ประชาชนหวังพึ่งไม่ได้ แถมไม่มีใครจะมาช่วงชิงอำนาจไปได้

ความหวังที่เป็น “ของตาย”

ความกังวลจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในช่วงนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง ภัยแล้ง ฝุ่นพิษ

และทุกความวิตกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีล้วนได้รับรู้

การแสดงออกว่ารู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ผู้นำประเทศแสดงผ่านคำพูด บางเรื่องพูดมาเองจากเวทีที่มีโอกาสได้พูด บางเรื่องผู้สื่อข่าวถามให้ตอบ

ประชาชนต่างเงี่ยหูฟังว่าในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศ นำปัญหาความเดือดร้อนมาคิด และบอกให้ประชาชนรับรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร

กลับปรากฏว่า ทุกคำพูด ทุกคำตอบ แม้จะแสดงออกด้วยอาการรู้ดีไปทุกเรื่อง พูดได้น้ำไหลไฟดับ หาเหตุผลมาได้มากกว่าแม่น้ำทั้ง 5 แต่ไม่ว่าจะเงี่ยหูพยายามจับประเด็นคำพูดแค่ไหนยังไม่เคยมีใครได้ยินว่ามีความคิดในวิธีที่จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

ทุกเรื่องฟังแล้วคล้ายกับโยนไปให้ประชาชนแต่ละคนรับผิดชอบตัวเอง

บางเรื่องแม้จะให้ข้อเสนอบ้างก็ฟังแล้วเป็นวิธีที่พิลึกกึกกือ

เช่น ชาวบ้านแก้ภัยแล้งด้วยการ “ขุดดินขาย” บรรเทาความเดือดร้อนไปก่อน, น้ำประปาเค็ม ก็ให้เอามา “ต้มก่อนดื่ม” โดยมิเฉลียวว่า “ยิ่งต้มยิ่งเค็ม”

เรื่อง “ฝุ่น PM 2.5” ที่ทำให้ชาวเมืองทั้งหลายวิตกจริตกันทั่วหน้า เพราะตื่นขึ้นมาพบ “เมืองในฝุ่น” ต่อเนื่องหลายวัน ผู้คนพากันถ่ายภาพส่งข่าวถึงกันใน “สื่อสังคมออนไลน์” เป็น “มองในมุม” ย่านต่างๆ คลุ้งไปด้วยฝุ่นเพียงใด

แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ต้องหาทางเยียวยาความทุกข์ของประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์กลับพูดให้เห็น “มองในมุมหัวใจนายกรัฐมนตรี” ว่า “ฝุ่น PM 2.5 ขนาดเล็ก มันมีผลต่อผู้มีอายุน้อยๆ เด็ก ทารก คนมีครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัว นอกนั้นแข็งแรง พอสู้ไหว อย่างผมนี่พอไหว ถ้าใครรู้ว่าเสี่ยงก็ปิดจมูก ใส่หน้ากากไป ถ้าคิดว่าตัวเองไม่ปลอดภัย”

เป็นคำพูดก่อคำถามมากมาย ทำนองว่า “นอกจากเห็นว่าตัวเองรอดแล้ว” มีความคิดในเชิงเป็นห่วงเป็นใยประชาชนสมกับที่เป็นผู้นำประเทศหรือไม่

ประเทศดำเนินไปด้วยผู้นำที่มากมายด้วยคำพูด แต่ไม่มีวิธีแก้ปัญหาให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ในภาพรวมจะเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อดูจากผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ เรื่อง “ประชาชนกับวิกฤตภัยแล้ง 2020” แล้ว ถึงอย่างไรความหวังของประชาชนก็ยังอยู่กับรัฐบาล

ทั้งที่ในคำถามว่า “วิตกกังวลมากแค่ไหนกับภัยแล้งปีนี้” ที่ตอบว่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุดมีมากถึงร้อยละ 72.5 ที่ตอบว่าน้อยหรือค่อนข้างน้อยมีแค่ร้อยละ 27.5

แต่เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติของหน่วยงานรัฐ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ร้อยละ 57.0 ตอบว่าเชื่อมั่นน้อยหรือค่อนข้างน้อย แต่ยังมีถึงร้อยละ 43.0 ตอบว่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

นั่นหมายความว่า ส่วนใหญ่จะหายใจไม่ทั่วท้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความหวังยังฝากไว้ที่รัฐบาลจะช่วยเยียวยาให้ได้

และอาจจะเป็นเพราะรับรู้ว่าประชาชนไม่มีความหวังอื่น นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐบาล

เมื่อมั่นใจว่าโดยกลไกและกติกาที่ดีไซน์ไว้ให้อยู่ในอำนาจได้อย่าง “มั่นคง” และ “ยั่งยืน”

จึงบริหารประเทศโดยไม่จำเป็นต้องมีความคิดอะไร เพราะอย่างไรเสียประชาชนหวังจากคนอื่นไม่ได้ และไม่มีใครจะมาช่วงชิงอำนาจไปได้