มุกดา สุวรรณชาติ : อย่า! นำเข้า…ขยะ และโรคระบาด

มุกดา สุวรรณชาติ

ทำไมเราต้องกลัวโรคระบาด

ตั้งแต่ยุคโบราณมา สิ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ครั้งละมากๆ คือ โรคระบาด ไม่ใช่สงคราม เช่น ใน ค.ศ.1665 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอนเรียกว่า “The Great Plague of London” มีคนตายถึง 70% จากจำนวนประชากร 450,000 คน เหลือเพียง 60,000 คน หรือก่อนหน้านี้ในศตวรรษที่ 14 เรียกกันว่า “แบล็กเดธ” (Black Death) การระบาดของไข้กาฬโรคที่มีพาหะจากหมัดของหนูที่ซ่อนตัวอยู่ในเรือสินค้าที่แล่นจากทะเลดำมาระบาดในยุโรปจนมีประชากรตายประมาณ 25 ล้านคน

ปี 1918-1920 เกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งถือเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 50 ล้านคน

กาฬโรคในศตวรรษที่ 19-20 เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี ค.ศ.1855 มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกทวีปของโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค

จนใน ค.ศ.1894 Alexandre Emile Jean Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเชื้อก่อโรค คือ เชื้อแบคทีเรีย Baicllus pestis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด

มาตรการการป้องกันโรคระบาดมีมานานแล้ว

เรื่องมาตรการป้องกันโรคระบาดแบบนี้มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีกาฬโรคจากเมืองจีนได้มีการแพร่กระจายเข้ามาในไทย

ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ.116 เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2440 ว่า

“กาฬโรค (คือโรคห่า) ได้เกิดขึ้นที่เมืองซัวเถานั้น…กำปั่นลำหนึ่งลำใดออกจากเมืองซัวเถาและจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมอที่เกาะไผ่ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว และถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่ากาฬโรค…ไม่ได้มีและได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไปจนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้”

จะเห็นว่ามีมาตรการป้องกันและคัดกรองอย่างชาญฉลาด เนื่องจากการค้าทางเรือกำปั่น เป็นการค้าทางเดียวที่จะเป็นการนำเข้าและส่งออก ต้องค้าขายและป้องกันไปพร้อมกัน สมัยนั้นยายังไม่แพร่หลาย ถ้าเป็นโรคติดต่อ ชาวบ้านจะตายได้ง่ายๆ การใช้เกาะเป็นจุดคัดกรอง สามารถจำกัดพื้นที่ได้ถ้ามีการระบาด

ระยะหลังมานี้ประเทศเราได้พบปัญหาและมีประสบการณ์ในการป้องกันโรคระบาดหลายครั้งคือโรคซาร์สใน พ.ศ.2546 และโรคหวัดนก H5N1 ในปี 2547 โรคเมอร์ส 2555 เชื้ออีโบลาในปี 2557 ไวรัสซิก้าในปี 2559

ทำให้เรามีแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาปัญหาโรคระบาดในยุครัฐบาลทักษิณฉบับที่ 1 คือ

แผนยุทธศาสตร์แก้ไข ปัญหาโรคไข้หวัดนก และแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ พ.ศ.2548-2550 และตามมาด้วยฉบับที่ 2 พ.ศ.2551-2553

โลกมีผลการศึกษา 50 ปีที่ผ่านมาพอจะรู้แล้วว่าจะมีโรคระบาดใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ของเชื้อโรคระบาด หรือการทดลองของคนเกิดขึ้นใหม่ทุกปี และ 70% เป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงหลายด้าน การป้องกัน ควบคุมโรคยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น จึงมีการจัดทำแผนป้องกันโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือโรคเดิม จึงต้องมีแทบทุกประเทศ

เดือนสิงหาคม 2555 สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 และก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 ในชื่อเดียวกันแต่เตรียมไว้สำหรับปี พ.ศ.2560-2564

จะเห็นว่าโรคระบาดในยุคหลังไม่สามารถทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญไปมาก มีการพัฒนาตัวยาและวัคซีนที่จะแก้ปัญหาหรือป้องกันได้ทันท่วงที และต้องมีแผนป้องกันและการจำกัดขอบเขตของโรคระบาดเป็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้กระจายไปกว้างแล้วการตามไปควบคุมหรือแก้ไขเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก

 

โรคระบาดไวรัสโคโรนาจากจีนร้ายแรงแค่ไหน

เมื่อเทียบเคียงกับโรคซาร์ส และโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มาจากตระกูลเดียวกัน และมีต้นตอมาจากประเทศจีน

