป็นภาวะที่อยู่เหนือสถานภาพทางสังคมที่แยกกันเป็น 2 ระดับดังกล่าว ท่านพุทธทาสกล่าวว่า เนื่องจากชีวิตของฆราวาสมีปัญหามารบกวนมากกว่าชีวิตในอารามของภิกษุ

ดังนั้น ฆราวาสจึงต้องการ “นิพพาน” มาดับความทุกข์ร้อนมากกว่าบรรพชิต

เมื่อกล่าวถึงการเจริญสติอันเป็นฐานหลักของ “จิตว่าง” ซึ่งจำเป็นแก่การบรรลุ “นิพพาน” ท่านเห็นว่า “คนปฏิบัติธรรม” ไม่ได้หมายถึง

“คนที่ปฏิบัติธรรมอยู่คนเดียวในป่า คนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ทำกิจกรรม ทำงานตามหน้าที่หรือภาระรับผิดชอบอะไรก็ตาม ถือเป็น “คนปฏิบัติธรรม” ได้ เพราะพวกเขาก็ปฏิบัติธรรมหรือทำหน้าที่อยู่เช่นกัน”

 

คล้ายกับบทสรุปของท่านพุทธทาสภิกขุขาดความเคร่งครัด และไม่ยึดกุมหลักการพื้นฐานความเชื่อมั่นของฝ่ายเถรวาทอย่างมั่นแน่ว

นั่นก็คือ การเปิดพรมแดนในกรณี “คนปฏิบัติธรรม”

นั่นก็คือ การมองบทบาทของ “ฆราวาส” ที่เอาจริงเอาจังในระนาบใกล้เคียงกับบทบาทของ “พระภิกษุ”