วิเคราะห์ | คดี “บิลลี่” พลิกอีกตลบ ดีเอสไอเปิดศึกอัยการ ปมไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์-พวก” ส่อรอด-ข้อหาร่วมฆ่า

คดี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี

ถึงจุดพลิกผัน เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกอีก 3 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่า ตามที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอสั่งฟ้อง 8 ข้อหา

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์และแถลงชี้แจง สรุปว่า

คณะทำงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานจากสำนวนสอบสวนของดีเอสไอ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายชัยวัฒน์กับพวกฆ่าบิลลี่ที่ไหน อย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ระหว่างอ้างว่าบิลลี่ถูกนายชัยวัฒน์ควบคุมตัวเรื่องน้ำผึ้งป่า ภรรยาบิลลี่ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ปล่อยตัวบิลลี่ โดยผลเป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกคำร้อง เนื่องจากมีพยานบุคคลเห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัวแล้ว

สำหรับพยานหลักฐานที่อ้างเป็นกระดูกบิลลี่ มีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมพิสูจน์บุคคลไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ แต่เมื่อในสำนวนไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วหรือไม่

จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่า โดยมีความเห็นสั่งฟ้องข้อหาเดียวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีจับกุมเรื่องเก็บน้ำผึ้งป่าแล้วไม่ดำเนินคดี

กล่าวโดยสรุป 4 ประเด็นหลัก ที่อัยการอ้างเป็นเหตุสั่งไม่ฟ้อง ประกอบด้วย

การไม่ปรากฏพยานหลักฐานการฆ่า การไม่ปรากฏหลักฐานการตาย การมีพยานบุคคลยืนยันบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจับกุมน้ำผึ้งป่า และการตรวจหาสารพันธุกรรมไมโตคอนเดรีย

ไม่สามารถยืนยันเป็นกระดูกบิลลี่

ทีมสอบสวนดีเอสไอ นำโดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และรองโฆษกดีเอสไอ เปิดแถลงโต้แย้งอัยการ

นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การตรวจสอบไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ ใช้พิสูจน์บุคคลสูญหายกรณีโครงกระดูกเสื่อมสภาพ ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ไมโตคอนเดรียเป็นการสืบสายพันธุ์จากแม่สู่ลูก ติดตามได้ 2 รุ่น เมื่อถึงรุ่นที่ 3 ไมโตคอนเดรียจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุกรรม

ชิ้นส่วนกระดูกที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับนางโพเราะจี มารดาบิลลี่ พบไมโตคอนเดรียตรงกันทุกประการ จึงตีกรอบว่ากระดูกนี้น่าจะสืบสายโลหิตในไมโตคอนเดรียเดียวกัน หรือการมีแม่คนเดียวกัน

หลายคดีที่โครงกระดูกเสื่อมสภาพ ไม่สามารถตรวจดีเอ็นเอปกติได้ จะใช้ไมโตคอนเดรียเชื่อมโยงและใช้การสืบสวนประกอบว่าใครบ้างอยู่ในสายโลหิตนี้แล้วหายตัวไป ในช่วงเวลาใด ทุกประเทศทั่วโลกใช้หลักฐานไมโตคอนเดรียยืนยันตัวบุคคล ร่วมกับหลักฐานอื่นประกอบให้ศาลรับฟัง

พ.ต.ท.เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กล่าวว่า ผู้สืบสายโลหิตฝ่ายแม่ของบิลลี่มีกี่คน ผู้ใดเสียชีวิตแล้ว ดีเอสไอสอบปากคำพยานไว้ละเอียด ยืนยันญาติพี่น้องร่วมมารดาของบิลลี่ ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ มีแค่บิลลี่หายไป

ส่วนญาติรุ่นยายหรือแม่ของแม่บิลลี่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ประกอบพิธีฝัง ภาพรวมการสืบสวนจึงบ่งชี้ว่าเป็นกระดูกบิลลี่ ในการทำสำนวนดีเอสไอดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรรวมถึงอัยการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ มาตรฐานไม่แตกต่างจากเอฟบีไอ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ชี้แจงว่า หนังสือคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการส่งมายังดีเอสไอแล้ว พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอส่งเรื่องไปยังกองบริหารคดีพิเศษตามขั้นตอน

