เยอรมนี ‘สอดแนม’ นักข่าวต่างชาติ คุกคามเสรีภาพสื่อขั้นรุนแรง

ภาพจากแดร์ สปีเกล

เป็นข่าวครึกโครมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ‘บีเอ็นดี’ หน่วยงานด้านข่าวกรองของเยอรมนี สอดแนมผู้สื่อข่าวต่างชาตินอกประเทศมาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี

ในจำนวนนี้รวมถึงนักข่าวของบีบีซี รอยเตอร์ และนิวยอร์กไทม์ส ที่ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง

อาร์โนด์ ซายต์มัน วัย 44 ปี เป็นคนประเภทที่ไม่ควรถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย นักค้าอาวุธหรือพ่อค้ายาเสพติด แต่นักข่าวชาวเบลเยียมคนนี้รายงานข่าวจากแอฟริกามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีโดยมีความสนใจในประเทศคองโกเป็นพิเศษ

เขาประจำอยู่ที่กรุงกินชาซามาเป็นเวลา 10 ปีในฐานะผู้สื่อข่าว ในตอนแรกสังกัดบีบีซีก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับสถานีโทรทัศน์ฟรองซ์ 24 ของฝรั่งเศส

เรื่องราวของเขาเน้นไปยังเด็กที่ถูกลืมในคองโก การทำสงครามของฝ่ายกบฏ และการเลือกตั้งอย่างเสรีครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 1965

ในการเลือกตั้งครั้งนั้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2006 บีเอ็นดี หน่วยข่าวกรองต่างชาติของเยอรมนีมีความสนใจในงานของผู้สื่อข่าวรายนี้ และได้รวมหมายเลขโทรศัพท์ของซายต์มันในคองโก 2 เบอร์เข้าไว้ในบัญชีการสอดแนมของหน่วยที่เรียกว่า “ตัวเลือก” เอาไว้ด้วย

แน่นอนว่าซายต์มันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เจ้าหน้าที่ทางการเยอรมันไม่เคยแจ้งว่าโทรศัพท์ของเขาถูกดักฟัง

เขารู้สึกตกใจมากเมื่อได้รับการติดต่อจากนักข่าวของ แดร์ สปีเกล เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการสอดแนมดังกล่าวนี้

“ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีนักที่ได้รู้ว่ามีใครบางคนแอบฟังอยู่ในตอนที่คุณคุยกับแหล่งข่าวที่มีความละเอียดอ่อนสูงมาก” ซายต์มันบอก

นักข่าวชาวเบลเยียมผู้นี้ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ถูกสอดแนม อ้างอิงจากเอกสารที่ แดร์ สปีเกล ได้เห็นนั้น บีเอ็นดีสอดแนมหมายเลขโทรศัพท์ เบอร์แฟกซ์ และที่อยู่อี-เมลอีกอย่างน้อย 50 กว่าหมายเลขที่เป็นของนักข่าวหรือสำนักข่าวทั่วโลกในช่วงหลังจากปี 1999 ในจำนวนนี้ มากกว่า 10 หมายเลขเป็นของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส

เอกสารดังกล่าวระบุว่า หน่วยข่าวกรองเยอรมนีดักฟังโทรศัพท์ของผู้สื่อข่าวบีบีซีในอัฟกานิสถาน และยังพุ่งเป้าไปยังเบอร์โทรศัพท์และเบอร์แฟกซ์ของบีบีซีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอีกด้วย

เบอร์โทรศัพท์ของผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทม์สในอัฟกานิสถานอยู่ในลิสต์ของบีเอ็นดีเช่นกัน เช่นเดียวกับเบอร์โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ดาวเทียมของสำนักข่าวรอยเตอร์ในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และไนจีเรีย

สายลับเยอรมันยังสอดแนมหนังสือพิมพ์อิสระเดลีนิวส์ของซิมบับเวก่อนหน้าที่ โรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำเผด็จการจะสั่งแบนสื่อสิ่งพิมพ์แห่งนี้เป็นเวลา 7 ปี เมื่อปี 2003 ด้วย

ขณะที่เบอร์โทรศัพท์อื่นๆ ที่พบในลิสต์ยังมีของสำนักข่าวในอินเดีย คูเวต เลบานอน และสมาคมผู้สื่อข่าวของเนปาลและอินโดนีเซียด้วย

 

ผู้สื่อข่าวในเยอรมนีนั้นได้รับการปกป้องจากการก้าวก่ายของรัฐ พวกเขาได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในระดับเดียวกับทนายความ แพทย์และนักบวช ซึ่งเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องมีการปกปิดความลับ โดยผู้สื่อข่าวมีสิทธิที่จะปฏิเสธการให้การต่อศาลเพื่อปกป้องแหล่งข่าว

โดยกฎหมายเยอรมันห้ามหน่วยข่าวกรองภายในประเทศสอดแนมผู้ที่ได้รับสิทธิปกป้องคุ้มครองดังกล่าว

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) สาขาเยอรมนีระบุว่า การสอดแนมผู้สื่อข่าวอย่างเป็นระบบของบีเอ็นดีถือเป็นการ “โจมตีเสรีภาพสื่ออย่างชั่วร้าย เลวทราม” และเป็น “มิติใหม่ของการละเมิดรัฐธรรมนูญ”

คริสเตียน มีห์ร ผู้อำนวยการอาร์เอสเอฟเยอรมันระบุว่า “เสรีภาพสื่อไม่ใช่สิ่งที่ได้รับมาจากรัฐบาลเยอรมนี แต่ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดไม่ได้ซึ่งครอบคลุมไปยังผู้สื่อข่าวต่างชาติด้วย”
ข้อกล่าวหานี้ได้รับการเปิดเผยในช่วงที่กรรมาธิการด้านการสอบสวนของรัฐสภาเยอรมนีไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องที่หน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) สอดแนมเยอรมนีที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป และแม้แต่คณะกรรมการชุดนี้ยังได้แสดงความกังวลออกมาในเรื่องการสอดแนมผู้สื่อข่าวต่างชาติอย่างเข้มข้นของบีเอ็นดี

ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกของคณะกรรมการจำนวนหนึ่งมีการระบุถึงกรณีอื้อฉาวที่ ซูซาน เคิลเบิล นักข่าวของ แดร์ สปีเกล ถูกบีเอ็นดีอ่านอี-เมลของเธอเป็นช่วงระยะเวลาหลายเดือนเมื่อปี 2006 โดยสมาชิกบีเอ็นดีในเวลานั้นระบุว่า เป้าหมายของการสอดแนมคือรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าของอัฟกานิสถานที่ติดต่ออยู่กับเคิลเบิล ซึ่งทางบีเอ็นดียืนยันว่า ได้รับดักจับข้อมูลอี-เมลของเธออย่างไม่ตั้งใจและได้ขอโทษต่อเคิลเบิลไปแล้ว

แต่ในเอกสารการสอดแนมผู้สื่อข่าวที่แดร์สปีเกลได้เห็นนั้น แน่นอนว่าดูเหมือนจะไม่ใช่การสอดแนมอย่างไม่ตั้งใจ หากดูจากคำค้นซึ่งพุ่งเป้าไปยังนักข่าวหรือสำนักข่าวที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีของบีเอ็นดี ซึ่งบีเอ็นดีปฏิเสธข้อกล่าวหาในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่ที่ใช้กำกับดูแลบีเอ็นดีเพิ่งจะออกมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในบทบัญญัติเรื่องการสอดแนม

ทำให้มีความพยายามจากสมาคมสิทธิพลเมือง และอาร์เอสเอฟในการเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์เรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมายในเรื่องนี้แล้ว