โรคซาร์สเกิดการระบาดครั้งแรกในมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน ประมาณปลายปี พ.ศ.2545 โดยพบเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome : SARS)

เดิมพบการติดเชื้อนี้ได้เฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ต่อมาพบการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอาการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น

ทั้งนี้ โรคซาร์สที่ระบาดในจีนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 349 ราย ขณะที่ทั่วโลกประมาณ 29 ประเทศพบผู้ป่วย 8,098 ราย เสียชีวิต 774 ราย

แต่สำหรับประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคซาร์สภายในประเทศ ยกเว้นเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกที่ป่วยด้วยโรคซาร์ส และเดินทางเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทย โดยไม่มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม

ประเทศไทยจึงไม่ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคซาร์ส

ตอนนี้ยังคาดว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อน่าจะน้อยกว่าโรคซาร์ส ที่มีถึง 10 เปอร์เซ็นต์จากตัวเลขปัจจุบัน คนติดเชื้อไวรัสโคโรนาเสียชีวิตน่าจะไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์

 

จีนตื่นตระหนกช้าไป…ไทยก็ช้าด้วย

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ

แต่มนุษย์มีบทเรียนในอดีตที่ไม่สามารถควบคุมโรคระบาดให้ได้ตั้งแต่ตอนต้น เมื่อขยายไปถึงจุดที่การแพร่เชื้อกินพื้นที่กว้างไปแล้วการควบคุมจะยากมาก

โดยเฉพาะถ้าการแพร่เชื้อผ่านคนกลาง การคมนาคมที่มีความรวดเร็วและอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น เครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง เข้าสู่ย่านอุตสาหกรรม ย่านการค้า

การตื่นตัวและตัดตอนตั้งแต่เริ่มต้นถึงเป็นเรื่องสำคัญ ครั้งนี้จีนอาจจะพลาดคือช้าไปประมาณ 10 วัน ทำให้คนกระจายออกจากเมืองอู่ฮั่น 5,000,000 คน ก่อนปิดเมือง และไปยังทุกมณฑลของจีน มีบางส่วนก็ออกไปต่างประเทศตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนพอดี

สำหรับประเทศไทย แม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะสำคัญ แต่มาตรการการป้องกันโรคระบาดจะมีผลต่อคนทั้งประเทศและทั้งโลกเป็นเรื่องสำคัญกว่า และไทยเปิดรับเต็มที่ ถึงตอนนี้มาตรการป้องกันก็ช้าไปแล้ว ต้องเตรียมแก้ไขเพราะผู้ที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น 26,000 กว่าคน กระจายไปทั่ว ตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ

คิดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวถึงมือคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อทัวร์จีนมาถึง รถที่ไปรับ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของ เขาเตรียมไว้หมดแล้ว แม้แต่พื้นที่ในวัดยังเซ้ง ไว้ทำธุรกิจ ขายวัตถุมงคล รัฐบาลก็อย่าไปฝันว่าจะได้ภาษี มีอะไรที่เขาออกใบเสร็จ แจ้งตัวเลขให้เก็บภาษีตรงๆ

 

จุดอ่อนในแผนป้องกันปรากฏที่ใด

ถ้าดูจากแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2556-2559 และแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 พ.ศ.2560-2564 พบว่า

ข้อดีของไทยคือ สามารถพัฒนาห้องแล็บวิจัยทดลองและการพัฒนาระบบการวินิจฉัย ดูแลรักษาพยาบาลและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ นี่เป็นจุดชี้ว่าเราก้าวหน้าไปพอสมควร ทำให้มีความสามารถวินิจฉัยเชื้อโรคต่างๆ ได้เองแล้ว ในกรณีที่ต้นตอการเกิดโรคมีขึ้นในประเทศจะสามารถรู้สาเหตุและป้องกันแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

แต่จุดอ่อนคือเรามัวแต่ไประวังป้องกันเน้นเรื่องสัตว์และสัตว์ป่า เราไม่เน้นเรื่องคนที่มาจากการท่องเที่ยวปีละหลายสิบล้านคน ถ้าศึกษาดูแผนยุทธศาสตร์ใน 2 ฉบับหลังก็จะมีแผนมากมาย แต่การเฝ้าระวังและการป้องกันจะสังเกตว่าเน้นไปที่การควบคุมสัตว์สัตว์ป่า ชิ้นส่วนและอวัยวะของสัตว์ป่าที่คาดว่าจะเป็นพาหะนำโรค สำหรับประเทศไทยถ้าโรคระบาดสามารถติดต่อจากคนสู่คน สิ่งที่ควรจะเน้นคือแผนงานที่จะปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวจำนวนหลายสิบล้านคนว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทำอย่างไร