เบื้องต้นให้ตรวจสอบข้อหาใดบ้างที่อัยการสั่งฟ้องและไม่ฟ้อง เหตุผลอะไร อย่างไร หากดีเอสไอเห็นด้วยกับเหตุผลสั่งไม่ฟ้อง ก็จะไม่มีความเห็นแย้ง คดีข้อหานั้นจะจบลง

หากกรณีไม่เห็นด้วย ดีเอสไอจะส่งความเห็นแย้งไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

ข่าวรายงานว่า ดีเอสไอได้ยกร่างความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง 6 ประเด็น

ประเด็นแรก ความเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไมโตคอนเดรีย ซึ่งดีเอสไอมองว่าอัยการรับฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน

ประเด็นที่ 2 ประเด็นพยานบุคคลทั้งสาม คือ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับอดีตนักศึกษาฝึกงาน 2 คนที่อัยการเห็นว่าให้การกลับไปมา ไม่น่าเชื่อถือ แต่กลับเลือกเชื่อในคำให้การเฉพาะส่วนที่ว่าเห็นผู้ต้องหาปล่อยตัวบิลลี่หลังจับกุม ซึ่งย้อนแย้งกันเอง เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน

ประเด็นที่ 3 มีพยานบุคคลยืนยันชัดเจน ผู้ต้องหาจับตัวบิลลี่ไปโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร่วมกันสร้างเรื่องปล่อยตัวเป็นเท็จ ทำให้เห็นว่ามีเจตนาจับตัวไปเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย และเบียดบังเอาทรัพย์สินไป การมีจำนวนคนมากกว่า มีอาวุธปืนขณะจับกุม ย่อมถือเป็นการข่มขืนใจ เข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ประเด็นที่ 4 การกล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคนละประเด็นกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และคดีฆาตกรรม ช่วงเวลาดังกล่าวญาติของบิลลี่ไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าบิลลี่อยู่ในความควบคุมของผู้ต้องหา ศาลจึงสั่งยกคำร้อง ไม่ใช่คำสั่งว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดอาญา การอ้างคำสั่งศาลโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงจากการสอบสวนในภายหลัง จึงไม่ถูกต้อง

ประเด็นที่ 5 อัยการอ้างว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่าและไม่อาจนำคดีฆ่า พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ มาเทียบเคียงเนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ตรงกันนั้น คดีนี้มีหลักพิสูจน์ความผิดผู้ต้องหาทำนองเดียวกัน คือ

ไม่มีประจักษ์พยานและไม่พบศพ พิสูจน์การตายด้วยชิ้นเนื้ออวัยวะสำคัญ มีแพทย์ยืนยันการเสียชีวิต เช่นเดียวกับคดีบิลลี่ที่พิสูจน์การตายโดยชิ้นส่วนกระดูกอันสำคัญ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันประกอบคำให้การพยานเครือญาติ

ประเด็นสุดท้าย คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมให้การโต้แย้งหรือกล่าวอ้างพยานหลักฐานใดในชั้นสอบสวน

สำนวนคดีมีแต่ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามพยานหลักฐานทางการสอบสวน ประกอบด้วย พยานทางวิทยาศาสตร์ พยานบุคคล พยานวัตถุและพยานเอกสาร ซึ่งส่วนหนึ่งผ่านการพิจารณาของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ จนอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดทุกข้อกล่าวหา

คดีจึงสมควรได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาล

จากนี้ต้องรอดู เมื่อดีเอสไอทำความเห็นแย้งไป อัยการสูงสุดจะมีความเห็นชี้ขาดอย่างไร

คดี “บิลลี่ พอละจี” ไม่เพียงสะท้อนกระบวนการยุติธรรมของไทย

ยังเป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลระดับโลกอีกด้วย