จะเห็นว่ากรณีนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดของโรคไวรัสโคโรนาสามารถออกจากเมืองและเข้าสู่ประเทศไทยทางสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและภูเก็ตรวม 26,000 กว่าคน ตอนนี้ถึงต้องภาวนาว่าขอให้มีคนป่วยหรือติดโรคไวรัสโคโรนาให้น้อยที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวได้กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว ถ้ามีคนติดเชื้อเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงมีคน 26 คนที่อาจจะแพร่เชื้อได้

ตัวอย่างอีกเรื่อง คือการไม่ตรวจนักศึกษาไทยที่กลับจากจีน จนทางนักศึกษาต้องขอร้องไป ไม่ใช่ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ ว่ามาจากคนละเมืองกับอู่ฮั่น เพราะจีนได้ประกาศแล้วว่ามีโอกาสในการกระจายของโรคไปทุกเขตในจีน

ที่น่ากลัวในอนาคตก็คือ การก่อการร้ายทางชีวภาพ โดยเชื้อโรคระบาดชนิดติดต่อจากคนสู่คน ศูนย์กลางการคมนาคม เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ และแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก จะเป็นเป้าหมาย

 

ระวัง! การนำเข้าขยะ
คือการนำเข้าพิษและเชื้อโรคที่ไม่คุ้มค่า

จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีชีวิต แต่อาจเป็นพิษและมีเชื้อโรค เช่น การนำเข้าขยะ

การป้องกันที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไม่นำเข้าสิ่งของอันตราย เช่น ขยะพลาสติกหรือขยะพิษ ที่มีสารอันตราย ประเทศไทยมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 กำหนดให้โรงงานประเภท 101 (ปรับคุณภาพของเสียอันตราย), โรงงานประเภท 105 (คัดแยกกากของเสียอุตสาหกรรม) และโรงงานประเภท 106 (รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม) สามารถตั้งโรงงานได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องมีผังเมืองบังคับ

โดยเฉพาะโรงงานประเภท 105 และ 106 ไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ และเพียงนำแค่รายละเอียดโครงการไปปิดประกาศที่สถานที่ราชการ 3 แห่ง

หากประชาชนไม่คัดค้านในเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถออกใบอนุญาต หรือใบ รง.4 ได้เลย

ดังนั้น โรงงานประเภทดังกล่าวจึงตั้งได้ไม่ยากนัก เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งรัฐบาลหวังจะให้โรงงานดังกล่าวคัดแยกและรีไซเคิลขยะในประเทศให้มากที่สุด

แต่ข้อเท็จจริงกลายเป็นโรงงานของต่างชาติ ที่ซื้อขยะจากต่างประเทศมารีไซเคิล ประเทศไทยมีการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลเกี่ยวกับพลาสติกประมาณ 6,000 แห่ง ซึ่งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร มากที่สุดกว่า 1,000 แห่ง รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ กว่า 800 แห่ง

เนื่องจากภาษีนำเข้าขยะคือ 0% ดังนั้น บริษัทต่างชาติจึงนิยมมาขออนุญาตจัดการขยะโดยวิธีต่างๆ ในประเทศไทย

จากการนำเข้าในปี 2557 ประมาณ 70,000 กว่าตัน ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปีละ 3 แสนกว่าตัน ประเทศเราจะแทบไม่ได้อะไรเลย เจ้าของธุรกิจก็เป็นคนต่างชาติ ที่ตัวเลขการนำเข้าในระยะหลังสูงมากจนน่าตกใจ เพราะเราเสียค่าโง่ให้กับต่างชาติไปแล้ว กำไรพวกเขาเอากลับบ้าน ทิ้งพิษร้ายไว้

คนที่จะรับพิษโดยตรงคือลูกจ้าง และเราจะต้องเสียค่ารักษาอีกนาน เหมือนกับการให้สัมปทานขุดเหมืองแร่ ทำลายภูเขาป่าไม้ไปไม่รู้เท่าไหร่ได้แร่มานิดเดียว รัฐบาลเก็บภาษีได้ไม่กี่ตังค์

ตอนนี้หลายประเทศในโลกเห็นไทยเป็นถังขยะ 10 ประเทศ อุตสาหกรรมใหญ่ส่งขยะมาบ้านเรา ประเทศเราไม่ได้ยากจนข้นแค้น ไม่มีอะไรกินจนถึงขนาดต้องมาคุ้ยขยะหากิน ถ้าเรามีชื่อว่าเป็นแหล่งสะสมสารพิษ ไทยจะอ้างเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกได้อย่างไร…

รัฐบาลจะมีทิศทางการบริหารแบบนี้ไม่ได้